หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ละครตลกร้ายเรื่องการนำอาชญากรรัฐมาขึ้นศาล

ละครตลกร้ายเรื่องการนำอาชญากรรัฐมาขึ้นศาล 

 


โดยใจ อึ๊งภากรณ์



ในเมื่อชนชั้นปกครองไทย ไม่ว่าจะเป็นซีกทหาร ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย หรือทักษิณ จงใจไม่กำจัดผลพวงของรัฐประหาร และจงใจให้คนที่ฆ่าประชาชนลอยนวลอีกครั้ง เป็นครั้งที่สี่ ความหวังอยู่ที่กระแสของคณะนิติราษฎร์ แต่เขาทำเองสองสามคนไม่ได้ มวลชนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมต้องเคลื่อนไหวร่วมกับเขา

แนวทางของทักษิณและเพื่อไทยในการปรองดอง จริงๆ แล้วเป็นการยอมจำนนบนซากศพวีรชน และสังเวยนักโทษการเมือง เพื่อให้ทักษิณกลับมาและเพื่อให้นักการเมืองพรรคเพื่อไทยดำรงตำแหน่งและกอบ โกยผลประโยชน์ต่อไป และที่ชัดเจนคือฆาตกรสี่คนที่มือเปื้อนเลือดเสื้อแดง คือประยุทธ์ อนุพงษ์ อภิสิทธิ์ กับ สุเทพ จะไม่ถูกนำมาขึ้นศาลแต่อย่างใด ตรงนี้เราดูได้จากคำพูดของทักษิณในบทสัมภาษณ์กับ จอม เพชรประดับ ในวันที่ 17 เมษายนปีนี้ที่เขมร ดูได้จากทักษิณโฟนอินในวันที่ 19 พฤษภาคม และดูได้จากร่าง พรบ.ปรองดอง

แต่ละครตลกร้ายที่กำลังเล่นคู่ขนานกันกับการยอมจำนนนี้ คือการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของวิกฤตหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา คือมีการ “เอดิด” ตัดลบบทบาทชั่วร้ายของทหารออกไป ไม่พูดถึงอาชญากรรมการก่อรัฐประหาร และไม่พูดถึงบทบาทประยุทธ์กับอนุพงษ์ในการเข่นฆ่าเสื้อแดง นิยายใหม่ที่เข้ามาแทนที่ประวัติศาสตร์จริง คือการเสนอว่าศัตรูหลักของเพื่อไทย เสื้อแดง หรือทักษิณ คือแค่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น โดยเฉพาะอภิสิทธิ์กับสุเทพ อันนี้เราก็เห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของทักษิณอีก และการที่เพื่อไทย และ นปช. เลิกวิจารณ์ทหาร ประกอบกับการที่ยิ่งลักษณ์ไปจับมือกับประยุทธ์และไปกราบเปรม เนื้อหาอยู่ที่สิ่งที่ไม่พูด

ในละครตลกร้ายอันนี้ อภิสิทธิ์ กลายเป็นของเล่นของ ทักษิณ เพื่อไทย และ นปช. เพราะประชาธิปัตย์มีอำนาจน้อย ไม่เหมือนทหาร ในอดีตอภิสิทธิ์เป็นนายกหุ่นเชิดของทหารเท่านั้น จึงนำมาแกล้ง เตะ และหยอกล้อได้ เหมือนที่เด็กๆ เล่นกัน และคงไม่เจ็บหรอก คือมีการแกล้งทำเป็นว่าจะมีการสอบสวนบางคดีที่คนตายท่ามกลางการชุมนุม โดยสร้างภาพว่าอาจเกี่ยวกับอภิสิทธ์ แต่การสอบสวนอันนี้ไม่มีวันออกผล เพราะทุกฝ่ายของชนชั้นปกครองคุยกันแล้วว่าทุกคนต้องลอยนวล.... ยกเว้นคนก้าวหน้าที่โดน 112
ถ้าพวกนั้นไม่จัดการให้ตนเองลอยนวล ใครจะไปรู้ ทักษิณอาจโดนนำมาขึ้นศาลคดีตากใบก็ได้ และทหารจะหมดอำนาจลงมากเพราะหมด “สิทธิ์” ที่จะใช้ความรุนแรงในอนาคต

อีกส่วนหนึ่งของละครตลกร้าย คือการที่ทักษิณจัดการให้ทนาย โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม มาค้นหาข้อมูลเรื่องการนองเลือดที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ เพื่อนำ อภิสิทธิ์ มาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ อันนี้เป็นไพ่ใบสุดท้ายในการสร้างภาพของทักษิณ เพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของเสื้อแดงในการปรองดอง เพราะทนาย โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เป็นคนที่จริงใจในการรื้อข้อมูลทั้งหมด และจริงใจเดินหน้าเพื่อพยายามนำ อภิสิทธ์มือเปื้อนเลือด มาขึ้นศาล

เรา ต้องเข้าใจว่าทนายที่เก่งๆ ต้องเชื่อในสิ่งที่ตนเองทำ ไม่ใช่รับเงินค่าจ้างมาแล้วไม่แคร์ การเป็นทนายเก่งนั้นคือลักษณะของ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม แต่เราต้องเข้าใจอีกว่า ทนายกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักสิทธิมนุษยชนไม่เหมือนกัน ทนายต้องทำทุกอย่างในกรอบ และกรอบที่จำกัด สิ่งที่ทนาย อัมสเตอร์ดัม ทำได้ คือการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่ยกมือรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในไทย ซึ่งแปลว่า ทนาย อัมสเตอร์ดัม จะต้องเล่น อภิสิทธิ์ คนเดียวนอกประเทศ ในฐานะที่ อภิสิทธิ์ มีสัญชาติอังกฤษกับสัญชาติไทย (อังกฤษยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ) อันนี้อำนวยความสะดวกในการ “ลืม” ทหารของทักษิณ กับ เพื่อไทย เป็นอย่างมาก

ทั้งๆ ที่ ทนาย อัมสเตอร์ดัม จะพยายามอย่างถึงที่สุด ผมเชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จกับศาลอาญาระหว่างประเทศ เขาเองก็เตือนเราไม่ให้หวังอะไรมากไป และเมื่อประสบความล้มเหลวในอนาคต ทักษิณ เพื่อไทย และ นปช. ก็จะอ้างว่า “เราพยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ” ทั้งนี้เพื่อปกปิดการหักหลังวีรชนที่เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้แกนนำ นปช. ก็ออกมาพูด “ภาพใหญ่” เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เราลืมรายละเอียดว่า นปช. ไม่ยอมรณรงค์ให้แก้หรือยกเลิก 112 เลย และไม่สนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์อย่างเป็นรูปธรรมทางการ

มีอีกละครหนึ่ง เป็นละครเล็กนอกระบบข้างถนน ละครนี้เสนอว่าคนระดับบนเป็นคนสั่งทุกอย่าง สั่งรัฐประหาร และสั่งฆ่า ซึ่งไม่จริง เราเชื่อได้ก็ต่อเมื่อเราเปิดหูเปิดตาถึงข้อมูลจริงๆ แต่คนที่เสนอแนวแบบนี้มักพาเราไปในทางเดียวกับเพื่อไทย ทักษิณ และ นปช. ทั้งๆ ที่อาจคิดต่างกัน เขาพาเราไปหลงเชื่อว่าทหารไม่ได้สั่งการเอง และหลงเชื่อว่าทหารไม่เคยมีอำนาจเอง แล้วเราก็ต้องยกโทษให้ทหาร เขาพาเราไปหลงเชื่ออีกว่า “เราทำอะไรไม่ได้” เพราะเราเผชิญหน้ากับอำนาจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งก็เป็นการเสนอให้หยุดสู้เหมือนกัน ความเชื่อของแนวนี้เป็นความเชื่อที่ทหารใช้หลอกเราด้วย เพื่อให้อำนาจทหารดูยิ่งใหญ่เพราะมีผู้ใหญ่ถือหาง แต่อำนาจทหารมาจากการใช้อาวุธ

สรุปแล้วเสื้อแดงต้องพลีชีพ เสื้อแดงต้องติดคุก เสื้อแดงต้องโดน 112 และล้วนแต่กลับบ้านไม่ได้ แต่ทหาร พันธมิตรฯ และประชาธิปัตย์จะไม่ต้องโดนอะไรเลย และทักษิณจะได้กลับบ้าน พวกเราจะยอมรับสถานการณ์แบบนี้หรือ?

การสร้างความยุติธรรม หรือเสรีภาพประชาธิปไตย ต้องสร้างโดยพลเมืองภายในสังคม บทเรียนมีมากมายทั่วโลก สังคมที่เริ่มสร้างความยุติธรรมหลังเหตุการณ์นองเลือดของเผด็จการ อย่างเกาหลีใต้ ตุรกี อาเจนทีนา หรืออัฟริกาใต้ อาศัยการเคลื่อนไหวต่อสู้ของมวลชนเป็นหลัก ส่วนในสเปน หรือชิลี การ “รอ” “ใจเย็น” “ยอมจำนน” ไม่ได้นำไปสู่การเปิดเผยความจริงและการประณามผู้กระทำความผิด 

ใน เมื่อชนชั้นปกครองไทย ไม่ว่าจะเป็นซีกทหาร ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย หรือทักษิณ จงใจไม่กำจัดผลพวงของรัฐประหาร และจงใจให้คนที่ฆ่าประชาชนลอยนวลอีกครั้ง เป็นครั้งที่สี่ ความหวังอยู่ที่กระแสของคณะนิติราษฎร์ แต่เขาทำเองสองสามคนไม่ได้ มวลชนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมต้องเคลื่อนไหวร่วมกับเขา

แต่ สิ่งหนึ่งที่พวกเราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนคือ ฝ่ายอำมาตย์ ฝ่ายทหาร ฝ่ายเพื่อไทย ฝ่ายนปช. มีการจัดตั้ง มีโครงสร้างองค์กรเพื่อรวมพรรคพวกในการทำอะไร หรือในการเคลื่อนไหว มีการประสานงานกันอย่างหนักแน่น มีการเดินร่วมกัน ดังนั้นถ้าแดงก้าวหน้าหรือแดงอิสระจะแข่งกับเขาได้ เราก็ต้องจัดตั้งในลักษณะที่ประสานงานกันเป็นองค์กรเดียวเช่นกัน การอยู่อย่างปัจเจกในกลุ่มเล็กๆ เป็นการเอาใจตัวเอง อาจสร้างความพึงพอใจกับตนเองได้ แต่เปลี่ยนสังคมไม่ได้ ถ้าเราไม่จัดตั้งเราก็แค่เหมือนน้ำที่สาดใส่ก้อนหินของฝ่ายตรงข้าม มันไหลลงดินโดยไม่มีผลอะไร


(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/06/blog-post.html

"จาตุรนต์” ค้านเดินหน้า พรบ.ปรองดอง ห่วง ศาล รธน. วินิจฉัย ยุติแก้ รธน. ทำชาติพัง

"จาตุรนต์” ค้านเดินหน้า พรบ.ปรองดอง ห่วง ศาล รธน. วินิจฉัย ยุติแก้ รธน. ทำชาติพัง



 
วันนี้ (1 ก.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แสดงความคิดเห็นที่จะให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดองออกไปก่อน ว่า ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้เสนอร่าง พรบ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับว่าจะว่าอย่างไร ถ้ายังจะพิจารณาต่อไปเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมแต่ละฉบับยังมีความแตกต่างกัน อยู่ เช่น บางฉบับกำหนดให้นิรโทษกรรมทุกคน ขณะที่บางฉบับจะไม่นิรโทษกรรมคดีที่ถึงแก่ชีวิต และการก่อการร้าย


 รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์การยกเลิกคดีของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 3 พรรครวม 109 คน ซึ่งสุดท้ายการเดินหน้าพิจารณาอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และ 309 ทำให้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ส่วนตัวยังไม่เห็นประโยชน์ของร่าง พรบ.ปรองดองนี้ตั้งแต่ต้น และไม่ทราบว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าหากนำมาพิจารณาจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และวิกฤตกับประเทศ



นายจาตุรนต์ ยังกล่าวต่อว่า เรื่องที่ควรให้ความสำคัญจริงๆ คือเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นการปิดโอกาสการแก้ไขปัญหาประเทศรวมถึง พรบ.ปรองดองด้วย ส่วนพยานของฝ่ายผู้ร้องที่จะให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาเพื่อยับยั้งการ แก้รัฐธรรมนูญ ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เช่นพรรคที่ตนเองสนับสนุนจะไม่โดนยุบ หรือองค์กรอิสระจะมีอำนาจมากกว่าประชาชน

 

ส่วนตัวมองว่า พยานเหล่านี้ไม่มีน้ำหนักเพราะเป็นพวกฝักใฝ่เผด็จการ และจากการประเมินสถานการณ์แล้วศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคำร้องวันที่ 6 ก.ค. 2555 ทันที รวมถึงอาจเขียนคำวินิจฉัยไว้ล่วงหน้าให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ได้ ขณะที่มีกระแสข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลไปเจรจากับฝ่ายตุลาการเพื่อให้รัฐบาลได้ บริหารงานต่อได้นั้นไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่แต่เชื่อว่าหากเจรจาก็ คงไม่เป็นผล
 
 
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341127620&grpid=&catid=01&subcatid=0100

จับตา! ไต่สวน 20พยาน 5-6ก.ค. เร่งคดีล้มล้างรธน." ปชป.ส่ง"อานันท์"ให้การ

จับตา! ไต่สวน 20พยาน 5-6ก.ค. เร่งคดีล้มล้างรธน." ปชป.ส่ง"อานันท์"ให้การ

 

 



นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า สถานการณ์อีก 7 วันข้างหน้าต้องเตรียมตัว ตนเตือนพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่าไปหลงใหลว่าทำงานมากแล้วจะอยู่ได้ แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯทำงานมากที่สุดยังอยู่ไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับรัฐบาลนี้ ในวันที่ 5-6 กรกฎาคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนคำร้องว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พวกเรามักจะได้ข่าวดี แต่เป็นข่าวร้ายมากกว่า ฉะนั้นพวกเราต้องเตรียมพร้อม


"การยื่นถอนประกันผมทั้งไม่มีอำนาจ ปฏิบัติต่อผมผิดมาตลอด ผมยังเชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายในประเทศนี้ยังเกิดอยู่ ถ้าผมต้องเข้าเรือนจำอีกรอบ เผลอๆ จะจบเพราะเรื่องนายจตุพรก็ได้ และจะเชิญชวนพี่น้องร่วมเดินกับผมไปที่คุมขัง ไม่ได้กดดันใดๆ แต่ผมต้องการจุดชนวนที่เรียกว่าชนวนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าเป็นการเดินของผมหรือการอดอาหารของผม ให้เรียกพี่น้องทั้งแผ่นดินที่มีความรักในความยุติธรรมให้ออกจากบ้านมาทุกหลังคาเรือน พี่น้องต้องคิดว่าถ้าทำกับผมได้ นับประสาอะไรกับประชาชนจะไม่ถูกกระทำ" นายจตุพรกล่าว
ยื่นพยาน20ปากให้ศาลรธน.


นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามที่ศาลนัดฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาไต่สวนด้วยวาจาในวันที่ 5-6 กรกฎาคม กรณีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ขณะนี้คู่กรณีส่งรายชื่อพยานบุคคลเข้าไต่สวนแล้ว รวม 20 ปาก โดยเป็นฝ่ายผู้ร้องยื่นรายชื่อพยานบุคคล 16 ปาก ประกอบด้วย 1.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรค ปชป. 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. 3.นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป. 4.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา 5.นาย วัชรา หงส์ประภัศร อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 6.นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชน


นายสมฤทธิ์กล่าวว่า 7.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชน 8.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. 9.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา 10.นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา 11.นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา 12.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา 13.นายคมสัน โพธิ์คง อดีต ส.ส.ร. ปี2550 14.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง 15.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 16.นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ
คาด6ก.ค.ชี้ขาดปมแก้รธน.

นายสมฤทธิ์กล่าวว่า ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง ยื่นรายชื่อพยานบุคคล 4 ปาก ประกอบด้วย 1.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค พท. 2.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ พท. 3.นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และ 4.นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยพยานบุคคลทั้งหมดต้องทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งทำสำเนาให้อีกฝ่ายรับทราบพยานซึ่งกันและกัน ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม

"คาดว่าวันที่ 4 กรกฎาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะประชุมเพื่อหารือและพิจารณาว่าจะอนุญาตให้พยานบุคคล แต่ละฝ่ายปากใดบ้าง เข้าชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 5-6 กรกฎาคม หากหลักฐานเพียงพอก็สามารถนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าหากการไต่สวนในวันที่ 6 กรกฎาคม ได้ข้อสรุป ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอ่านคำวินิจฉัยได้ในวันดังกล่าว" นายสมฤทธิ์กล่าว

(ที่มา) 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341026924&grpid=&catid=03&subcatid=0305