หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จลาจลที่อังกฤษมีผลจากนโยบายทางการเมืองในยุควิกฤต
กองบรรณาธิการ นสพ เลี้ยวซ้าย

การจลาจลเมื่อเดือนสิงหาคมนี้ในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ เป็นผลของนโยบายรัฐบาลแนวร่วมพรรคอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม ที่ใช้กลไกตลาดเสรีสุดขั้ว เพื่อตัดงบประมาณรัฐ โดยอ้างว่า “ต้อง” ลดหนี้สาธารณะเพื่อรักษา “วินัยทางการคลัง” คำพูดเรื่องวินัยทางการลังนี้ เรามักได้ยินออกมาจากปากนักการเมืองเสรีนิยมอย่างอภิสิทธิ์และกรณ์โดยเฉพาะเวลารัฐบาลไทยรักไทยใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาสถานภาพคนจน แต่เมื่อมีการเพิ่มงบประมาณทหารสองเท่าหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่มีใครพูดอะไร

ในกรณีอังกฤษหนี้สาธารณะไม่ได้สูงเป็นประวัติศาสตร์ตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สองสูงกว่านี้สองเท่า และเขายังสร้างรัฐสวัสดิการได้ และที่สำคัญหนี้สาธารณะที่ขยายตัวตอนนี้มาจากการเอาเงินประชาชนไปอุ้มธนาคารที่เต็มไปด้วยหนี้เสียจากการปั่นหุ้น แต่ไม่มีรัฐมนตรีหรือนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคนไหนที่เสนอว่าต้องไปเก็บคืนจากนายธนาคารและคนรวยที่เคยได้ดิบได้ดีจากการเล่นหุ้น

รัฐบาล แนวร่วมพรรคอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยมอังกฤษ ตัดการบริการสาธารณะ ตัดตำแหน่งงาน ตัดรัฐสวัสดิการ ทำลายชีวิตและอนาคตของเยาวช​น มีการตัดทุนเพื่อการศึกษาของวัยรุ่นและตัดศูนย์วัยรุ่นอีกด้วย หลายคนคาดว่าคงจะเกิดเหตุจลาจลในไม่ช้า แต่นักการเมืองตอนนี้ทำเป็น "ตกใจ"

สิ่งที่จุดไฟให้ระเบิดขึ้นครั้งนี้คือท่าทีก้าวร้าวของตำรวจที่รังแกเยาวชนและคนผิวดำอย่างต่อเนื่อง จนตำรวจยิงปืนฆ่าชายคนหนึ่งตาย โดยอ้างว่าเป็นโจร ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานอะไร จะเห็นว่าคนจน โดยเฉพาะเยาวชน ถูกกดดันจากนโยบายรัฐบาล และจากตำรวจ

ตอนนี้ระดับว่างงานของเยาวชนสูงมาก บัณทิตที่จบมหาวิทยาลัยตกงานถึง 14% แต่สำหรับบัณทิตชายสูงถึง 18% สำหรับเยาวชนทั่วไประดับการว่างงานสูงเกิน 20% ถ้าพูดถึงคนจนในเมืองระดับการว่างงานสูงกว่านี้อีกมาก โดยเฉพาะในหมู่คนผิวดำ ย่านทอดแนม ซึ่งเป็นย่านเกิดเหตุแรก มีระดับการว่างงานของเยาวชนสูงที่สุดในลอนดอน การที่เยาวชนจำนวนมากที่กำลังเรียนระดับ ม.6 ต้องพึ่งเงินทุนเพื่อการศึกษาที่รัฐบาลกำลังตัด เป็นเหตุให้นักเรียนออกมาประท้วงร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเมื่อปลายปีที่แล้ว มีการบุกเข้าไปในที่ทำการพรรคอนุรักษ์นิยมด้วย

สภาพเศรษฐกิจที่มีผลจากวิกฤตโลก และทำให้คนหนุ่มสาวตกงานและขาดอนาคต เป็นสาเหตุสำคัญของการลุกฮือล้มเผด็จการในอียิปต์กับตูนิเซีย และเป็นสิ่งที่ทำให้เยาวชนสเปนออกมาสร้างค่ายประท้วงตามเมืองต่างๆ อีกด้วย แม้แต่ในชิลี ซึ่งเป็นประเทศลาตินอเมริกัน ก็มีการประท้วงของนักศึกษาในประเด็นคล้ายๆ กัน

นอกจากการจลาจลแล้ว ที่อังกฤษมีการ “ร่วมกันกระจายทรัพย์สู่คนจน” โดยการบุกร้านค้า เพื่อยึดเอาของใช้ประจำวันและสินค้าราคาแพงที่คนจนไม่มีวันซื้อได้ การจลาจลครั้งนี้ทำให้หลายคนมองย้อนหลังสู่การจลาจลในปี 1981 สมัยรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมขวาสุดขั้วของนางแทชเชอร์ เพราะสถานการณ์คล้ายกันมาก คือมีการตัดงบประมาณในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจ ทำลายตำแหน่งงาน ทำลายอนาคตคนธรรมดา และตำรวจมีท่าทีก้าวร้าวเหยี่ยดสีผิวจนฆ่าผู้หญิงผิวดำตายสองคน หลังการจลาจลครั้งนั้น นักมาร์คซิสต์อังกฤษชื่อ คริส ฮาร์แมน เขียนไว้ว่า

“สำหรับหลายคนที่มีส่วนร่วมในการจลาจล มันเป็นประสบการณ์ยิ่งใหญ่ของชีวิต เพราะการร่วมจลาจลทำให้รู้สึกว่าได้โอกาสที่จะลุกขึ้นสู้ร่วมกับคนอื่น และมีผลต่อสังคม" แทนที่จะมีชีวิตแบบโดดเดี่ยวที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และแทนที่จะเป็นเหยื่ออย่างเดียว ดังนั้นหลังการจลาจล คนที่เข้าร่วมไม่เคยรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ทั้งๆ ที่การจลาจลเป็นการต่อสู้ราคาแพงสำหรับเขา เพราะฝ่ายประชาชนบาดเจ็บมากกว่าตำรวจ และถูกจับจำนวนมาก

แต่การจลาจลมีจุดอ่อนมหาศาลถ้าเทียบกับการนัดหยุดงาน เพราะเวลากรรมาชีพนัดหยุดงานเขาจะมีประสบการณ์ร่วมที่เพิ่มความรู้สึกในความสมานฉันท์ และที่สำคัญสามารถท้าทายโครงสร้างระบบทุนนิยมได้ โดยการปิดท่อส่ง “มูลค่า” และทำให้ระบบเศรษฐกิจอัมพาต มันมีผลระยะยาวมากกว่าการก่อจลาจล และมันนำไปสู่การจัดตั้งและเรียนรู้ทางการเมืองได้ดีกว่า "http://www.marxists.org/archive/harman/1981/xx/riots.html"

เมื่อต้นปีนี้มีการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ของนักสหภาพแรงงานอังกฤษเพื่อต้านนโยบายรัฐบาล และเมื่อปลายเดือนมิถุนายนมีการนัดหยุดงานร่วมกันของสี่สหภาพแรงงานในภาครัฐ ในช่วงนี้นักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานรากหญ้ากำลังรณรงค์กดดันสภาแรงงานอังกฤษให้จัดการนัดหยุดงานทั่วไปอย่างที่เราเห็นในกรีซ 

หลายคนในอังกฤษที่เกลียดชังนโยบายของรัฐบาลเศรษฐีอังกฤษ กำลังคิดในใจว่า “สมน้ำหน้ารัฐบาล”และในไทยเราไม่ควรลืมว่าพวกเศรษฐีชั้นสูงของอังกฤษในพรรค อนุรักษ์นิยมเป็นเพื่อนหรือจบจากสถานที่ศึกษาเดียวกับคนอย่างอภิสิทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น