หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ ล้าสมัยแล้วจริง ๆ หรือ ?

ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ ล้าสมัยแล้วจริง ๆ หรือ ?

 

 


คาร์ล มาร์คซ์

โดย ศรีสองเมือง 

 

มีคนเคยเยาะเย้ยนักลัทธิมาร์กซผู้หนึ่งไว้ เมื่อไม่นานมานี้ ในทำนองว่าเขาผู้นั้นยังงมงายกับลัทธิมาร์กซ์อยู่  และน่าจะเป็นมาร์กซิสต์คนสุดท้ายในประเทศไทย  แต่ก็ไม่ได้เสนอทฤษฎีใหม่ที่มีเนื้อหาใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา  โดยเฉพาะความขัดแย้งในสังคมไทย       

โดยฐานะแล้ว ผมเป็นเพียงรากหญ้าคนหนึ่ง การที่จะพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสาระต่าง ๆ ในทฤษฎีการเมือง  ซึ่งก็เป็นเรื่องยากและใช้เวลานานกว่าผู้อื่นอยู่บ้าง ทำได้เท่าที่กำลังสติปัญญาและโอกาสจะเอื้ออำนวยให้ โดยมีความประสงค์ที่จะค้นหาว่า  แนวคิดของปรัชญาใด จะสามารถคลี่คลายปัญหาทางความคิดหรือข้อสงสัยของผมให้ตกไปได้บ้างเป็นเบื้อง แรก 


จนกระทั่งได้พบ ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษวิธีของลัทธิมาร์กซ ที่เกิดจากการตกผลึกทางสติปัญญา ของมาร์กซและเองเกลส์ ที่มันสามารถตอบปัญหาทางความคิดของผม ซึ่งมีมานานแล้ว ให้ตกไปได้อย่างไม่มีอะไรต้องมาสงสัยค้างคาใจอีก และเมื่อมองย้อนกลับไป ทำให้ผมได้เห็นความ ” ไม่รู้ ” ของตนเองว่า เคยหลงผิดไปอย่างมากมายทีเดียว 

จึงตั้งใจว่า ต่อไปนี้ ก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ จะเชื่อสิ่งใดง่าย ๆไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากเคยมีบทเรียนที่เจ็บปวด จากการถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อและศรัทธา ในสิ่งที่จับต้องไม่ได้จากแนวคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์มานาน  จึงพยายามฝึกฝนทดลอง ใช้แนวทางทฤษฎีของปรัชญานี้ มามองและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองมาตลอด 

การลองผิดลองถูกนั้น ได้ให้การศึกษาแก่ผมว่า
หากไม่มีการนำไปปฏิบัติ ก็จะไม่มีผลเลย  การจะยึดถือแนวทางของทฤษฎีใด ๆ ควรพิจารณาในหลาย ๆ มิติ  ไม่ว่าจะเป็น ฐานะ บทบาทและภาระหน้าที่ของมันที่มีต่อ ” ศาสตร์ ” และ ” สังคม ”  โดยพยายามมองเข้าไปให้ถึงโครงสร้างของมันว่า ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ หรือไม่   

๑. มันมีหน่วยวิเคราะห์อยู่ในระดับใด ?  ระดับบุคคล ? ระดับกลุ่มคน (ชนชั้น) หรือในระดับสังคม  หรือกว้างกว่านั้น  

-
ลัทธิมาร์กซ มีหน่วยวิเคราะห์อยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับย่อยจนถึงระดับใหญ่

๒. มองถึงอุดมการณ์ของมัน ว่ารับใช้ใคร ?  


- ลัทธิมาร์ซได้แสดงจุดยืนของมันอย่างชัดเจนว่า
มันรับใช้ชนชั้นผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนข้างมากของสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ 

๓. มันมีเป้าหมายเช่นไร ? ต่อมวลมนุษยชาติ


- ลัทธิมาร์กซมีเป้าหมายชัดเจนที่จะปลดปล่อยมวลมนุษยชาติ ออกจากความสิ้นหวังยากไร้และขาดแคลนจากการถูกกดขี่ขูดรีด  ข้อนี้ ผมเห็นว่า เป็นแก่นแท้และจิตวิญญาณของมัน เลยทีเดียว

๔. มันมีลักษณะนามธรรมที่หลากหลายและสมบูรณ์เพียงใด ?
- ลัทธิมาร์กซ ได้หล่อหลอมเชื่อมโยง เอานามธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน อย่างสอดประสานกลมกลืน เช่น ความยากไร้ การกดขี่ขูดรีด การต่อสู้ทางชนชั้น การเปลี่ยนแปลงสังคม ฯลฯ 

๕. ในด้านความเป็น”ศาสตร์” มันมีความสามารถเพียงพอ ที่จะอธิบายปรากฎการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้มากน้อยเพียงใด
- มีเพราะมันเป็นองค์ความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

๖. มีมวลชนผู้ศรัทธาสืบทอด โดยนำหลักการไปปรับใช้และปฏิบัติและได้ผลอยางประจักษ์หรือไม่


-
มีและนำไปปฏิบัติได้ผลประจักษ์มาแล้ว

หากปราศจากองค์ประกอบเหล่านี้ (หรือมากกว่านี้) แล้วนำไปมองปัญหา  ก็น่าจะเป็นได้เพียง
การบอกเล่า” หรือ “ ระบายความรู้สึก ความเพ้อฝัน หรือความปรารถนาส่วนตนที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตเบื้องลึก  ออกมาเสียมากกว่า  สำหรับทฤษฎีลัทธิมาร์กซนั้น มีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่อย่างสมบูรณ์

แม้จะผ่านกาลเวลามานานเป็นร้อยปี  มันได้รับการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์มาอย่างหนักหน่วงกว้างขวาง ผ่านการโจมตีบิดเบือน ในเนื้อหาสาระมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สาระหลัก ยังคงทนต่อการพิสูจน์ แม้ว่าในปัจจุบัน ” ทุน ” และสรรพสิ่ง จะพัฒนาแตกต่างไป จากที่มาร์กซได้วิเคราะห์ไว้ในยุคสมัยของเขามากมาย 
 
แต่เนื้อหาของมัน ก็ไม่ล้าสมัยไปเสียเลยทีเดียว มาร์กซก็เป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่มีอัจฉริยภาพสูงมากคนหนึ่ง  ไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ใช่นักปรัชญาจิตนิยม ในยุคที่เขามีชีวิตอยู่นั้น ยังไม่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี่ใหม่ ๆ ให้เห็นเป็นข้อมูล และไม่มีเครื่องมือดิจิตอลใช้เช่นในปัจจุบัน 

ในปี พศ. นี้ ยังมีทฤษฎีใหม่ ๆ บทใดบ้างที่พอจะชี้ทางออกให้กับมวลชนผู้ยากไร้ได้ดีเท่ากับทฤษฎีนี้ ยังมีนักปราชญ์คนใดบ้าง ที่สามารถเสนอแนวคิดทางปรัชญาที่มีฐานะพอ ๆ กันมาหักล้างทฤษฎีลัทธิมาร์กซให้ตกไปได้....ถ้ามี  โปรดชี้แนะด้วย จะได้น้อมรับไปศึกษา  

แต่ในเวลานี้
จำต้องยึดถือ ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษแห่งลัทธิมาร์กซไว้ก่อน และไม่แน่ว่า ในอนาคตอาจจะมีผู้รู้คนหนึ่งคนใด มาพัฒนาหรือเสนอแนวทางที่ ผิดแผกไปจากนี้และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งอยู่ที่เดิม ตามหลักข้อหนึ่งของ “วัตถุนิยมวิภาษวิธี”ของลัทธิมาร์กซ

(ที่มา) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น