สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๗๖ ประจำวัน จันทร์ ที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๕
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน นี้ คณะกรรมการ ศปช. หรือที่มีชื่อเต็มว่า
“ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน
เมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ได้เผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การปราบปราม
ประชาชนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๓ โดยใช้ชื่อว่า
“ความจริงเพื่อความยุติธรรม” เป็นหนังสือหนาถึง ๑๓๙๐ หน้าพร้อมด้วย ซีดี
ประกอบ ซึ่งนับเป็นรายงานข้อเท็จจริงที่ละเอียดที่สุด
และกระทำสำเร็จเป็นฉบับแรกสุด หลังจากการเกิดเหตุการณ์กว่า ๒ ปี
ขณะที่คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงชุดอื่น เช่น คอป. หรือ
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ซึ่งหมดอายุการทำงานเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้
ยังไม่มีรายงานลักษณะนี้ และรายงานฉบับของ กสม. หรือ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังมีปัญหา
เพราะคงจะไม่ผ่านที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ศปช.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓
โดยกลุ่มนักกิจกรรมร่วมกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม
มีเจ้าหน้าที่ทำงาน ๕-๖ คนในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์พยาน
ผู้ได้รับผลกระทบฯ ในคำนำของหนังสือความจริงเพื่อความยุติธรรม ได้อธิบายว่า
รายงานฉบับนี้ “มีจุดเริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
ที่ไม่สามารถทำใจนิ่งเฉยกับความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชน...
คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้จึงได้แปรเปลี่ยนความเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมให้เป็นความ
พยายามที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
และยังอธิบายด้วยว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
หรือดีเอสไอ ที่จะหาตัวผู้กระทำผิดนั้นไม่มีความก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
ในรายงานฉบับนี้ได้สรุปตัวเลขที่น่าสนใจไว้ว่า
ประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมมีถึง ๙๔ คนในจำนวนนี้เป็นหญิง ๖ คน
ทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน ๘๘ คน โดยถูกยิงที่ศีรษะ ๓๒ คน ในจำนวนนี้
มีอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพและพยาบาลเสียชีวิต ๖ คน
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิต ๒ คน ส่วนตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บคือ ๑,๒๘๓
คน กองทัพเบิกกระสุนไป ๕๙๗,๕๐๐ นัด ส่งคืน ๔๗๙,๕๗๗ นัด
เท่ากับฝ่ายกองทัพใช้กระสุนในการปราบปรามถึง ๑๑๗,๙๒๓ นัด
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นการบันทึกข้อเท็จจริง
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยมุ่งหวังว่าในอนาคต
การรวบรวมข้อมูลนี้จะสามารถนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ
และนำคนผิดมาลงโทษได้ อย่างไรก็ตาม
ข้อจำกัดสำคัญของคณะทำงานคือการเข้าไม่ถึงข้อมูลจากภาครัฐ
ไม่มีอำนาจในการเรียกเอกสารหรือเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล
แต่ก็ได้มีการรวบรวมข้อมูลเอกสารทางการเท่าที่มีการเผยแพร่และหามาได้ไว้
ทั้งหมด รวมถึงหลักฐานจำพวกคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก
และส่วนใหญ่ถูกลบไปแล้ว
ในบทความของ เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานว่า กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
หรือ นปช.ได้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่
ถือเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองตามครรลอง
แต่สถานการณ์กลับพาไปสู่ความรุนแรง
โดยความรุนแรงเริ่มต้นจากการประกาศใช้พระราชกำหนดสถาณการณ์ฉุกเฉินที่มีความ
ร้ายแรงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน
จากเหตุการณ์ล้อมสภาของกลุ่ม นปช.
ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็เป็นการจัดการที่เกินกว่าเหตุ
และการใช้กฎหมายนี้นำไปสู่การใช้กำลังของหน่วยทหารจนเกิดความรุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะการประกาศ “ขอคืนพื้นที่” ในวันที่ ๑๐ เมษายน
ซึ่งเกิดการปะทะกันในพื้นที่โดยรอบถนนราชดำเนิน และทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒๔
ราย นอกจากนี้ ในรายงานยังกล่าวถึงเรื่อง “ชายชุดดำ”
ซึ่งคนเสื้อแดงเห็นว่าเป็นฮีโร่มาช่วยในเวลาที่เพลี่ยงพล้ำ
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น
ยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความชัดเจนได้ และเป็นปริศนาภายในกองทัพเอง
ส่วนการเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารฝ่ายปราบปราม ๕ คน
ก็เกิดขึ้นนอกบริเวณการชุมนุมของคนเสื้อแดง
ในรายงานได้เผยข้อเท็จจริงต่อไปว่า
การปราบปรามครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓
เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดเส้นตายให้
นปช.ยุติการชุมนุมอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม หลังจากนั้น
ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม
รัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่สอง
และดำเนินการให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ
ศอฉ.ก็ได้เริ่มต้นสลายการชุมนุมโดยการกระชับวงล้อม
การสังหารหมู่ครั้งใหม่ก็เริ่มต้นโดยการยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
เสียชีวิตในวันเดียวกันนั้นเอง จากนั้น
จึงได้มีการสังหารชีวิตประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจนถึงการสลายการชุมนุมใน
เวลากลางวันของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕๖ คน จากนั้น
ต่อมา ก็มีการสังหารประชาชนที่วัดปทุมวนารามอีก ๖ คน
และมีผู้ถึงแก่กรรมเพราะติดในตึกเซ็นทรัลเวิร์ลอีก ๑ คน
ที่น่าสนใจคือ ในรายงานได้กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์การสลายการชุมนุม
นำมาซึ่งการจับกุมประชาชนดำเนินคดีทั่วประเทศถึง ๑๘๕๗ คน
ซึ่งบางคนไม่ได้ร่วมชุมนุมด้วย และจากจำนวนทั้งหมดนี้ ต่อมาถูกดำเนินคดีถึง
๑,๗๖๓ คน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีคดีมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน
โดยแยกลักษณะการฟ้องได้ ๒ ลักษณะ คือ คดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน
และคดีที่ฟ้องร่วมกับคดีอาญา มีบางคดีที่ถูกฟ้องร่วมกับคดียาเสพติด
ในการดำเนินคดีมีการรวบรัด มีหลายคดีที่ศาลชั้นต้นตัดสินคดีโดยลงโทษจำคุก ๑
ปี
แล้วจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเพราะการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นผิด
ระเบียบ แต่มีถึง ๒๗ คดีที่ศาลตัดสินจำคุกมากกว่า ๑๐ ปี
มีตัวอย่างหลายคดีพบว่า
พยานหลักฐานหลายชิ้นที่ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างว่าผู้ต้องหาฝ่าฝืน
พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน คือ ตีนตบ ธง นปช. หมวก ผ้าพันคอ พลุ ตะไล เป็นต้น
และล่าสุดในขณะนี้ ยังมีผู้ที่ติดคุกอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
ไม่ได้รับการประกันตัวอีก ๒๒ คน
ในรายงานระบุด้วยว่าการใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินส่งผลกระทบต่อกระบวนการดำเนิน
คดีคือมีการซ้อม มีการจูงใจให้รับสารภาพ
และผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากก็ไม่มีทนายความช่วยเหลือคดี
บทความของ ขวัญระวี วังอุดม ได้วิเคราะห์ว่า
การสลายการชุมนุมทั้งหมดนี้เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
ไม่สอดคล้องกับกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยและหลักสากล
และกลายเป็นว่าประชาชนผู้เสียชีวิตโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาวุธอยู่ในมือเลย
เท่ากับเป็นการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมที่มีแต่สองมือเปล่า ยิ่งกว่านั้น
การใช้พลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ยิงประชาชนก็ไม่ถูกต้องด้วยหลักการสลายการ
ชุมนุม และยังรวมถึงการยิงผู้สื่อข่าว
และอาสาสมัครกู้ชีพอย่างไม่มีการแยกแยะ
ซึ่งที่มาอย่างหนึ่งของการใช้ความรุนแรงเช่นนี้ก็คือ
การใช้กฏหมายความมั่นคงมาจัดการกับการชุมนุมทางการเมือง
จนทำให้กลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนขั้นรุนแรง
อีกกรณีหนึ่งที่กล่าวถึงในรายงานนี้ก็คือ
การใช้การปฏิบัติการด้านข่าวสารที่สร้างความชอบธรรมแก่การปราบปรามของฝ่าย
รัฐบาล เช่น การโฆษณาชวนเชื่อด้วยการสร้างวาทกรรมด้านลบเกี่ยวกับผู้ชุมนุม
การโจมตีว่า ผู้ชุมนุมเป็นสมุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นผู้น่าสงสารไร้การศึกษาและถูกหลอกมา
จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการก่อการร้าย
และที่ร้ายแรงคือการโจมตีด้วยข้อหาว่าเป็น”แดงล้มเจ้า”
และเพื่อให้สมเหตุผลก็ได้มีการอุปโลกน์ข้อมูลเรื่องผังล้มเจ้าออกมาด้วย
และเมื่อปราบปรามแล้ว
ก็ใช้การบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ซึ่งต่อมาก็เป็นที่พิสูจน์ได้ว่า
ผังล้มเจ้าเป็นเพียงเรื่องกำมะลอ แต่มีผลในการใส่ร้ายป้ายสีแล้วฆ่าคน
ข้อสรุปที่น่าสนใจ ก็คือ
กรณีการสลายการชุมนุมประชาชนอันนำมาซึ่งการบาดเจ็บเสียชีวิต
และการถูกจับกุมของประชาชนจำนวนมากเช่นนั้น ถูกอธิบายด้วยคำ ๓ คำ คือ
“อำพราง อัปลักษณ์ และ อำมหิต” และเมื่อเวลาขณะนี้
ความยุติธรรมก็ยังไม่ได้กลับคืนมาสู่ประชาชน สุภาษิตกฎหมายได้กล่าวว่า
“ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม” และที่น่าแปลกใจก็คือ
ความยุติธรรมที่มาล่าช้ายังดำเนินต่อไป
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาแล้ว ๑ ปีก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น