หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

"ยุกติ มุกดาวิจิตร" : สังคมไทยปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตยที่ชราภาพมากแล้ว

"ยุกติ มุกดาวิจิตร" : สังคมไทยปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตยที่ชราภาพมากแล้ว

 

  


แม้การรำลึกครบรอบ 6 ปี รัฐประหารจะผ่านไปแล้ว

แต่กระแสข่าวการเกิดรัฐประหารมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

โดยเฉพาะการปลุกระดมเสื้อแดง-เสื้อเหลืองจนเกิดการปะทะกันหน้ากองปราบในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อาจจะนำไปสู่ข้ออ้างสำคัญที่คณะรัฐประหารมักใช้อ้างเพื่อกระทำการก็คือ
 
การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและป้องกันปัญหา "คนไทยฆ่ากันเอง" 

"มติชนออนไลน์"  สัมภาษณ์ "ยุกติ มุกดาวิจิตร"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จะมาตอบคำถามว่าเหตุใดประเทศไทยยังสามารถเกิดรัฐประหารในอนาคตได้

แม้จะมีกระแสต่อต้านจะขยายไปในวงกว้างของสังคมแล้วก็ตาม

แล้วชนชั้นนำไทยเกี่ยวข้องอย่างไรกับการรัฐประหาร

ถึงเวลาที่ต้องรับ "ชมคลิป" และอ่านอย่าง "เพ่งพินิจตรึกตรอง"

-ปัจจัยใดทางสังคมที่ทำให้มีการรัฐประหารถึง 4 ปี/ครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
 รัฐประหารทุกครั้งมันตอกย้ำสิ่งที่ยังมีอยู่ในสังคมไทยคือ ระบบอำนาจนิยมและชนชั้นนำยังไม่อยากปล่อยอำนาจของตัวเอง ดังนั้นข้ออ้างของการทำรัฐประหารจะซ้ำ ๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกเอามาใช้เป็นข้ออ้าง ชนชั้นนำก็เชื่อว่ากลุ่มของตนเองเท่านั้นที่จะปกป้อง จงรักภักดีต่อสถาบันฯ และคิดว่าคนกลุ่มอื่นในสังคมไทยไม่มีใครรักสถาบันฯ เลย มีแต่ทหารกับชนชั้นนำเท่านั้น


 อีกปัจจัยคือ อุดมคติของข้าราชการก็ไม่ได้คิดว่า ตัวเองทำงานให้กับนักการเมืองซึ่งเท่ากับคิดว่าข้าราชการก็ไม่ได้ทำงานให้กับประชาชน ข้าราชการคิดว่า ตัวเองทำงานให้สถาบันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประชาชน โครงสร้างพื้นฐานของระบบข้าราชการจึงคิดว่า ตัวเองไม่ได้ทำงานให้ประชาชน  แล้วผู้ที่ทำรัฐประหารก็คือ ทหารซึ่งก็เป็นข้าราชการอีกด้วย
-ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยชนชั้นกลางจะเป็นคนกลุ่มแรกที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แต่ทำไมการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ชนชั้นกลางกับยอมรับแล้วยื่นดอกไม้ให้ทหารที่ทำการรัฐประหาร
เพราะมันเป็นการรัฐประหารเพื่อชนชั้นกลาง โดยการกระทำและความสนับสนุนจากชนชั้นนำ การรัฐประหารในครั้งก่อน ๆ มันคือเรื่องผลประโยชน์ของชนชั้นนำเอง แต่หลังจากที่การกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจมันแพร่หลายในเขตเมืองมากขึ้นชนชั้นกลางก็มีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนสามารถกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

พอรัฐบาลทักษิณกระจายอำนาจให้ชนชั้นกลางระดับล่างจึงทำให้กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองไม่พอใจ และยินดีที่เกิดรัฐประหารปี 2549 เพราะอย่างน้อยอำนาจทางการเมืองก็ยังอยู่ในมือพวกเขา แล้วอุดมการณ์ของชนชั้นกลางในเมืองยังเชื่อว่า ควรจะมีพลังพิเศษมาป้องกันหรือขัดขวางการเติบโตของพลังสถาบันพรรคการเมือง

-หมายความว่าชนชั้นกลางในเมืองกำลังหวาดกลัวกับการมีอำนาจทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่างใช่หรือไม่


ใช่ โครงสร้างทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2534 คือต้องการให้อำนาจมาจากประชาชน ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่พอหลังรัฐประหารปี2549 ก็เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนดี จะเห็นได้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นกลางไม่ค่อยยึดหลักการแต่พร้อมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตราบเท่าที่ตนไม่เสียผลประโยชน์

แต่โครงสร้างการเมืองหลัง ปี 2540 คือการออกแบบให้อำนาจการกระจายไปสู่พื้นที่อื่นที่ไม่ใช่เมืองหลวง กระจายอำนาจไปยังชนบท แล้วโครงสร้างทางการเมืองก็ถูกออกแบบให้นักการเมืองและพรรคการเมืองยึดโยงกับอำนาจของประชาชนมากขึ้น

ดังนั้นต่อให้ไม่มีคนชื่อทักษิณ สังคมไทยก็จะมีนโยบายทางการเมืองและนักการเมืองแบบทักษิณอยู่ดี เป็นนักการเมืองและนโยบายทางการเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งหมด แต่ไม่ตอบสนองกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองหลวงอย่างที่เคยเป็น

 ด้วยเหตุนี้ชนชั้นกลางจึงสนับสนุนให้มีการรัฐประหารเพราะเขากลัวว่า นโยบายต่าง ๆ จะไม่ตอบสนองต่อชนชั้นกลางในเมืองหลวงอีกแล้ว ทรัพยากรต่าง  ๆ ที่คนในเมืองหลวงเคยได้ทั้งหมด พอโครงสร้างทางการเมืองเป็นลักษณะกระจายอำนาจไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ ทรัพยากรก็ต้องกระจายตามอำนาจทางการเมืองไปด้วย ดังนั้นต่อให้เป็นคุณคนดีขนาดไหนถ้าทำตามโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกออกแบบไว้หลังปี 2540 ก็สามารถถูกรัฐประหารได้ทั้งนั้น

-ทำยังไงให้ชนชั้นกลางในเมืองยอมรับว่าถึงเวลาที่กระจายอำนาจให้กับกลุ่มชนชั้นล่างที่มาเรียกร้องอำนาจทางผลประโยชน์ของตัวเอง

สังคมไม่ได้มีเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชนชั้นกลางในเมืองมักจะคิดว่า ตนเป็นผู้ที่ชำระภาษีมากกว่าคนต่างจังหวัด  แต่ถ้าเราลองไปดูฐานภาษีในประเทศไทยจะพบว่า  ฐานภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากรายได้ของชนชั้นกลางในเมืองแต่มาจากภาษีการค้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม  แล้วประชากรส่วนใหญ่ก็อยู่ตามต่างจังหวัดเพราะฉะนั้นผู้บริโภคสินค้าส่วนใหญ่คือใประชาชนตามต่างจังหวัด

ดังนั้นกลุ่มคนที่เสียภาษีมากที่สุดก็คือ ประชาชนที่อยู่ตามต่างจังหวัด แต่งบประมาณส่วนใหญ่กลับกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหรือเมืองหลวง ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อประชากรที่อยู่ตามต่างจังหวัด  ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่นโยบายของรัฐบาลจะต้องตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ด้วย เหตุนี้การสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีท้องถิ่น เพื่อนำงบประมาณไว้ใช้บริหารพัฒนาพื้นที่ของตัวเองต้องสนับสนุนให้มีมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ  ปี 2540 แต่เมื่อมาใช้รัฐธรรมนูญ  ปี 2550 จำนวนเงินที่จะลงไปสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ลดลงไปอย่างมาก 


นั่นแสดงให้เห็นว่า สังคมชนบทไม่มีหลักประกันใด ๆ ที่ทรัพยากร ภาษีของคนต่างจังหวัดจะกลับไปสู่ท้องถิ่น แล้วคนในเมืองหลวงก็บ่นว่า กระจุกตัว เมืองหลวงแออัด รถติด น้ำท่วม ประชาชนล้นเมือง นั่นก็เพราะทรัพยากรและงบประมาณเทใส่ที่กรุงเทพฯ ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดก็อพยพมาเพื่อแสวงหาทรัพยากรเหล่านี้

 -สังคมหลายส่วนสงสัยมากว่า ชนชั้นนำมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับรัฐประหาร 2549 ในเมื่อเป็นความขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นกลางในเมืองกับกลุ่มชนชั้นล่างและประชาชนที่อยู่ตามต่างจังหวัด

ชนชั้นนำก็กลัวการเปลี่ยนผ่านของชนชั้นนำเหมือนกัน 
ไม่มีใครมีอยู่เป็นอมตะ ทุกอย่างย่อมมีเกิด แก่ เจ็บและก็ตาย แล้วความกังวลตรงจุดนี้ก็มาจากฝ่ายที่อยู่ในอำนาจนั้นเอง พวกเขากังวลว่า การเปลี่ยนผ่านอาจไม่ราบรื่น กลัวการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอาจนำไปสู่การล้มล้างกลุ่มอำนาจเดิมที่ครองอำนาจในการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน  

ดังนั้นพวกเขาต้องมั่นใจว่า อำนาจในการเปลี่ยนผ่านต้องอยู่ในมือของพวกเขา และผมมั่นใจว่า ในหมู่ชนชั้นนำเองก็มีความขัดแย้งเรื่องการเปลี่ยนผ่านอย่างแน่นอน  แล้วด้วยความกังวลนี่เองข้ออ้างที่ใช้ในการทำรัฐประหารจึงมีเรื่อง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่เสมอ

-ฝ่ายรัฐบาลพูดชัดเจนว่า ถ้าไม่มีการคอร์รัปชั่น รัฐบาลไม่ล้มล้างสถาบันฯ จะไม่มีรัฐประหารแน่นอน แล้วถ้าตัดปัจจัยนี้ออก ปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดรัฐประหารได้อีกในอนาคต

ความขัดแย้งในระยะเวลานี้ยังไม่จบ เมื่อยังไม่จบก็สามารถเกิดรัฐประหารได้ทุกเมื่อ  ถ้าพิจารณาจาก 20 ปีก่อน ช่วง รสช. ที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณถูกรัฐประหาร สาเหตุที่เกิดรัฐประหารก็คือ กลุ่มทหารฝ่ายหนึ่งไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารที่อยู่ข้างกลุ่มชนชั้นนำเก่า

 ส่วนรัฐประหารโดย คมช.คือ ความขัดแย้งที่ชนชั้นกลางไม่พอใจที่อำนาจทางการเมืองกระจายออกไปมากขึ้น แล้วชนชั้นนำเองก็ยังกังวลกับการเปลี่ยนผ่าน 

 เรื่องเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอถ้ายังไม่สามารถปฎิรูปสถาบันให้อิงกับอำนาจของประชาชนและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย การรัฐประหารยังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

-ถ้าชนชนชั้นนำไม่ปฎิรูป ชนชั้นกลางไม่ปฎิรูป  แล้วใครจะเป็นหัวหอกในการปฎิรูป

 กลุ่มคนชนชั้นกลางใหม่ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกลุ่มชนชั้นล่างและชนชั้นกลางเข้าด้วยกันจะเป็นหัวหอกสำคัญ การต่อสู้ทางการเมืองในระยะหลัง ๆ ที่ผ่านมา ชนชั้นกลางใหม่ซึ่งเป็นผู้นำทางปัญญาจะเป็นผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลุ่มชนชั้นกลางหัวก้าวหน้าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะต่อต้านการรัฐประหารแล้วพวกเขาก็กำลังทำอยู่ตลอดเพื่อทำให้การเมืองไทยพัฒนามากกว่านี้

-สรุปแล้วที่ผ่านมาการเมืองไทยเป็นแบบคณาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตย

  สังคมไทยเป็นคณาธิปไตยแน่นอน แล้วกลุ่มคณะนี้ยังหลงตัวเองว่ายังเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจ แต่เขาไม่รู้ตัวเลยว่า คณาธิปไตยของพวกเขากำลังชราภาพ กระดูกเล็กลง อ่อนแรงลงไปทุกที เมื่อคณาประชาธิปไตยชราภาพลง ประชาธิปไตยก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น แล้วฐานของชนชั้นกลางก็เริ่มกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด สำนึกทางการเมืองไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในชนชั้นกลางในเมืองหลวงอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ถ้าในอนาคตจะเกิดการรัฐประหารอีก ประชาชนก็จะออกมาต้านอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในสังคมไทย
 
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348659381&grpid=01&catid&subcatid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น