หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นิยายเรื่อง "เสรีภาพ"

นิยายเรื่อง "เสรีภาพ"

 

 
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

 

ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา ม.112 แห่งหนึ่ง (ขออภัยที่ไม่อาจระบุสถานที่ได้เนื่องจากเป็นการ “จัดประชุมเป็นการภายใน”) ผมแสดงความเห็นว่า “หลายคนเข้าใจผิดว่าสังคมการเมืองบ้านเรามีเสรีภาพ แต่จริงๆ แล้วภายใต้การบล็อกเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expressions) ประชาชนไม่เคยมีเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอยู่จริง”



ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งมาจาก “ระบบยุติธรรมไทย” คนหนึ่งแสดงความเห็นว่า “บางทีนักวิชาการก็พูดอะไรไปตามความรู้สึก ความเชื่อของตัวเอง แล้วหลายๆ ครั้งมันก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้เหมือนกัน จริงๆ ถ้าพูดอย่างเป็นวิชาการ เป็นความรู้ มันต้องไปดูข้อเท็จจริงว่ากฎหมายเขาบัญญัติไว้อย่างไร” จากนั้นก็มีการโต้แย้งกันพอหอมปากหอมคอ



ฟังความเห็นของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแล้ว ทำให้ผมนึกถึงที่อาจารย์สมภาร พรมทา ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความเรื่อง “นิติปรัชญา” (วารสารปัญญา วารสารออนไลน์) ประมาณว่า “ผู้พิพากษาหรือคนที่อยู่ในระบบยุติธรรมบ้านเราส่วนมากอาจเก่งเรื่องตัวบทกฎหมาย เทคนิคการใช้กฎหมาย แต่อาจไม่ได้ศึกษาดีพอ หรือไม่ค่อยได้อ่านงานประเภทนิติปรัชญาที่อภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาเรื่องหลักความยุติธรรม อันเป็นหลักการเบื้องหลังของการบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม”




แน่นอนว่า หลักการเบื้องหลังของการบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายที่ถือว่าเป็น “หลักการพื้นฐาน” ที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตยคือ “หลักเสรีภาพ” (the principle of freedom) ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จากระบบความยุติธรรมคนนั้นเข้าใจหลักเสรีภาพว่าอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ในบ้านเราคนในวงการต่างๆ จำนวนไม่น้อยยัง (แสดงออกเสมือน) เข้าใจว่า ตนเองมีเสรีภาพในเรื่องต่างๆ ทว่าจริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ ดังคำอธิบายของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ข้างล่างนี้



อ้อ ผมควรกล่าวด้วยว่า (ผมเขียนไว้ที่อื่นอยู่ แต่อันนี้ ไม่ได้เขียนไป) คำว่า "เสรีภาพ" ผมนิยาม แบบ รุสโซ - ค้านท์ คือ autonomy หรือ self-determination ดังนั้น ประเด็นที่พูดถึงคือ การมีอำนาจหรือความสามารถที่จะ "กำหนดได้เอง" ว่าจะทำเรื่องอะไร อย่างไร


.............


เรื่องที่กำลังอธิบายนี้ ความจริง มันเป็น "บรรทัดฐาน" ไม่เพียงแต่ วิชาการ หรือ sciences ในความหมายสมัยใหม่ อันที่จริง เป็นบรรทัดฐานของชีวิตการเมือง สังคม ของ ความเป็นสมัยใหม่ด้วย


.............


เพราะ สิทธิ หมายถึง "อำนาจที่จะทำอย่างอื่นได้ (แต่เลือกทำอย่างที่ทำ)" หรือ the power to do otherwise เช่น ถ้าเราสามารถ ทำ (ก) หรือ (ข) ก็ได้ เหมือนๆ กัน คือ เลือกได้โดยเสรีแต่ต้น โดยไม่มีข้อจำกัดล่วงหน้า 
 


แล้วเราเลือก (ข) อย่างนี้ แสดงว่า เรากำลังใช้สิทธิ แต่ถ้า ไม่มี choices ให้เลือก (ก) หรือ (ข) แต่แรก การที่เรากระทำ (ข) อันนี้ ไม่เรียกว่า กำลังแสดงสิทธิ (หรือ "ความเห็น") ของเรา แต่แรก เพราะเรา ถูกกำหนด มาแต่แรก (ไม่มี autonomy หรือ SELF-determination แต่แรก)



เรื่อง "วิชาการ" ที่อธิบายข้างต้น ก็เหมือนกัน ไอเดีย เดียวกัน คือ ถ้าไม่มีความสามารถที่จะเลือก A ถึง Z ได้เท่าๆ กัน ถ้า A ถูก "บล็อก" ไว้เสียตัวนึง แต่ต้น (IN THE FIRST PLACE) แล้ว การทำ B ถึง Z ไม่ว่าจะอ้างว่า เพราะ "เห็น" ความสำคัญ หรือ เพราะ "มาจากความสนใจ" อะไรแบบนี้ ก็อ้างไม่ได้ และ กิจกรรม ที่ทำ (B ถึง Z) ก็อ้างไม่ได้ว่า เป็นกิจกรรม ที่เกิดจากการเลือก หรือ มองเห็นความสำคัญของมันเอง ตามวิจารณญาณของเรา แต่แรก



ผมจึงเขียนไว้ที่ fb ทำนองว่า ใครที่ซีเรียส อยากให้งานที่ตัวเองทำ ไม่ว่าเรื่องอะไร มีความหมายเป็น "วิชาการ" แท้จริง ในแง่เป็นอะไรที่เราเลือกเอง เพราะ มอง "เห็น" ความสำคัญ หรือ เพราะ "เราสนใจ" จริงๆ ก็จะต้องร่วมกันรณรงค์ UN-block เรื่อง A



"เลิก บล็อกเรื่อง A สิ .... ฉันจะได้ทำ เรื่อง B ถึง Z ได้ อย่างเป็นวิชาการแท้จริง"



(พูดให้เป็นภาษาปรัชญาอีกหน่อย การ un-block เรื่อง A เป็น conditions of possibilities ของการทำ เรื่อง B ถึง Z ให้เป็นกิจกรรมความรู้ที่แท้จริง)



………………………………….



NO FREEDOM, NO SCIENCES ไม่มีเสรีภาพ ก็ไม่มี ความรู้ / วิชาการ
 


กิจกรรมที่เราเห็นอยู่ และอ้างกันว่า "วงวิชาการ" จึงเป็นอะไร "ปลอมๆ" คับ



(ที่มา http://prachatai3info/journal/2012/10/43193)



“เสรีภาพ” (freedom) ที่ อ.สมศักดิ์พูดถึง หมายถึงเสรีภาพที่เป็น “หลักการสากล” ที่ apply อย่างสากลกับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหมายถึงเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนนั่นเอง ฉะนั้น เมื่อยึดตามบรรทัดฐานของวิชาการสมัยใหม่ที่ยอมรับกันทั่วไปว่า งานวิชาการต้องเป็นงานที่สร้างขึ้นจากการมีเสรีภาพที่ apply ได้อย่างสากล แต่บ้านเราไม่มีเสรีภาพตามความหมายนี้อยู่จริง งานวิชาการตามบรรทัดฐานของการมีเสรีภาพในความหมายนี้จึงไม่มีอยู่จริง



ผมคิดว่าข้อโต้แย้ง (argument) ของ อ.สมศักดิ์ เป็นข้อโต้แย้งที่มีประโยชน์ต่อวงวิชาการ (ถ้าคิดว่ามี) ในบ้านเรามาก มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมีปัญหากับ “ท่าทีแบบสมศักดิ์” เลย แต่ปัญหาคือ เรายอมรับความจริงหรือไม่ว่าสิ่งที่เรียกว่างานวิชาการในบ้านเรานั้นไม่ได้สร้างขึ้นจากการมีเสรีภาพจริง และควรเป็น “ความรับผิดชอบ” หรือเป็น “หน้าที่ที่ต้องทำ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ “นักวิชาการ” หรือไม่ที่จะสร้างงาน (ที่ตนถือว่าเป็น) วิชาการที่มีเนื้อหา “ปลดล็อค” ให้สังคมนี้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง (เช่น งานแบบจิตร ภูมิศักดิ์ นิติราษฎร์ เป็นต้น)



การอำพราง หรือสร้าง “นิยาย” ว่า ประชาชนมีเสรีภาพ เป็นเรื่องที่เห็นได้อยู่เสมอ เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่า



“...อีกทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่งแต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง” (http://www.prachatai.com/journal/2012/1043096)



คำวินิจฉัยนี้สะท้อนให้เห็นความเก่งเรื่องตัวบทกฎหมาย และเทคนิคการใช้กฎหมายอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้สะท้อน “ความเข้าใจ” หรือ “การเคารพคุณค่า” ของ “หลักการเบื้องหลัง” ของการบัญญัติกฎหมายในสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด เช่น ข้อความว่า “...ไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ…”
 


ถามว่า “เสรีภาพ” ที่รัฐธรรมนูญรับรองคือเสรีภาพในความหมายใด? คือเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนใช่หรือไม่? ถ้าใช่ เสรีภาพนี้ต้องเป็นหลักการสากลที่ apply กับทุกคนอย่างเท่าเทียมใช่หรือไม่? และถ้าใช่อีก การที่ ม.112 บล็อกไม่ให้สามารถใช้เสรีภาพอย่างสากลกับทุกบุคคลสาธารณะได้ จะบอกว่า ม.112 ไม่กระทบต่อ “สาระสำคัญของเสรีภาพ” ได้อย่างไร ในเมื่อสาระสำคัญของเสรีภาพที่โลกประชาธิปไตยสมัยใหม่เขายอมรับกัน คือความเป็น “หลักการสากล” ที่ใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม



ฉะนั้น ถ้าถือตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่า “ประชาชนมีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา” แต่เสรีภาพที่ว่านี้เราต้องเข้าใจว่า “ไม่ใช่เสรีภาพในความหมายที่เป็นหลักการสากลตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน” จึงเท่ากับประชาชนไม่เคยมีเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอยู่จริง



ที่เราอ้างกันว่า เรากำลังใช้เสรีภาพทางวิชาการ ใช้เสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ใช้เสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาล นักการเมือง ฯลฯ หรือที่สื่อมวลชนประกาศว่า “เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน” เป็นต้นนั้น ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เสรีภาพในความหมายที่เป็นสากลตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเลย แต่เราทำเสมือนว่าเรามีสิ่งนี้ 
 


เราสร้าง “นิยายเสรีภาพ” เรา “หลอกตัวเอง” มาตลอดใช่หรือไม่?



และแล้วปัญหาสำคัญที่สุดคือ “เสรีภาพที่เป็นหลักการสากล คือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม” แต่ภายใต้ระบบสังคมการเมืองบ้านเราที่ไม่มีเสรีภาพในความหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรายงานวิจัยเรื่อง “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ของสถาบันพระปกเกล้า รายงานการสลายการชุมนุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานการค้นหาความจริงของ คอป. ฯลฯ รวมถึงรายงานข่าว การถกเถียงในสื่อต่างๆ ย่อมไม่มีทางที่จะให้ภาพ “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” อย่างแท้จริงได้เลย



ยิ่งกว่านั้น สังคมเรายัง “ไม่สามารถ” จะมีพื้นที่ทางวิชาการ พื้นที่ของสื่อที่เปิดให้กับการถกเถียง “อย่างอิสระ” ในการค้นหาความจริงและความยุติธรรม ในประเด็นปัญหาใหญ่สุดของประเทศที่กระทบต่อความเป็นประชาธิปไตย กระทบต่อวิถีชีวิตทางสังคมการเมืองสมัยใหม่ แม้กระทั่งกระทบต่อชีวิตเลือดเนื้อ ความสูญเสีย ความตายของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา 
 


และแน่นอน สังคมเราย่อม “ไม่สามารถตลอดไป” ที่จะมี “พื้นที่” ให้กับการแสวงหา “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” ในปัญหาใหญ่สุดดังกล่าวได้จริง ตราบที่เรา (นักวิชาการ สื่อ นักการเมืองฯลฯ) ไม่พยายามช่วยกันหาทาง “ปลดล็อค” ให้ระบบสังคมการเมืองของบ้านเรามี “เสรีภาพ” ตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง!

 
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350782239&grpid=03&catid&subcatid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น