หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คำถามซ้ำๆ แต่ต้องย้ำบ่อยๆ การปฏิวัติสังคมนิยม มีหน้าตาอย่างไร?

คำถามซ้ำๆ แต่ต้องย้ำบ่อยๆ การปฏิวัติสังคมนิยม มีหน้าตาอย่างไร? 


 
มาร์คซ์เสนอว่าสาเหตุหนึ่งที่กรรมาชีพต้อง ปฏิวัติ ก็เพื่อที่จะปฏิวัติแนวคิดตนเองด้วย คือคนมักจะกล้าคิดนอกกรอบท่ามกลางการต่อสู้ แนวคิดที่ไม่เกิดความเท่าทียมและยุติธรรมจะเลือนหายไป  แต่อย่างไรก็ตามความคิดเก่าก็จะยังดำรงอยู่ระยะหนึ่ง การต่อสู้จึงไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ

โดย เรดชิพ 
(เรียบเรียงจาก นสพ.ประชาธิปไตยแรงงาน พ.ค.2546)

ระบบทุนนิยมโดยโครงสร้างคือ การขูดรีดมูลค่าส่วนเกินที่กรรมาชีพผลิตขึ้นโดยชนชั้นผู้ครอบครองปัจจัยการ ผลิต(นายทุน) ชนชั้นปกครองซึ่งเป็นคนส่วนน้อยสามารถกระทำการขูดรีดจากกรรมาชีพได้ เพราะเราเป็นผู้ไร้ปัจจัยการผลิต ถ้าเราไม่ทำงานเราก็อดตาย การขูดรีดไม่ได้กระทำไปเพื่อให้นายทุนบริโภคเองเป็นหลักหรือเพราะนายทุนโลภ แต่กระทำไปเพื่อสะสมส่วนเกินคือทุนเพื่อลงทุนต่อไป พลังทุนที่กรรมาชีพสร้าง แต่นายทุนขโมยเอาไปจึงกลายเป็นอำนาจในการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ
             
จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนายทุนและกรรมาชีพขัดแย้งกันโดยพื้น ฐาน ถ้าเราได้ค่าจ้างเท่ากับมูลค่าที่เราผลิตจริง นายทุนจะไม่มีกำไรเพื่อลงทุนต่อและจะไม่มีอำนาจในการแข่งขันกับกลุ่มทุนอื่น รัฐที่ใครๆ สอนเราว่า "เป็นกลาง" หรือ "เป็นของประชาชนทั้งชาติ" กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนที่พยายามสร้างกลไกต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นของตนอยู่ตลอดเวลา ชนชั้นกรรมาชีพหรือชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมจึงเสียผลประโยชน์อยู่ตลอด เวลา ยกตัวอย่างเช่น รัฐนายทุนระบุผ่านกฎหมายและรัฐธรรมนูญว่าการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากคนจนและ ผู้ใช้แรงงานโดยนายทุนในรูปแบบกำไรเป็นสิ่ง"ชอบธรรมและไม่ใช่การขโมย"  แต่ในทางตรงกันข้ามการเข้าไปยึดที่ดินนายทุนเพื่อทำกินโดยเกษตรกรยากไร้ กลับถูกกำหนดว่าเป็นอาชญากรรม  เป็น"การขโมยที่ผิดกฏหมาย" หรือการยึดโรงงานโดยกรรมกรก็ถูกมองว่า "ผิด" เช่นกัน  เมื่อมีการระบุว่าการกระทำเหล่านี้ "ผิดกฏหมาย" รัฐนายทุนจึงมีกองกำลัง ตำรวจ ทหาร ศาล และคุก ตะรางหนุนหลังเพื่อรักษาวินัยของการขูดรีด
               
นี่คือสาเหตุที่นักมาร์คซิสต์พูดมาตลอดว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ในการกดขี่ชนชั้นอื่นๆ รัฐทุนนิยมไม่เคยเป็นกลางไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ว่าเราจะมีประชาธิปไตยรัฐสภา และไม่ว่าเราจะมี "ประชาสังคม"แบบไหน

ทำไมต้องปฏิวัติ?
             
หลายคนมองว่า "การปฏิวัติสังคม" เป็นความรุนแรง เป็นเรื่องสุดขั้ว เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่แค่ศึกษาประวัติศาสตร์ของทุกประเทศสักนิด ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ ก็จะพบว่าความก้าวหน้าของสังคมทุกครั้ง ทุกหนแห่ง มาจากการปฏิวัติ สิทธิเสรีภาพที่เรามีอยู่ก็มาจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร และการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนเมื่อ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ หรือ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕
               

การปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างระบบรัฐ การเมือง และเศรษฐกิจ ในสังคมทุนนิยมที่เต็มไปด้วยการขูดรีด ความไม่เสมอภาค และความรุนแรงของสงครามและการกดขี่ มันเป็นวิธีการเดียวที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมมากที่สุดในด้านต่าง ๆ เพราะการปฏิวัติเท่านั้นที่จะทำลายระบบทุนนิยมและเปลี่ยนให้เป็นระบบ สังคมนิยมได้ การปฏิวัติไม่ใช่การรัฐประหาร ที่นายทหารจำนวนหนึ่งเอารถถังออกมายึดสถานีโทรทัศน์ ออกแถลงการณ์ ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วตั้งตัวเองเป็นใหญ่  ในหลายๆ ประเทศอย่างบราซิล นักสังคมนิยมประเภท "ค่อยเป็นค่อยไป" หรือที่เราเรียกว่าแนว "ปฏิรูป" มักต่อต้านการปฏิวัติและเสนอให้เราเปลี่ยนสังคมผ่านรัฐสภาทุนนิยมแทน แต่พอพรรคสังคมนิยมแบบนี้เข้าไปในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลก็จะประนีประนอมกับ อำนาจรัฐทุนนิยมเสมอ เพราะการได้เป็นรัฐบาลไม่ใช่สิ่งเดียวกับการคุมอำนาจรัฐ การคุมอำนาจรัฐของนายทุนไม่ได้อาศัยแค่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา มันอาศัยอำนาจที่มาจากการควบคุมการผลิต และการควบคุมกฏหมายและกองกำลังต่างๆ ยิ่งรัฐที่คุมโดยข้าราชการ และพวกอนุรักษ์นิยมที่ล้าหลัง การได้มาซึ่งรัฐบาลอาจไร้อำนาจสั่งการ กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด หรือประนีประนอมกับอำนาจเก่าเพื่อตบตาประชาชนไปวันๆ

ปฏิวัติแล้วได้อะไร
         
เมื่อปฏิวัติเพื่อล้มระบบทุนนิยมได้แล้ว  รัฐที่เป็นเครื่องมือของนายทุนก็จะล่มสลายลงไป พร้อมกับระบบกรรมสิทธิ์เอกชนของนายทุน การเป็นเจ้าของในปัจจัยการผลิตที่เดิมเป็นของนายทุน  ก็จะกลายเป็นของส่วนรวมทำให้เกิดการแจกจ่ายและกระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ที่อด อยาก กรรมาชีพที่ทำการผลิตจะควบคุมการผลิตกันเอง จะกำหนดเป้าหมายและวิธีการผลิตผ่านสภาคนงานที่มีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เพื่อแจกจ่ายสินค้าและตอบสนองความต้องการของคนภายในประเทศ  เพื่อขจัดความอดอยากยากจน ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดความเป็นไปของสังคมในทุกเรื่อง และร่วมสร้างสรรค์โลกใหม่ด้วยกัน ลดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ลดความแตกต่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจน ลดความแตกต่างระหว่างชนชาติและเพศ และเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด
           
บ่อยครั้งจะมีคนบ่นว่ามาร์คซ์ หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ ไม่เคยลงรายละเอียดว่าสังคมนิยมจะเป็นอย่างไร การไม่เสนอรายละเอียดเป็นเรื่องจงใจ เพราะสังคมนิยมต้องร่วมกันสร้างร่วมกันกำหนด

กรรมาชีพต้องปลดแอกตัวเอง
               
การปฏิวัติต้องกระทำโดยกรรมาชีพเอง ด้วยจิตสำนึกทางชนชั้นที่ต้องการสร้างโลกใบใหม่ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ในมุมมองมาร์คซิสต์ กรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการปฏิวัติเพราะเป็นผู้ที่มความสัมพันธ์กับระบบการ ผลิตมากที่สุด  เมื่อกรรมาชีพหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายทุนและรัฐ จะเห็นพลังอำนาจต่อรองที่สูง พลังนี้นำมาใช้ในการปฏิวัติตัวเองของกรรมาชีพได้  ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดขึ้นด้วยจิตสำนึกของกรรมาชีพเอง จากล่างสู่บน  มิใช่ให้ใครมาปฏิวัติหรือทำแทน เหมือนในประเทศ จีน คิวบา เวียดนาม ที่เป็นการปฏิวัติจากบนลงล่าง และนำมาซึ่งเผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ
               
เวลาเราพูดว่ากรรมาชีพมีพลัง "ซ่อนเร้น" คำนี้มีความสำคัญ พลังของกรรมาชีพไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้ากรรมาชีพไม่รวมตัวกัน ไม่สู้ ไม่มีจิตสำนึก ในการปฏิวัติกรรมาชีพต้องอาศัยพรรคและจิตสำนึกที่เป็นสากลนิยม การต่อสู้แนวของ NGOs ในขบวนการภาคประชาชนของไทย ที่ปฏิเสธการสร้างพรรคแต่อยู่ในลักษณะเครือข่ายหลวม ๆ ถูกพิสูจน์มาหลายสิบปีแล้ว ว่าไม่ได้ผล ทุกวันนี้ขบวนการภาคประชาชนหากไม่นำตนเอง ไม่มีทฤษฏีการเมืองของตนเอง มีแต่การเรียกร้องหรือวิงวอนให้รัฐหรือพรรคนายทุนมาช่วย ก็มีแต่จะบั่นทอนพลังของตนเองลงไป

ชาวมาร์คซิสต์เสนอให้สร้างพรรคของกรรมชีพที่มีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้

1.ยึดถือผลประโยชน์ของกรรมาชีพเป็นหลัก เข้าใจว่าสังคมเรามีชนชั้นที่มีผลประโยชน์ต่างกัน เราจึงไม่รักชาติตามคำกล่อมเกลาของนายทุนแต่เรารักเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกใน ลักษณะสากล กรรมาชีพทั่วโลกไม่ว่าจะที่ประเทศใด นับถือศาสนาใด ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนทั้งสิ้น ฉะนั้นกรรมาชีพทั่วโลกคือคนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน  ดังนั้นกรรมาชีพทั้งมวลจึงต้องสามัคคีกัน และต้องสร้างแนวร่วมกับผู้ถูกกดขี่ทั้งปวงที่ไม่ใช่กรรมาชีพด้วย

2.ภายในตัวพรรคต้องมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่ทุกคนร่วมกันสร้างนโยบายที่ เป็นประโยชน์ต่อกรรมาชีพ ไม่ใช่เป็นเผด็จการจากบนลงล่างเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต หรือแม้แต่องค์กรเอ็นจีโอปัจจุบันที่ไม่เคยเลือกตั้งผู้นำแถมยังหยิบยืมระบบ อาวุโส และระบบอุปถัมภ์มาใช้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สมาชิก

3.พรรคต้องอาศัยเงินโดยการเก็บค่าบำรุงจากสมาชิกภายในพรรคเองเพื่อป้องกัน การครอบงำจากนายทุน หรือใครคนใดคนหนึ่งแบบระบบเจ้าพ่อ จึงเป็นพรรคของกรรมาชีพเองที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

4.พรรคต้องเข้าใจธาตุแท้ของรัฐนายทุนและระบบทุนนิยม ไม่ใช่หลงคิดว่าระบบนี้เปลี่ยนแปลงได้ภายในรัฐสภา หรือการประนีประนอมหมอบกราบ หรือแค่แก้กฎหมายเพียงบางฉบับ

การปฏิวัติ
           
ถ้าดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การปฏิวัติกรรมาชีพในอดีตมักจะก่อตัวขึ้นท่ามกลางวิกฤตสังคม ในขั้นตอนแรกมีการเดินขบวน การนัดหยุดงานและการต่อสู้รูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลาย แต่การต่อสู้ธรรมดาๆ จะเริ่มตกผลึกกลายเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ  ต่อเมื่อมีการรวมตัวกันอย่างจริงจังเพื่อบริหารสังคมของคนชั้นล่าง ในการรวมตัวดังกล่าวย่อมต้องมีเวทีหรือสภาของกรรมาชีพและสามัญชนเกิดขึ้น เป็นเวทีแห่งการถกเถียงอย่างเสรี บนความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมเต็มที่ ไม่ใช่สภาแบบรัฐสภาในระบบทุนนิยมอย่างทุกวันนี้
             
นักปฏิวัติที่เป็นสามัญชนไม่ได้แสวงหาความรุนแรง แต่แน่นอนฝ่ายอำนาจรัฐเก่าจะใช้ความรุนแรงก่อนเสมอ อย่าในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ และเหตุการณ์พฤษภา ดังนั้นมวลชนปฏิวัติจะต้องหาทางปลดอาวุธนายทุน เหล่าอำมาตย์ และกองกำลังของพวกชนชั้นปกครองเช่นการชักชวนให้ทหารตำรวจชั้นผู้น้อยเปลี่ยน ข้าง  การ"ปฏิเสธความรุนแรง" ของฝ่าย "สันติวิธี" ไม่ใช่แนวทางที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงแต่อย่างใดเพราะฝ่ายประชาชนไม่ได้ เป็นผู้กำหนด ตรงกันข้ามเราจะยิ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยปราศจากการเตรียมพร้อม

หลังการปฏิวัติ

หลายคนมักถามว่า ถ้าปฏิวัติสังคมนิยมแล้วโลกในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร  เรื่องนี้คงตอบไม่ได้ทั้งหมดแต่พอจะบอกได้ว่าสังคมนิยมโดยพื้นฐานจะมี ลักษณะดังต่อไปนี้

1.ระบบกรรมสิทธ์เอกชนในปัจจัยการผลิตจะหายไป  การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจะถูกยึดเป็นของส่วนรวม และทำการผลิตเพื่อลดความอดอยากของมนุษย์  มนุษย์จะมีแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น

2.จะเกิดระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพราะปัจจัยการผลิตไม่ได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่งแต่งเพียงคนเดียว แต่เป็นของส่วนรวม

การต่อสู้ระหว่างแนวคิดใหม่และเก่า
             
การปฏิวัติเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในหนึ่งวัน ก่อนการปฏิวัติขบวนการปฏิวัติจะต้องช่วงชิงความคิดกับความคิดเก่าๆ ของเหล่าอนุรักษ์นิยม และเสรีนิยมบางพวก ที่ต้องการปกป้องระบบเดิม การปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่พร้อมจะลองความคิดใหม่เพราะหมด ความศรัทธาในระบบเก่าแล้ว  และเมื่อปฏิวัติสำเร็จก็ยังมีผู้ที่ยึดแนวความคิดเก่าที่เป็นแนวคิดที่ รักษาไว้ซึ่งอำนาจของตนคือพวกนายทุน พวกอำมาตย์ ที่เคยมีปัจจัยการผลิต  ในระยะนี้เป็นช่วงเวลาของการกำจัดขยะทางความคิดที่ล้าหลังออกไปจากใจคน
             
มาร์คซ์เสนอว่าสาเหตุหนึ่งที่กรรมาชีพต้องปฏิวัติ ก็เพื่อที่จะปฏิวัติแนวคิดตนเองด้วย คือคนมักจะกล้าคิดนอกกรอบท่ามกลางการต่อสู้ แนวคิดที่ไม่เกิดความเท่าทียมและยุติธรรมจะเลือนหายไป  แต่อย่างไรก็ตามความคิดเก่าก็จะยังดำรงอยู่ระยะหนึ่ง การต่อสู้จึงไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ อย่าลืมว่าไม่มีพรรคปฏิวัติ ก็ย่อมไม่มีการปฏิวัติ และการปฏิวัติในทางความคิดต้องมีอยู่ตลอด
               
สิ่งที่เราต้องทำคือผลักดันให้การต่อสู้ทางความคิดแบบใหม่ชนะเพื่อประโยชน์ ของส่วนรวม นี่คือสาเหตุที่เราต้องสร้างรัฐกรรมาชีพขึ้นมาเพื่อทำลายอำนาจเดิมๆ ของชนชั้นนายทุน อำมาตย์ และพวกอนุรักษ์นิยมทั้งหลายในขั้นตอนแรกๆ เพื่อคงไว้ซึ่งสังคมที่เท่าเทียม เกิดเป็นสังคมคนรุ่นใหม่ที่รู้จักความเท่าเทียมจริง ๆ เขาจะร่วมกันสถาปนาโลกใหม่ต่อไปให้สมบูรณ์  ถ้าเราถึงจุดนั้น จุดที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีการขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบ เราก็ไม่ต้องมีรัฐและไม่ต้องมี"การปกครอง" อย่างที่เราเข้าใจกัน เราจะมีแต่ชุมชนมนุษย์และความสร้างสรรค์เต็มรูปแบบของมนุษย์ที่เสรี


(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/06/blog-post_7362.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น