หน้าเว็บ

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

6 ปีหลังรัฐประหาร สงครามคู่ขนาน: ประชาชนหรือนายทุน 'เสื้อแดง' หรือ 'ทักษิณ'

6 ปีหลังรัฐประหาร สงครามคู่ขนาน: ประชาชนหรือนายทุน 'เสื้อแดง' หรือ 'ทักษิณ'

 

 
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ 
 
ในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ 70 ปีก่อน มีสงครามคู่ขนานในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ คือเยอรมัน อิตาลี่ และญี่ปุ่น เพราะประชาชนธรรมดา โดยเฉพาะมวลชนก้าวหน้า สู้เพื่อทำลายระบบฟาซิสต์เผด็จการ และสู้เพื่อเสรีภาพกับความเท่าเทียม คนจำนวนมากยังสู้เพื่อสังคมนิยมอีกด้วย แต่ฝ่ายชนชั้นปกครองทุนนิยม ตลาดเสรีในอังกฤษ สหรัฐ กับฝรั่งเศส และชนชั้นปกครอง “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในเผด็จการคอมมิวนิสต์รัสเซีย สู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและจักรวรรดินิยมเท่านั้น แต่ในการปลุกระดมมวลชนให้รบในกองทัพของรัฐบาล ชนชั้นปกครองต้องใช้วาจาในการสร้างภาพว่า สงครามนั้นเป็น “สงครามต้านฟาสซิสต์เพื่อเสรีภาพ” ในขณะเดียวกัน โรสเวลต์ เชอร์ชิล และสตาลิน เคยแสดงความพร้อมที่จะทำข้อตกลงจับมือกับฟาสซิสต์

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกอย่างผิวเผิน เราอาจมองไม่เห็นว่า สงครามของประชาชน กับสงครามของนายทุนประเทศพันธมิตรต่างกันเท่าไร เพราะทั้งสองรบกับฝ่ายอักษะ วิกฤติไทยหลัง 19 กันยา มีส่วนคล้ายตรงนี้ ถ้าดูผิวเผินอาจมองว่า เสื้อแดงกับทักษิณสู้กับศัตรูเดียวกัน

ใน “สงคราม” ของเสื้อแดงกับอำมาตย์หลังรัฐประหาร 19 กันยา ก็มีสองสงครามคู่ขนานเช่นกัน คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ร่วมกันสร้างขบวนการเสื้อแดงและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีการแทรกแซงโดยอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆ และท่ามกลางการต่อสู้ มีการตื่นตัวมากขึ้นจนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มมองสังคมไทยจากมุมมองชนชั้น อย่างน้อยก็มองว่า มีสองฝ่ายหลักคือ “เรา” ที่เป็น “ไพร่” กับ “เขา” ที่เป็น “อำมาตย์กับพรรคประชาธิปัตย์ และสลิ่มฟาสซิสต์” และเสื้อแดงเหล่านี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนสังคมไทย ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย และเขาเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งเหล่านี้




แต่ฝ่ายทักษิณกับพรรคพวกไม่ได้สู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่าเทียมแต่อย่างใด เขาไม่ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ไม่ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง และไม่ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป้าหมายของเขา คือการกลับมาปรองดองกับคู่ขัดแย้ง และเพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาพ “ปกติ” ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด อย่างที่เป็นก่อน 19 กันยา

ทักษิณพูดเองเมื่อต้นปี 2555 ว่า เขามองว่า วิกฤตไทยมาจากการทะเลาะกันระหว่างนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพวก กับทักษิณและพรรคพวกของเขา และแน่นอนคำพูดนี้เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างถึงที่สุด เพราะตัดบทบาทของทหารที่ทำรัฐประหารและฆ่าประชาชนออกไปหมด และลบทิ้ง “สงคราม” ของประชาชนเสื้อแดง เพื่อให้มีแค่การต่อสู้เพื่อตัวทักษิณเอง สรุปแล้ว ในความฝันของทักษิณ คนเสื้อแดงเป็นแค่ไพร่รับใช้ทักษิณเท่านั้น

เป้าหมายของทักษิณและพรรคพวก โดยเฉพาะนักการเมืองเพื่อไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือแค่การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและอภิสิทธิ์ชนซีกทักษิณ นั่นคือสาเหตุที่รัฐบาลปัจจุบันเต็มไปด้วยรัฐมนตรีที่ไม่เคยสู้เพื่อประชาธิปไตย และหลายคนก็มีประวัติการเป็นโจรอีกด้วย และเป้าหมายของทักษิณกับยิ่งลักษณ์หมายความว่า จะไม่กล่าวถึงอาชญากรรมของทหาร เพราะจับมือจูบปากทหารแล้ว จะไม่ลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอคณะนิติราษฏร์ และจะไม่ป้องกันไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองอีก

ในสงครามคู่ขนานที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างน้อยชนชั้นปกครองยังให้เกียรติทหารธรรมดาที่ล้มตายในสงครามบ้าง แต่ในกรณีสงครามเสื้อแดงไม่มีเลย ทักษิณกับเพื่อไทย “ถุยน้ำลายใส่” วีรชนเสื้อแดงที่เสียสละในการต่อสู้ และทำการปรองดองบนซากศพเขา ไม่มีการนำทหารกับนักการเมืองประชาธิปัตย์มาขึ้นศาล และมีการปล่อยให้นักโทษการเมืองติดคุกต่อไปจนบางคนต้องตายในคุก แต่เราอธิบายได้ เพราะถ้ามีการนำทหารและนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์มาขึ้นศาลในคดี “อาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน” ในอนาคตอาจนำทักษิณมาขึ้นศาลได้ในคดีอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชนที่ตากใบ และในเรื่องการฆ่าวิสามัญยาเสพติด คำขวัญสำคัญของชนชั้นปกครองไทยคือ “เรารู้จักปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราเสมอ” นั้นคือสาเหตุที่ผมเชื่อว่า แม้แต่ อภิสิทธิ์ หรือสุเทพ จะไม่ถูกนำมาลงโทษ อย่าว่าแต่ทหารมือเปื้อนเลือดเลย และสิ่งที่เราเห็นอยู่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือการสืบคดีสไนเปอร์ เป็นแค่ละครตลกร้ายเท่านั้น

ในสงครามของประชาชนชั้นล่าง สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง บ่อยครั้งประชาชนชั้นล่างสามารถปลดแอกตนเองโดยการเอาชนะฝ่ายอักษะได้ โดยไม่อาศัยกองกำลังของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น การปลดแอกเมืองปารีส การปลดแอกประเทศกรีซ หรือมลายู ซึ่งกระทำโดยกองกำลังของแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกตอนนั้น มองว่าภาระหลักคือการสนับสนุนรัสเซียภายใต้สตาลิน และการเคารพข้อตกลงที่สตาลินมีกับผู้นำตะวันตก ดังนั้นกองกำลังของประชาชนที่ปลดแอกตนเอง กลับยอมมอบอาวุธให้ศัตรูและสลายตัว ผลคือการ “กลับสู่สภาพปกติ” ของทุนนิยมในฝรั่งเศสและกรีซ และการ “กลับสู่สภาพปกติ” ของการเป็นอาณานิคมของมลายู

สำหรับสงครามเสื้อแดง แกนนำ นปช. ซึ่งบางคนเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ก็มองว่า ภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทย “กลับคืนสู่สภาพปกติท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด” ดังนั้นทั้งๆ ที่มีการใช้วาจาสร้างภาพว่าจะ ไม่ “ทอดทิ้งกัน” แกนนำ นปช. ก็ค่อยๆ สลายขบวนการเสื้อแดง และหันหลังให้กับนักโทษการเมือง โดยเฉพาะนักโทษ 112 ไม่มีการรณรงค์อย่างเต็มที่ให้ลบผลพวงของรัฐประหาร ให้มีการยกเลิก 112 และให้มีการนำทหารและนักการเมืองประชาธิปัตย์มาขึ้นศาลแต่อย่างใด และเวลาก็ผ่านไปกว่าหนึ่งปีหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งแล้ว

แต่อย่าเข้าใจผิดว่า การออกมาต่อสู้ของประชาชนเสื้อแดงเป็นเรื่องสูญเปล่า อย่าเข้าใจผิดว่า การออกมาต่อสู้ของประชาชนไม่เคยได้อะไร อย่าเข้าใจผิดว่าเราต้องถูกแกนนำหลอกเสมอ

ถ้าเสื้อแดงไม่ได้ออกมาสู้ เราจะไม่มีกระแสสำคัญๆ ในสังคมไทยที่อยากปฏิรูปการเมืองจริงๆ เช่น การรณรงค์ของนิติราษฎร์หรือผู้ที่ต้องการจัดการกับกฏหมาย 112 และถ้าพวกเราไม่ได้ออกมาสู้ อำมาตย์ก็จะมั่นใจยิ่งกว่านี้ว่า ทำอะไรกับเราก็ได้ เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็อาจไม่เกิดด้วย

การที่แกนนำ นปช. สามารถทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้ ไม่น่าจะทำให้เราแปลกใจมากเกินไป ถ้าเราเข้าใจว่า เสื้อแดงก้าวหน้าบกพร่องในการสร้างองค์กรทางการเมืองที่อิสระจาก นปช. เหมือนกับที่ประชาชนก้าวหน้าสมัยสงครามโลก มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถสร้างองค์กรฝ่ายซ้ายที่อิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินได้

การต่อสู้ของมวลชน... ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้... การเสียเลือดเนื้อของประชาชน... การเลือกตั้ง... การปรองดองของชนชั้นปกครองบนซากศพวีรชน... ฆาตกรลอยนวล... อำนาจอำมาตย์ถูกปกป้อง... พรรคการเมืองทำลายความฝันของประชาชน:  นั้นคืออ่างน้ำเน่าของการเมืองไทยในรอบห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเราอยากให้เรื่องแบบนี้จบสักที คนก้าวหน้าต้องรู้จักรวมตัวกันทางการเมืองในลักษณะที่อิสระจากพวก “ผู้ใหญ่” เราต้องมาร่วมกันสร้าง “พรรคสังคมนิยม”

พรรคสังคมนิยมมีหน้าที่สร้างผู้ปฏิบัติการจากคนที่เข้าใจประเด็นการเมืองทางชนชั้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการขยายความคิดนี้ไปสู่คนส่วนใหญ่ที่มีความคิดกลางๆ ระหว่างความก้าวหน้ากับความล้าหลัง หรือระหว่างความเป็นซ้ายกับความเป็นขวา พรรคไม่ได้ตั้งเป้าหมายหลักในการทำงานกับคนที่ล้าหลังที่สุด ถูกกดขี่มากที่สุด หรือเข้าใจการเมืองน้อยที่สุดเพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนความคิดง่ายๆ นั้นคือสาเหตุที่พรรคฝ่ายซ้ายควรทำงานกับคนเสื้อแดง ก่อนที่ขบวนการนี้จะสูญหายไปหมดภายใต้นโยบายของ นปช. และเพื่อไทย

แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งจะนำไปสู่เสรีภาพแท้ได้ การเปลี่ยนสังคมดังกล่าวต้องเป็นการกระทำของมวลชนส่วนใหญ่เอง จากล่างสู่บน ไม่ใช่การกระทำของกลุ่มเล็กๆ หรือ "กองหน้า
"
พรรคสังคมนิยมต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต

เราไม่ควรไปเสียเวลากับคนชั้นกลางเท่าไร เพราะในวิกฤตปัจจุบัน และในยุค 6 ตุลา คนชั้นกลางส่วนใหญ่ในไทยเลือกข้างของความป่าเถื่อน และทั่วโลกมักเป็นพลังสำคัญของกระแสฟาสซิสต์

พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา พรรคต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนมีเงิน และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรค คือการเป็นพรรคของมวลชนจริงๆ การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

พรรคสังคมนิยมไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่างที่โกหกว่า “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้คุณทุกอย่าง” ในระยะสั้นพรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน การจดทะเบียนพรรคจึงไม่สำคัญ อย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบปัจจุบันอาจเป็นโอกาสดีสำหรับการโฆษณาแนวคิดในอนาคต พรรคจะต้องเป็นแหล่งรวมของประสบการณ์และทฤษฎีการต่อสู้ แหล่งรวมของนักเคลื่อนไหวไฟแรง และเป็นเครื่องมือในการประสานงานและปลุกระดมการต่อสู้ในหมู่กรรมาชีพกับคนจน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยตามความไฝ่ฝันของเสื้อแดง

พูดง่ายๆ พรรคสังคมนิยมควรรับภาระในการต่อสู้ต่อไปของคนชั้นล่าง ท่ามกลางการหักหลังทรยศของพรรคเพื่อไทยและ นปช.

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น