จาก"มือที่สาม" ถึง"ชายชุดดำ" มุขเด็ดคดี 98 ศพ
ลำพังฆ่าคนตายคนเดียว ก็หืดขึ้นคอ ด้วยระวางโทษระดับประหารไปจนถึงจำคุก
แต่นี่ 98 ศพ
คดีพยายามฆ่าก็เช่นกัน
สามัญชนทั่วไป เจอข้อหาพยายามฆ่าเข้าไป ผู้เสียหาย 1-2 คน ก็เห็นตะรางลอยมาลิบๆ
แต่นี่พยายามฆ่าล็อตยักษ์ 2,000 คน
นับเป็นคดีใหญ่ที่ท้าทายทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย
แม้นักสิทธิมนุษยชนตำรับไทยจะยืนยันหนักแน่นว่า เป็นการกระทำสมควรแก่เหตุ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ก็ยากที่จะทำให้วิญญูชนเห็นด้วย
ปัญหาของคดี 98 ศพ เริ่มต้นจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง
แต่รัฐบาลขณะนั้น ตัดสินใจใช้กำลังทหารติดอาวุธออกดำเนินการ แทนที่จะใช้หน่วยปราบจลาจล
เป็นความผิดพลาดประการแรก และประการสำคัญ
แม้จะมีความพยายามป้องกันตัวไว้ก่อน ด้วยการประกาศใช้กฎหมายสำหรับสถานการณ์พิเศษ
แม้จะมีการประกาศใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
การใช้กำลังทหารในตอนย่ำค่ำ ที่สี่แยกคอกวัว คือความผิดพลาดต่อมา
การใช้สไนเปอร์ลอบยิงผู้ชุมนุม ผลคือมีผู้เสียชีวิตในลักษณะที่โดนกระสุนเข้าที่ศีรษะ ใบหน้า จำนวนมากผิดสังเกต
แม้เมื่อมีโอกาสที่จะหยุดการปะทะได้ แต่กลับเดินหน้าและถลำลึก จนกระทั่งตัวเลขเดินทางไปถึง 98 ศพ
ซึ่งปิดท้ายด้วยการสังหาร 6 ศพ ที่วัดปทุมวนารามฯ หลังจากแกนนำเสื้อแดง ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว
เมื่อมาถึงจุดนี้ คำถามสำคัญคือ ใครสังหาร 98 ศพ ใครสั่งการ และใครต้องรับผิดชอบ
หลังจาก 3 ก.ค.2554 คดี 98 ศพ ที่โดนแช่เย็นมาอย่างยาวนาน กลับคืนชีพมาอีกครั้ง
คำแถลงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ล่าสุด ระบุว่า มีหลักฐานชี้ชัดว่า มีผู้เสียชีวิตเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ 38 ศพ จากทั้งหมด 98 ศพ
ขณะที่การเบิกความ การให้ปากคำของผู้เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นภาพของเหตุการณ์ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ว่า ใครสั่งการ ใครดำเนินการ
ชื่อเสียงเรียงนามของพลซุ่มยิง หรือพลแม่นปืน ก็ปรากฏต่อสังคมไปแล้ว
แต่ความจริงแท้ที่ต้องยอมรับคือ ไม่มีทางที่คดีนี้จะเดินหน้าไปสู่ข้อสรุปอย่างราบรื่น โดยไร้ข้อโต้แย้ง
ด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ
ประการหนึ่ง เป็นการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่สองฝ่ายมีสิทธิเท่าๆกัน แตกต่างจากกระบวนการพิเศษหลังการปฏิวัติรัฐประหาร
ประการหนึ่ง คดีมีเดิมพันระดับคุกตะราง และจะเป็นความผิดติดตัว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำเสนอ "ชายชุดดำ" เข้ามาในคดี
โดยกำหนดให้มีบทบาทเป็นเจ้าของผลงานการสังหาร ทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐบาล
หลังจากโหมโรงมา 2 ปี นับเป็นโอกาสดีที่จะได้พิสูจน์เรื่องราวและศักยภาพของชายชุดดำ
ด้วย เหตุนี้ จึงมีการนำเสนอข้อมูลแปลกๆ อาทิ วิถีกระสุนของ 2 ศพ วัดปทุมฯ ที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กระสุนเข้าจากด้านล่างของร่างกาย แล้วจะกล่าวหาทหารบนรถไฟฟ้าได้อย่างไร
แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญชี้ไว้ก่อนแล้วว่า กระสุนที่เข้าจากเอวไปออกหัวไหล่ เป็นผลจากการที่เหยื่อกระสุนอยู่ในท่าหมอบหลบกระสุนปืนก็ตาม
เป็นวิธีสร้างความ "ซับซ้อน" เพิ่ม "เรื่องราว" เพื่อทำลายน้ำหนักของข้อเท็จจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
เป็นมุขเดียวกับ "มือที่สาม" หรือ "ผู้ไม่หวังดี" ในยุคซิกส์ตี้-เซเว่นตี้ ที่สหรัฐ เป็นผู้นำต่อต้านคอมมิวนิสต์
จะยังได้ผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องลุ้น
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346814037&grpid=01&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น