6 ตุลา 19 กับทิศทางการเมืองไทย
โดย พัชณีย์ คำหนัก
องค์กรเลี้ยวซ้าย6 ต.ค.55
องค์กรเลี้ยวซ้าย6 ต.ค.55
ในงานรำลึก 36 ปี 6 ตุลา ช่วงเสวนา 6 ตุลากับทิศทางการเมืองไทย ผู้เขียนได้เสวนาไปแล้ว แต่ต้องการสื่อออกมาอีกครั้งด้วยบทความชิ้นนี้ โดยเรียบเรียงประเด็นใหม่เพื่อสื่อสารกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคน เสื้อแดง กรรมกรแดง และขบวนการอื่นๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น
ผู้เขียนต้องการจะชวนผู้อ่านผู้ฟัง “ฝันให้ไกลและไปให้ถึง”
บนพื้นฐานความเป็นจริง โดยไม่ยำเกรงต่อคำปรามาสว่าเป็นพวกเพ้อฝัน
เนื่องจากเรามีประสบการณ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ว่า
เป็นยุคของการดับฝันคนหนุ่มสาว
นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้วยการใช้กำลังปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดของเจ้า
หน้าที่รัฐ แต่เรา ณ
ที่นี้จะช่วยกันรื้อฟื้นความฝันและการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนและคนรุ่นหลัง 6
ตุลา 19 เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงจะได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง
ผู้เขียนคิดว่าโจทย์ของการเมืองไทยจากอดีตถึงปัจจุบันที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ คือ
-
ทำไมคนเราจึงต่างกัน ทำไมคนเราเลือกเกิดไม่ได้
-
ประชาธิปไตยที่แท้จริงมีหน้าตาอย่างไร
ประเด็นที่จะนำเสนอคือ
-
เศรษฐกิจการเมืองเรื่องชนชั้นในระบบทุนนิยม
-
ข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
จากเวทีเสวนา เบื้องหลัง 6 ตุลาเบื้องหน้าประชาธิปไตยของปี 2554 ณ
หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มาจนถึงวันนี้ ปีนี้
ผู้เขียนเห็นว่า
การที่รัฐก่ออาชญากรรมซ้ำซากจากอดีตจนถึงปัจจุบันสะท้อนปัญหาสำคัญคือ ชน
ชั้นปกครองเกรงกลัวอุดมการณ์ประชาธิปไตย และสังคมนิยม
ที่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นอารยะประเทศ
จึงต้องการเอาชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
บทสรุปจากเหตุการณ์ตุลามหาโหด ถึงการก่ออาชญากรรมโดยรัฐซ้ำซาก
ปัญหาชนชั้นปกครองกลัวความเปลี่ยนแปลง มาจากบทสรุปเหตุการณ์ 6 ตุลามหาโหด ดังนี้
-
บริบททางเศรษฐกิจการเมืองไทยในอดีตตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา 16 จนถึงการสังหารนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 19 ประชาชนเผชิญปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และปัญหาการเมืองไร้สิทธิไร้เสียง ห้ามการชุมนุมทางการเมือง ห้ามวิจารณ์ เพราะถูกปกครองด้วยเผด็จการทหาร ที่มีพลังฝ่ายทุนอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งสนับสนุน และจากเหตุการณ์ตุลามหาโหดมีผู้เสียชีวิต 42 คน บาดเจ็บ 150 ถูกดำเนินคดี 3,094 คน พร้อมกับมีคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง มีผลให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ต่อมาล้มเลิกการเลือกตั้งทุกระดับ ยกเว้นในเขตกรุงเทพฯ ทั้งลอบสังหารผู้นำกรรมกร ชาวนา นักสังคมนิยมอีกหลายสิบคน
-
ความคิดที่ก้าวหน้าของประชาชนในยุคอดีตถูกสกัดกั้น ได้แก่ ความคิดทางการเมืองฝ่ายซ้าย สังคมนิยมทั้งจากสายปฏิรูปและปฏิวัติ การต่อสู้ของผู้นำชาวนา กรรมกร นักศึกษาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งแสดงถึงการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ระหว่างเผด็จการฟาสซิสต์ ทุนอนุรักษ์นิยม กับ สังคมนิยมประชาธิปไตยปนกับกลุ่มเสรีนิยมก้าวหน้า ดังที่อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์อธิบายว่า ผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองปี 2516 ผู้ที่เกรงว่าประชาธิปไตยมากเกินไปจะทำให้เขาสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจมีพวก นายทุน เจ้าที่ดินรายใหญ่ ทหารตำรวจบางกลุ่ม นักการเมืองโดยเฉพาะจากพรรคชาติไทย ส่วนผู้นำขบวนการฝ่ายขวาก่อความรุนแรง ได้แก่ ฐานชนชั้นกลางมั่งมีและหมู่ชนชั้นนำ ผู้มีฐานะดีกลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในยุคนั้นมีวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงราคาน้ำมันขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 2516 ในประเทศรอบด้านรัฐบาลฝ่ายขวาถูกล้มและคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจในปี 2518 ฝ่ายกรรมาชีพชาวนานักศึกษาออกมาประท้วงและนัดหยุดงานบ่อย เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม เป็นต้น
คำถามคือ “ผู้ที่สั่ง สนับสนุนการฆ่าประชาชนควรมีเกียรติให้ได้รับการเชิดชูต่อไปอีกหรือไม่?”
ถ้าเป็นคำตอบของแนวทางสังคมนิยมมาร์คซิสต์แล้วนั้น
พวกเขาขาดความชอบธรรมที่จะปกครองประชาชนแล้ว
และสมควรที่จะยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากกว่าการแก้ไข
คำตอบนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งเมื่ออดีตรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประ
ชาธิปัตย์ได้สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยกำลังทหารกว่าหมื่นนาย
ก่อให้เกิดการเสียชีวิตด้วยกระสุนปืน 92 ศพ บาดเจ็บ 2,000 ในปี 53
ซึ่งถือว่าเป็นการก่อ
อาชญากรรมโดยรัฐอีกครั้งหนึ่ง รวมเอาการลอบสังหาร ไล่ล่าคนเสื้อแดงหลังปราบ เพราะไม่ยอมรับข้อเสนอยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และรับไม่ได้กับการถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง
อาชญากรรมโดยรัฐอีกครั้งหนึ่ง รวมเอาการลอบสังหาร ไล่ล่าคนเสื้อแดงหลังปราบ เพราะไม่ยอมรับข้อเสนอยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และรับไม่ได้กับการถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง
แม้จะมีการทำลายขบวนการฝ่ายซ้าย ขบวนการนักศึกษาอย่างราบคาบ
แต่เรายังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมปรากฎในรูปแบบต่างๆ ในเวลาต่อมา
และหน่ออ่อนของความคิดก้าวหน้ายังหลงเหลือและถูกถ่ายทอดมายังคนรุ่นหลัง
ได้แก่ ข้อเสนอการปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า
การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ในบริบทที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างมากขึ้น
ทุกทีจากการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเมืองและมีอุตสาหกรรมมากมาย
ณ วันนี้ เราภาคประชาชนไม่ควรตั้งคำถามแค่ว่า
“ใครกันแน่ที่เป็นทุนสามานย์ที่สุด”
ซึ่งทำให้บางส่วนมองว่าต้องเลือกข้างระหว่างทุนเสรีนิยม/ประชานิยมกับทุน
อำมาตย์ ซึ่งเอาเข้าจริงอาจไม่ใช่ทางเลือกของประชาชน และไม่ใช่โจทย์สำคัญ
เพราะโจทย์ที่สำคัญกว่านั้นคือ
“เราจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร”
โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองปัจจุบัน : ระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นนายทุน
ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการ
เติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) มากขึ้น เก็บภาษีได้มากขึ้น
โดยเฉพาะภาษีทางอ้อมซึ่งผลักภาระให้คนจน
มีคนรวยมากขึ้นและมั่งคั่งติดอันดับที่สุดในโลกหลายสิบคน
แต่เป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในทวีปเอเชีย
ชนชั้นแรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก วันละ 12-16 ชั่วโมง
มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ และการฉ้อฉลคอรัปชั่นติดอันดับโลก
ที่สหประชาชาติและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศกำลังจับตามอง
กำลังแรงงานมีจำนวนมากขึ้น
ลูกหลานเกษตรกรในชนบทย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเมืองมากขึ้นเพราะมีการขยายตัวของ
โรงงาน สถานประกอบการ ผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น
มีการลงทุนจากต่างประเทศสูงขึ้น มีสินค้าส่งออกติดอันดับโลก เช่น ข้าว
ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ เป็นต้น
มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ตามนโยบายพัฒนาความทันสมัย
และอุตสาหกรรมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และระบบรัฐที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ
ระบบที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน ทำให้มีนายทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
มั่งคั่งและมีอำนาจการเมืองนอกระบบบ้าง ในระบบบ้าง
แต่คนส่วนใหญ่ขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต
ในแง่การเมือง การเมือง ณ
ขณะนี้กลายเป็นเรื่องของผู้นำทางการเมือง
นักการเมืองจากพรรคการเมืองของนายทุนเท่านั้น มีทั้งการช่วงชิง รักษาอำนาจ
แก้ไขปัญหาด้วยประชานิยม (ที่กำลังฮิตในหมู่นักการเมืองทุกค่าย)
ไม่แตะโครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ไม่ริเริ่มการปฏิรูปใดๆ
ทั้งละเลยปัญหาความเป็นอยู่ การกระจายความมั่งคั่งให้แก่ประชาชน
ซึ่งแนวโน้มประชาชนอาจถูกทอดทิ้งในที่สุด
ระบบทุนนิยม นอกจากจะมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว ยังมีอุดมการณ์ชุดหนึ่ง
ถ่ายทอด กล่อมเกลาให้แก่คนในสังคมเพื่อให้สนับสนุนนโยบายของทุนต่อไป
อุดมการณ์หรือทัศนะแบบทุน ได้แก่
-
ทุนเป็นผู้สร้างงาน (แต่ก็เป็นผู้สร้างปัญหาว่างงานและไม่สามารถแก้ไข)
-
ความสุขในชีวิตมาจากความสำเร็จของการสะสมความเป็นเจ้าของวัตถุ (แต่ความร่ำรวยก็มาจากความยากจนด้อยโอกาสของผู้อื่น)
-
การประท้วงของแรงงานจะทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน (ที่นักลงทุนไม่คิดจะรับผิดชอบสังคม)
-
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แรงงานควรช่วยเหลือนายจ้างไม่ให้ล้มละลาย เพื่อให้มีงานทำต่อไป (แรงงานคือหุ้นส่วนของทุนไปแล้ว)
-
รัฐต้องส่งเสริมการแข่งขันของทุนอย่างเสรี ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด และควรลดภาระในการบริการสังคมลง (การแข่งขันอย่างเสรีไม่มีจริง มีแต่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และการผูกขาด)
-
ความจนมาจากความขี้เกียจ (ข้ออ้างสำหรับผลักภาระค่าใช้จ่ายให้คนจน)
นอกจากนี้ ทัศนะแบบทุนยังใช้ประโยชน์จากทัศนะการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมในแต่ละสถานการณ์ด้วย (ซึ่งเป็นคำสอนที่โกหกหลอกลวง) เช่น
-
ความสามัคคี รักใคร่ปรองดองเพื่อสร้างกำไรมากๆ ให้แก่บริษัท
-
ชาวนาคือกระดูกสันหลัง (ผุๆ) ของชาติ
-
ครอบครัว (ที่บ่มเพาะการแข่งขัน-ไต่เต้า) คือสถาบันสำคัญที่สุด
-
ครู (ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์) คือแม่พิมพ์ของชาติ
-
เรียกร้องให้คนต้องทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (โดยไม่ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับความเป็นอยู่ของประชาชน)
-
ระบบอาวุโส เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด (ที่ผู้อาวุโสได้ประโยชน์ แต่ผู้เดินตามเป็น”แพะ”)
ทั้งนี้ เพื่อเอาคำสั่งสอนของฝ่ายอนุรักษ์มาควบคุมแรงงาน
ควบคุมความคิดเห็นต่าง ควบคุมการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน
ซึ่งนั่นคือ เสรีนิยมมีได้เฉพาะชนชั้นนายทุน
เพราะเขาจะไม่ยอมให้คนระดับล่างมีอำนาจทัดเทียมกับตัวเอง
ส่วนผู้ที่สมาทานแนวเสรีนิยมสุดขั้ว
มองว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะดีอยู่แล้ว
ก็จะไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับนายทุนในสถานที่ทำงานตัวเอง
และไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน
ประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ไม่หวังพึ่งพรรคนายทุน
ด้วยบริบททางเศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
แนวคิดชนชั้นในมุมมองของมาร์คซิสต์ (ไม่ใช่สายสตาลิน-เหมา)
ก็เปลี่ยนแปลงไปในเชิงปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ
ชนชั้นกรรมาชีพในบริบทอดีตกับปัจจุบันนั้นต่างกัน
แม้แต่กรรมกรในโรงงานก็ยังแตกต่างจากอดีต คือ มีฐานะดีขึ้น
ไม่แร้นแค้นเท่าแต่ก่อน โรงงานปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น
ซึ่งเป็นผลจากการต่อสู้ พวกเขาเป็นแรงงานคอปกน้ำเงินผลิตสินค้า
ส่วนแรงงานคอปกขาวอยู่ในภาคบริการก็ถือว่าเป็นกรรมาชีพเพราะแม้จะมีตำแหน่ง
และรายได้สูงกว่ากรรมกรคอปกน้ำเงิน แต่ก็มีสัญญาสภาพการจ้างงาน
ยังไม่มีอำนาจถือครองปัจจัยการผลิตและไม่ใช่ผู้ตัดสินใจในระบบโครงสร้างการบ
ริหาร ส่วนนักศึกษาเป็นได้ทั้งเตรียมแรงงาน
หรือบางรายเตรียมไปเป็นนายทุนและชนชั้นกลาง
เพราะมหาวิทยาลัยปัจจุบันนี้ได้กีดกันคนจนออกไปมากขึ้น
ด้วยการขึ้นค่าเทอมและระบบแข่งขัน
โดยไม่พัฒนาระบบการศึกษาให้สถานศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐานที่ดีเท่าเทียมกัน
ส่วนคนชั้นกลางตามความคิดมาร์คซิสต์คือ ผู้จัดการ
ผู้บริหารที่เป็นตัวแทนคำสั่งของเจ้าของสถานประกอบการ นักธุรกิจ
ผู้ประกอบการขนาดกลาง ที่มุ่งพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นทุนใหญ่
และสำหรับชนชั้นนายทุนหมายถึง นายทุนบรรษัทขนาดใหญ่
มีอำนาจข้ามรัฐและเหนือรัฐ
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างคือเป้าหมายของการต่อสู้ของประชาชนในยุค
นี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาอย่างผิวเผิน
ให้พออยู่รอดได้ในสมัยของตัวเอง เช่น การเสนอนโยบายประชานิยม
ที่มีข้อจำกัดเรื่องการแก้ไขประเด็นเดียว
ข้อจำกัดในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ สวัสดิการยังไม่ถ้วนหน้า
และมีหลายมาตรฐาน เป็นต้น
ดังนั้นความสำเร็จของการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยควรคำนึงถึงผล
ประโยชน์ทางชนชั้นและอำนาจของประชาชนระดับล่าง
ตัวอย่างตัวชี้วัดชัยชนะของประชาชน นักมาร์คซิสต์มองว่า
-
ต้องยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค
-
สถาบันการปกครองสำคัญต้องถูกปรับตัว เช่น สถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล
-
การให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบ หรือบริหารในโครงสร้างการปกครองที่เป็นทางการและในองค์กรของรัฐ เช่น ศาลในฐานะลูกขุน สภาผู้บริโภค สหภาพแรงงานในมหาวิทยาลัย สื่อสาธารณะ รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาล เป็นต้น
-
นายทุน คนรวยต้องถูกเรียกเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า และปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ อาจเป็นในรูปแบบฉโนดชุมชน
-
ทุกพื้นที่ เต็มไปด้วยการรวมกลุ่มของประชาชน และมีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทัศนะทางการเมืองร่วมกัน
สิ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน
-
การมีสำนึกร่วม มีเอกภาพบนความหลากหลาย มีเป้าหมายการต่อสู้เดียวกันได้ และมีชุดความคิดอุดมการณ์ชัดเจน
-
การพัฒนาจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม ทั้งในสินค้าสาธารณะและสินค้าของเอกชน ร่วมกันรัฐและทุน
-
การรวมตัวเป็นองค์กรจัดตั้งที่เข้มแข็ง เช่น สหภาพแรงงาน พรรคการเมืองภาคประชาชน ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ แตกต่างจากแนวกระแสหลักและต่างจากอดีต เช่น พรรคนายทุน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือพรรคที่มีการนำเพียงไม่กี่คน
-
การสร้างบรรยากาศ พื้นที่ประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน ในสถานศึกษา ชุมชนต่างๆ มากขึ้น
-
การมีกลไกให้การศึกษาภายในขบวนการ แลกเปลี่ยนความคิดสม่ำเสมอ และเรียนรู้แนวคิดทฤษฎีการเมืองต่างๆ ดังเช่น รูปแบบ”กลุ่มศึกษา” สำหรับฝึกฝนการวิเคราะห์การเมือง ปัญหาในชีวิตประจำวันละฝึกสร้างความมั่นใจในการนำเสนอ ถกเถียงกับผู้อื่น
-
การร่วมต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพกับขบวนการประชาชนอื่นๆ
-
มีวินัย มีความรับผิดชอบ แบ่งเวลาและอุทิศเพื่อส่วนรวม
ข้อเสนอระยะสั้นนี้ คือ
-
ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องเฉพาะหน้า ได้แก่ นำคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปฏิรูประบบยุติธรรม
-
ผลักดันให้แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาต (นปช.) ออกมาเสนอแนวทางปฏิรูป/ปฏิวัติสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การถกเถียงในวงกว้าง และไม่ใข่องค์กรแบบ 2 ขา ซึ่งขาหนึ่งไปใกล้ชิดกับนักการเมือง เพราะประชาชนต้องเป็นอิสระจากกรอบความคิดของพรรคการเมืองนายทุน (ที่ไม่ใช่พรรคมวลชน) เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และความเสมอหน้าทัดเทียมกับนายทุน
-
สร้างแนวร่วมกับขบวนการของชนชั้นล่าง เช่น ระหว่างขบวนการเสื้อแดงกับขบวนการชาวนา แรงงาน นักศึกษา และสมานฉันท์กับองค์กรภาคประชาชนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ต่อต้านระบบทุนที่ก่อวิกฤตระลอกแล้วระลอกเล่า นักมาร์คซิสต์มองว่าเป็นแนวร่วมที่ยั่งยืนกว่า
ประชาธิปไตยที่แท้จริงในมุมมองมาร์คซิสต์คือ
การต่อสู้เพื่อเสรีภาพพร้อมๆ กับต้องมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
เพราะเสรีภาพทางการเมืองมีความสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
หลักประกันที่มั่นคง ฐานะความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกันนัก
ฉะนั้นเราต้องต่อสู้เรื่องการลดชั่วโมงการทำงาน
เพิ่มรายได้และสวัสดิการครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย
เพื่อที่คนจะได้มีเวลาว่างสำหรับสร้างสรรค์งานของตัวเอง
มีเวลาศึกษาทฤษฎีการเมือง ศึกษาวิทยาศาสตร์ ศิลปะ รวมกลุ่มแลกเปลี่ยน
แสดงออกทางการเมือง
มีความเป็นปัญญาชนที่ไม่ต้องเกรงกลัวการถูกเอารัดเอาเปรียบอีก
ข้อกังวลที่ว่า ทำไมคนเราจึงเลือกเกิดไม่ได้ ก็จะค่อยๆ หมดไป.
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/10/43032
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น