หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จะระลึก ๖ ตุลากันอย่างไร

จะระลึก ๖ ตุลากันอย่างไร


Photo: The blood-stained shadow of the ruling class massacre of  students on the 6th October 1976 and the subsequent collapse of the Communist Party still have important effects on modern Thai politics. This massacre marked the start of the eradication of the Thai Left from both official history and present day formal politics. The process was completed after the collapse of the Communist Party  in the mid 1980s. The manner in which ex-Left-wing activists have been rehabilitated back into society after the 6th October, has paved the way for gradual democratic reforms, in a form which does not challenge the real power and privilege of the ruling elite.  www.2519.net

โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๘๐  ประจำวันเสาร์ ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕


วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ จะเป็นวันครบรอบที่เหตุการณ์ ๖ ตุลา ผ่านมาแล้วถึง ๓๖ ปี แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ ๖ ตุลาก็เป็นหนึ่งในกรณีประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จบ และในปีนี้ ก็คงจะต้องมาย้อนรำลึกเหตุการณ์นี้อีกครั้ง

กรณี ๖ ตุลา หลายครั้งจะถูกเอ่ยถึงโดยคนรุ่นหลังว่า “เหตุการณ์ ๑๖ ตุลา” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการผสมจินตภาพของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ กับ เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งมีระยะห่างราว ๓ ปี อันที่จริงเหตุการณ์ ๒ กรณีนี้ ก็มีความเกี่ยวพันกัน เพราะในกรณี ๑๔ ตุลาคม ขบวนการนักศึกษาเป็นแกนนำในการต่อต้านเผด็จการ และประสบความสำเร็จในการขับไล่รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร และฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ส่วนกรณี ๖ ตุลาคม หมายถึง ๒ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือ การเข่นฆ่าสังหารนักศึกษาประชาชนที่เกิดขึ้นในเวลาเช้าตรู่ กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเวลาเย็นวันนั้น จึงน่าที่จะต้องหันมาพิจารณาเหตุการณ์นี้อีกครั้ง

ก่อนที่จะเกิด เหตุการณ์ ๖ ตุลา สังคมไทยสมัยนั้น มีความแตกต่างทางความคิดเป็นสองแนวทางอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างสำคัญ โดยเฉพาะการเติบโตของแนวคิดแบบสังคมนิยม ซึ่งเตยเป็นแนวคิดต้องห้ามในสมัยเผด็จการ แนวคิดสังคมนิยม ก็คือ แนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจชุดหนึ่งที่เกิดจากการวิพากษ์สังคมเก่า เห็นว่าสังคมเก่าที่ใช้วิธีการแบบทุนนิยมเป็นหลักนั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วโลกย่อมนำมาซึ่งช่องว่างทางชนชั้นอันแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น แนวคิดสังคมนิยมจึงนำเสนอให้สร้างสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อให้โภคทรัพย์กระจายไปสู่ชนชั้นล่างของสังคม อันได้แก่กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป

แนวคิดเช่นนี้เผยแพร่ โดยการมีการพิมพ์หนังสือที่เสนอแนวทางสังคมนิยม และลัทธิมาร์กซ ออกวางแผงขายเป็นจำนวนมาก และเป็นที่นิยมทั่วไป แนวคิดสังคมนิยมยังเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสวัฒนธรรมใหม่ เช่น วรรณกรรมเพื่อชีวิต เพลงเพื่อชีวิต การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี การอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม และการเกิดขององค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับประชาชนระดับล่าง เป็นต้น นอกจากนี้ก็คือ เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมมาต่อสู้ทางรัฐสภา มีการส่งผู้สมัครสังคมนิยมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมชนะเลือกตั้งถึง ๓๕ เสียงในสภาผู้แทน

กระแส ความคิดเช่นนี้ ก่อให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากในหมู่ประชาชนระดับล่าง กรรมกรและชาวนาที่เคยต่ำต้อยน้อยหน้า และไม่เคยได้รับสิทธิอันควร ต่างก็ก่อการนัดหยุดงานและชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิของตน รวมทั้งมีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาจำนวนมากเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ในกลุ่มชาวนา ก็ได้ตั้งองค์กรสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เพื่อประสานการต่อสู้เรียกร้องของชาวนา ส่วนขบวนการนักศึกษา ก็ได้ยกระดับการต่อสู้ไปสู่ปัญหาเอกราช นั่นคือการขับไล่ฐานทัพอเมริกาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และสามารถทำได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๕๑๙

การพัฒนาของแนวคิดสังคมนิยมและ กระแสการต่อสู้ของประชาชนระดับล่างดังกล่าว ก่อให้เกิดความวิตกอย่างมากในกลุ่มชนชั้นนำไทยที่มีลักษณะอำมาตยาธิปไตยและ คุ้นเคยกับแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมเจ้า ทั้งที่ในสังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ความแตกต่างทางความคิดนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในยุโรปตะวันตกทุกประเทศต่างก็มีพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย หรือ พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเหล่านี้กับพรรคอนุรักษ์นิยมและฝ่ายขวาก็ต่อสู้กันด้วยวิธีการ ประชาธิปไตย ขึ้นกับว่าประชาชนจะให้ความนิยมพรรคไหน ดังนั้น จึงมีหลายประเทศ ที่พรรคสังคมนิยม หรือ สังคมประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศตามกลไกประชาธิปไตย จึงไม่เกิดความรุนแรงและการเข่นฆ่าสังหาร แต่ในกรณีของประเทศไทย ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยไม่ได้คิดเช่นนั้น และไม่เห็นว่าวิธีการประชาธิปไตยจะเป็นการแก้ปัญหาทางความแตกต่างทางความคิด แต่คุ้นเคยกับการที่บีบบังคับและมอมเมาให้ประชาชนเชื่อและศรัทธาแบบอนุรักษ์ นิยมเจ้า เห็นความคิดแบบอื่นเป็นความเบี่ยงเบน ที่จะต้องเข่นฆ่าทำลาย เพื่อหวังให้สังคมไทยกลับมาราบรื่นสุขสงบแบบที่พวกตนคุ้นเคย


(อ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น