มติศาล รธน.และการหลอกตัวเองว่า ‘ประชาชนมีเสรีภาพตรวจสอบบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา
โดย นักปรัชญาชายขอบ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่เมื่อ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ศาลรัฐธรรมนูญ ความตอนหนึ่งว่า
“...อีกทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่งแต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง” (http://www.prachatai.com/journal/2012/1043096)
คำวินิจฉัยดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ‘ม.112 คืออภิรัฐธรรมนูญ’ เพราะความหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ของประชาชน ย่อมหมายถึงการรับรองสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน แต่คำวินิจฉัยที่ว่า “...เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้” ทำให้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ‘ถูกจำกัด’ ด้วย ม.112 ฉะนั้น ม.112 จึงเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ
การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “(ม.112) ไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพใน การแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่งแต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้” คำวินิจฉัยนี้สามารถตีความได้ว่า “ประชาชน มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงมาได้อย่างเต็มที่ ตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ยกเว้นสถาบันกษัตริย์”
แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ? สมมติว่าประชาชนต้องการตรวจสอบ ‘ความจริงว่า’ ว่า พลเอกสนธิตัดสินใจทำรัฐประหารด้วยตนเองหรือมีเบื้องหลังหรือไม่ อย่างไร พลเอกเปรมเกี่ยวข้องกับรัฐประหารหรือไม่ อย่างไร ทำไมอภิสิทธิ์ สุเทพ พลเอกประยุทธ์จึงกล้าสั่งใช้กำลังพล อาวุธจริง กระสุนจริงจำนวนมากขนาดนั้น พร้อมๆ กับมีการอ้าง ‘ผังล้มเจ้าปลอม’ สลายการชุมนุมของประชาชน ความกล้าใช้อำนาจเช่นนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ อย่างไร หรือแม้กระทั่งประชาชนต้องการสรุปความจริงให้ชัดแจ้งว่า ‘ทักษิณคือต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดจริงหรือไม่?’ ฯลฯ
แน่นอนว่า ในทางหลักวิชาการนั้น การที่เราจะ ‘รู้’ ความจริงต่างๆ ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องพูดถึง อภิปราย แสดงพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงทุกด้านให้สมบูรณ์ที่สุด และตรวจสอบความเชื่อมโยงกับ ‘บริบทที่เกี่ยวข้อง’ ทั้งหมด เช่น ความเคลื่อนไหวของ พธม.คนเสื้อเหลือง นปช.คนเสื้อแดง ฯลฯ และเป็นความจริงว่าในบรรดาบริบทที่เกี่ยวข้องต่างๆ นั้น มีความเกี่ยวข้องกับ ‘บริบทสถาบัน’ ในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่ด้วยในระดับที่แน่นอนหนึ่ง (เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างถึง/พาดพิงสถาบัน เช่น เราจะสู้เพื่อในหลวง หรืออ้างว่าต้องทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบัน สลายการชุมนุมเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ ฯลฯ)
ทว่าเมื่อพูดถึง อภิปราย หรือจะแสวงหาข้อเท็จจริง หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับบริบทสถาบันก็ย่อม ‘ถูกบล็อก’ โดย ม.112 ให้สามารถสรุปได้เพียงว่า “มีการอ้างสถาบัน พาดพิงสถาบันในการต่อสู้ทางการเมือง ทำรัฐประหารจริง แต่สถาบันไม่เกี่ยวอะไรด้วย” ใน ทางวิชาการข้อสรุปเช่นนี้จึงมีความหมายเป็นเพียง ‘ความเชื่อ’ ไม่ใช่ ‘ความจริง’ หรือข้อเท็จจริงที่ผ่านการพิสูจน์อย่างเป็นสาธารณะ มันจึงกลายเป็นปัญหาตามมาว่า มี ‘ฝ่ายที่เชื่อ’ กับ ‘ฝ่ายที่ไม่เชื่อ’ แต่ละฝ่ายต่างก็ไม่สามารถแสดงหลักฐาน ข้อเท็จจริง มายืนยันความเชื่อของตนได้อย่างเป็นสาธารณะ
ประเด็นสำคัญคือ การที่ ม.112 บล็อกให้สรุปได้เพียงแค่ว่า “มีการอ้างสถาบัน พาดพิงสถาบันในการต่อสู้ทางการเมือง ทำรัฐประหาร สถาบันไม่เกี่ยวอะไรด้วย” เท่ากับบล็อกเสรีภาพที่จะตรวจสอบบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมาด้วย เพราะเท่ากับปิดกั้นไม่ให้ประชาชนสามารถนำหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘บริบททั้งหมด’ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาอ้างอิง เพื่อสรุป ยืนยันให้เห็น ‘ความจริง’ อย่างชัดแจ้ง เช่น ความจริงที่ว่า “ทักษิณคือต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดจริงหรือไม่?” และ ฯลฯ
ฉะนั้น แม้แต่เสรีภาพที่จะตรวจสอบความจริงว่า “ทักษิณคือต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดจริงหรือไม่?” (หรือ พลเอกสนธิตัดสินใจทำรัฐประหารด้วยตนเองหรือมีเบื้องหลังหรือไม่ อย่างไร พลเอกเปรมเกี่ยวข้องกับรัฐประหารหรือไม่ อย่างไร ทำไมอภิสิทธิ์ สุเทพ พลเอกประยุทธ์จึงกล้าสั่งใช้กำลังพล อาวุธจริง กระสุนจริงจำนวนมากขนาดนั้น พร้อมๆ กับมีการอ้าง ‘ผังล้มเจ้าปลอม’ สลายการชุมนุมของประชาชน ฯลฯ) ก็ถูกจำกัดไม่ให้นำ ‘บริบททั้งหมด’ ที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความจริงนี้มาอภิปรายถกเถียงได้ตามหลัก ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงเห็นได้ชัดว่าความเชื่อที่ว่า “ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมาตามหลักการ ประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน” นั้น เป็นความเชื่อที่ ‘หลอกตัวเอง’
ฉะนั้น ในบริบทสังคมการเมืองไทยตามที่เป็นอยู่จริงที่มีการแบ่งแยกว่า “ประชาชนไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์” แต่ “มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงมาตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเต็มที่” นั้น จึงขัดแย้งทั้งในทางตรรกะ และเมื่อขัดแย้งในทางตรรกะจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ขัดแย้งในทางตรรกะ คือการอ้างว่า “ประชาชนชาวไทยมีเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน หลักการที่ว่านี้เป็นหลักการสากล แต่ไม่สามารถ apply หลักการสากลนี้กับบุคคลสาธารณะทุกคน” นี่คือการพูดว่า “หลักการนี้เป็นหลักการสากลและไม่เป็นสากลในเวลาเดียวกัน”
ฉะนั้น ผลทางปฏิบัติที่ตามมาคือ “ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมาตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอยู่จริง” ดังตัวอย่างที่ว่ามา
ข้อโต้แย้งว่า “ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมาตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอยู่จริง” ผมเรียกว่า ‘argument แบบ สศจ.’ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ได้เทียบกับ สศษ.เพราะคนหนึ่งจบจากออสเตรเลีย คนหนึ่งจบเนติบัณฑิตอังกฤษรุ่นเดียวกับสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงอยู่คนละ ‘ชนชั้น’ กัน ฮา) ที่ชี้ให้เห็นว่า “ถึงวิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองไปก็ไม่มีประโยชน์ หากไม่สามารถ apply หลักการสากลกับทุกบุคคลสาธารณะได้” เพราะ คุณจะอ้างว่าคุณกำลังวิจารณ์นักการเมือง (เป็นต้น) ด้วยหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ในเมื่อหลักการดังกล่าวเป็น ‘หลักการสากล’ แต่คุณไม่สามารถใช้มัน ‘อย่างเป็นสากล’ ได้
ที่แย่กว่านั้น เรากลับไม่ยอมรับความจริงว่า เราหลอกตัวเองมาตลอด และกำลังหลอกตัวเองว่าภายใต้ระบบสังคมการเมืองไทยตามที่เป็นมา “ประชาชนมีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา ตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนอยู่จริง”
หมายเหตุท้ายเรื่อง
ผมได้ไอเดียในการเขียนบทความนี้จากการตามอ่านประเด็นถกเถียง “ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีวิชาการ/ไม่มีงานวิชาการ/ไม่มีนักวิชาการจริงๆ” ในเฟซบุ๊กของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้
ใครที่อ้างว่า ตนเองมีเสรีภาพที่จะเลือกทำงานวิชาการในด้านที่ตนสนใจโดยไม่แตะ ‘ประเด็นสถาบัน’ อยากให้อ่านข้อถกเถียงนี้ บางคนเรียกว่ามันเป็น ‘เกมของสมศักดิ์’ ‘ปมของสมศักดิ์’ ‘อคติแบบสมศักดิ์’ ฯลฯ ก็ว่ากันไปครับ แต่ผมเรียกมันว่า ‘argument แบบ สศจ.’ เพราะจริงๆ มันคือ เมื่อคุณอ้างว่าคุณมี ‘เสรีภาพ’ สศจ.ก็อ้าง ‘หลักเสรีภาพ’ ที่คุณอ้างนั่นแหละมาโต้แย้งคุณ
เช่น คุณอ้างว่า ฉันมีเสรีภาพที่จะแสดงความรักเจ้า มีเสรีภาพพูดถึงประโยชน์ของเจ้า ฯลฯ สศจ.ก็จะแย้งว่า “จะว่ามีเสรีภาพได้ไง ในเมื่อคุณไม่สามารถเลือกที่จะแสดงออก หรือพูดด้านตรงข้ามได้” หรือแม้แต่คุณยืนยันว่ามีเสรีภาพจะทำงานวิชาการด้านอื่นๆ ที่คุณชอบโดยไม่แตะเรื่องสถาบัน สศจ.ก็จะแย้งคุณว่า “มีเสรีภาพได้ไง (วะ) ในเมื่อคุณถูกตีกรอบเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะใช้เสรีภาพทำงานวิชาการใน ‘ทุกเรื่อง’ ที่อยากจะทำอย่างสากลไม่ได้...”
ตกลงคุณต้องเถียงกับ ‘เกมของสมศักดิ์’ ‘ปมของสมศักดิ์’ ‘อคติของสมศักดิ์’ ฯลฯ หรือต้องเถียงกับ ‘หลักเสรีภาพ’ อันเป็นหลักการสากลซึ่งคุณอ้างเพื่อ defend ตัวเอง และ สศจ.ยกมันมาโต้แย้งคุณล่ะ!
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/10/43193
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น