หน้าเว็บ

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำไมการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จึงจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจไทย

ทำไมการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จึงจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจไทย


โดย  อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

 
กระแส ต้านนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท จากฝ่ายธนาคาร นายจ้าง และนักเศรษฐศาสตร์บางคน ให้เหตุผลว่าจะเป็นผลเสียกับเศรษฐกิจไทย โดยจะลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะค่าจ้างที่สูงขึ้นจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กล่มสลาย และนักลงทุนทั้งต่างชาติและไทยจะย้ายโรงงานไปยังประเทศที่ค่าจ้างต่ำกว่า เช่น ลาว พม่า เขมร ฯลฯ

ความเชื่อนี้เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่ว่าค่าจ้างต่ำจะลดต้นทุนของค่าแรงทำให้กำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่ม และทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต

แต่นัก เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วิธีคิดแบบนี้ล้าสมัย และความเชื่อเช่นนี้อันที่จริงจะปิดกั้นไม่ให้ประเทศที่ตกอยู่ในกับดักราย ได้ปานกลาง เช่น ไทย ได้มีโอกาสก้าวพ้นกับดักนี้ไป และจะไม่สามารถถีบตัวให้ก้าวเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น จนเป็นสังคมที่มีการกระจายรายได้ที่เสมอภาคกันได้

เหตุผลที่สำคัญ อธิบายได้ว่า นโยบายเก็บค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนงานระดับโรงงานให้ต่ำเอาไว้นั้น กลับยอมให้ค่าจ้างของพวกนักวิชาชีพ ผู้บริหารระดับสูงและบรรดาฝ่ายผู้จัดการทั้งหลายสามารถเพิ่มค่าตอบแทนได้ อย่างเสรีกว่ามากจนถูกวิจารณ์ (โดยเฉพาะในกรณีของภาคการเงิน) ว่า พวกเขาได้ค่าตอบแทนเกินกว่าความสามารถ เพราะว่าพวกเขาเป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนเหล่านั้นเอง และยังเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการลดทอนบทบาทของสหภาพแรงงานของคนงานโรงงาน

ผล ที่ตามมา คือ ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างคนงานโรงงานกับพวกนักวิชาชีพทั้งหลายจะถ่างสูง ขึ้นมากๆ จนเกินกว่าที่จะอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล เมืองไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ยอมให้มีโครงสร้างค่าจ้างที่เหลื่อมล้ำสูง เช่นนั้น

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ถึงผลเสียของความเหลื่อมล้ำด้าน ค่าจ้างแรงงานที่สูง ตามทฤษฎีเรียกว่า Meidnes-Renh โมเดล ตามชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนที่คิดทฤษฎีนี้ เขาเสนอว่าเศรษฐกิจที่ค่าจ้างมีความเหลื่อมล้ำสูง ส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำยังอยู่ได้ ด้วยการจ้างคนงานทักษะน้อยแล้วให้ค่าจ้างน้อยกว่าธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงก ว่า เมื่อสามารถทำเช่นนั้นได้ ก็จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำคงอยู่ต่อไป

ผล ที่ตามมาก็คือ ธุรกิจใช้เทคโนโลยีต่ำจะยังคงสามารถอยู่ได้ โดยไม่ปรับปรุงเทคโนโลยี เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจนั้นก็จะเข้าสู่ภาวะที่มีผลิตภาพคนงานต่ำ (low productivity) และมาตรฐานการครองชีพจะลดต่ำลงในที่สุด

ทางออก คือ เศรษฐกิจนั้นสามารถจะปรับตัว แล้วกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง (high productivity) รายได้สูง โดยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างเสีย เช่น ด้วยการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานระดับล่างสุด

การเพิ่มค่า จ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัย ต้องล่มสลาย แล้วออกจากธุรกิจไป ส่งผลให้คนงานที่จะไปทำงานอย่างอื่นได้ มีจำนวนมากขึ้น ถ้าหากว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายฝึกทักษะคนงานเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน แล้วดำเนินนโยบายขยายเศรษฐกิจด้วย (เช่น เพิ่มงบการลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ และการสวัสดิการ) ก็จะมีดีมานด์เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงสามารถขยายตัวและเพิ่มการลงทุน แล้วรับเอาคนงานว่างงานที่เพิ่มขึ้นและได้รับการฝึกทักษะแล้วเข้ามาทำงาน ผลก็คือ ผลิตภาพคนงานจะเพิ่มขึ้น และมาตรฐานการครองชีพจะสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจเปิด ธุรกิจใช้เทคโนโลยีสูงสามารถขยายตลาดไปต่างประเทศ และยิ่งส่งผลให้รายได้และผลิตภาพสูงขึ้นไปอีก

โดยสรุป นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้าง ด้วยการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ทำไปพร้อมๆ กับการลงทุน เพิ่มทักษะคนงาน จะเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนโดยรวม จนกลายเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคด้านค่าจ้างมากขึ้นได้

นัก เศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนที่คิดทฤษฎีนี้ เสนอนโยบายของเขาให้รัฐบาลสวีเดนนำไปปฏิบัติเมื่อทศวรรษ 1940 ตลอดจนถึงทศวรรษ 1990 จนประเทศสวีเดนได้พัฒนาเป็นสังคมที่มีมาตรฐานการครองชีพสูง และมีความเสมอภาคด้านรายได้ที่สูงประเทศหนึ่งของโลก

ไม่ใช่ว่าคนงาน ที่ว่างงานทั้งหมดจะได้งานใหม่ในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงเท่านั้น บางคนก็อาจจะเกษียณไป อีกหลายๆ คนอาจจะต้องไปทำงานในภาครัฐหรือเอกชน เป็นโครงการช่วยเหลือคนว่างงาน โดยเงินเดือนที่ได้อาจจะมาจากภาษีที่เก็บจากธุรกิจใช้เทคโนโลยีสูงนั่นเอง

ใน กระบวนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดังที่กล่าวมา สังคมเสมอภาคก็จะเกิดขึ้นได้ โดยใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันสูง ก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งธุรกิจติดกับอยู่กับเทคโนโลยีระดับต่ำๆ ได้

สังคมที่เปลี่ยนแปลง ได้เช่นที่ว่ามา แน่นอนว่าจะต้องมีรัฐบาลที่แข็งขันในการดำเนินนโยบายฝึกอบรม เพิ่มทักษะคนงาน และมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อนำมาใช้จ่ายในการศึกษา ระบบบำนาญ และการอุดหนุนธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการเวลา และเงินทุนในการปรับตัว


(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น