ถ้าประเทศไทยไม่มีกองทัพ
ชำนาญ จันทร์เรือง
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 3 ตุลาคม 2555
ไม่น่าเชื่อว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเผาสถานกุงสุลที่เบงกาซี ลิเบีย จนเอกอัครราชทูตสหรัฐเสียชีวิต กรณีเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในการแย่งชิงเกาะเตียวหยูหรือเซนกากุ การประกาศจะถล่มอิหร่านของอิสราเอล ฯลฯ แต่ยังมีประเทศที่ปราศจากกองทัพอีกจำนวนหลายสิบประเทศที่ยังอยู่อย่างสุข สบายดี
ประเทศที่ไม่มีกองทัพเลย คือ เกรนาดา คอสตาริกา คิรีบาส ซานมาริโน ซามัว เซนต์คิดส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ โดมินิกัน ตูวาลู นาอูรู ปานามา มัลดีฟส์ ลิกเตนสไตน์ วาติกัน วานูอูตู หมู่เกาะโซโลมอน และเฮติ (ที่มา : Sarbey 2001)
ประเทศที่ไม่มีกองทัพแต่มีสนธิสัญญาป้องกัน คือ นีเออู (นิวซีแลนด์) ปาเลา (สหรัฐอเมริกา) โมนาโก (สหรัฐอเมริกา) ไมโครนีเซีย (สหรัฐอเมริกา) หมู่เกาะคุก (นิวซีแลนด์) หมู่เกามาร์แซลล์(สหรัฐอเมริกา) อันดอร์รา (สเปน,ฝรั่งเศส) และไอซ์แลนด์ (นาโต,สหรัฐอเมริกา) (ที่มา: Sarbey 2001)
สำหรับประเทศที่เหลือที่ถึงแม้ว่าจะมีกองทัพ แต่ก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร คือ กรีซ กายนา คาซัคสถาน แคนาดา โครเอเชีย ซิมบับเว ซูรินาเม ไซปรัส เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ บราซิล บัลแกเรีย เบลเยียม เบอร์มิวดา ปารากวัย โปแลนด์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ มอลโดวา มอลตา ยูเครน ยูโกสลาเวีย เยอรมัน รัสเซีย โรมาเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย ออสเตรเลีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจัน เอสโตเนีย แอฟริกาใต้ อังกฤษ อิสราเอล อิตาลี อุรุกวัย อุซเบกิสถาน และฮังการี(ที่มา : Horeman and Stolwijk 1998)
สภาพที่ไม่มีกองทัพ หรือถึงแม้ว่าจะมีกองทัพแต่ก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะน่าแปลกใจสำหรับคนไทยที่เห็นว่า กองทัพเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ต่อความมั่นคงของชาติ แต่ตัวอย่างประเทศที่ยกมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะ ปราศจากกองทัพ หรือหากแม้จะมีกองทัพแต่ก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศไทยไม่มีกองทัพ
1) เมื่อไม่มีกองทัพ ย่อมไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองของไทยเราที่ผ่านมา การรัฐประหารหรือกบฏที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการใช้กำลังทหาร ไม่ว่าจะเป็นการนำโดยทหารบกหรือทหารเรือ ตลอดจนการสนับสนุนจากทหารอากาศในการเข้ายึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณหรือการเข้าร่วมเป็นองค์คณะของผู้ทำการรัฐประหารในเวลาแถลงข่าว โดยใช้ชื่อแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป คณะรักษาความสงบเรียบร้อย ฯลฯ ซึ่งก็คือคณะรัฐประหารดีๆ นี่เอง แต่ไม่มีใครยอมเรียกชื่อตัวเองว่า เป็นคณะรัฐประหารเลย
2) เมื่อไม่มีกองทัพก็ย่อมที่จะไม่มีการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้น ช่องทางที่ใช้ทำมาหากิน ทุจริตคอรัปชันในการเกณฑ์ทหารก็หมดไป ที่สำคัญคดีหนีทหารของคนสำคัญๆ ที่คาราคาซังฟ้องร้องหมิ่นประมาทหรือปลอมแปลงเอกสารกันอยู่ย่อมหมดไปด้วย (ไม่ฮา) พ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนที่ครบอายุเกณฑ์ทหารก็ไม่ต้องนอนผวาว่า ลูกหลานตนเองจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร บางคนลูกตนเองเป็นนายทหารอยู่ดีๆ วิ่งเต้นย้ายโอนไปเป็นนายตำรวจเสียดื้อๆ อ้างว่าไม่อยากให้ลูกตนเองถูกส่งไปภาคใต้เสียอย่างนั้น มิหนำซ้ำยังให้เหตุผลในการโอนย้ายว่า ลูกชายตนเองยิงปืนแม่นเสียอีกแน่ะ
3) เมื่อไม่มีกองทัพ งบประมาณเป็นแสนๆ ล้านในแต่ละปีย่อมถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ประเทศไทยเราคงจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่านี้
4) เมื่อไม่มีกองทัพ พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นมาบ้าง เพราะหนึ่งในสาเหตุที่ความไม่สงบเกิดขึ้นในภาคใต้ก็เนื่องเพราะการมีกำลัง ทหารจำนวนมากเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั่นเอง มิหนำซ้ำบางส่วนยังไปจากพื้นที่อื่นซึ่งไม่ใช่กองกำลังในพื้นที่ ซึ่งมีแต่ไปเพิ่มปัญหามากกว่าไปแก้ปัญหา เพราะด้วยเหตุไม่รู้สภาพพื้นที่และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น
5) เมื่อไม่มีกองทัพทีทางต่างๆ นับเป็นแสนหรือล้านๆ ไร่ก็ย่อมจะถูกนำไปใช้ประโยชน์พัฒนาทางเศรษฐกิจได้คุ้มค่า ที่สำคัญยังมีประชาชนที่ยังไม่มีที่ทำมาหากินอีกมากมายต้องการ
6) เมื่อไม่มีกองทัพก็ย่อมไม่ผู้นำเหล่าทัพไปเที่ยวกราดเกรี้ยวชี้หน้าด่าสื่อ มวลชนหรือประชาชนว่าถามอะไรหรือพูดอะไรที่ทำให้อารมณ์บูดอยู่เสมอๆ
7) เมื่อไม่มีกองทัพแล้วการที่ถูกนินทาว่าประเทศไทยมีจำนวนนายพลทหารประจำการต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกก็จะหมดไป
8) เมื่อไม่มีกองทัพ เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการใช้ทหารไปปราบม็อบอีก
9) เมื่อไม่มีกองทัพก็ย่อมลดความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการปะทะกันด้วยกำลังทหารตามชายแดนย่อมน้อยลงหรือหมดไป ที่ผ่านมา แม้ว่าศักยภาพของกองทัพไทยจะเหนือกว่ากองทัพเขมรหลายเท่าตัว เครื่องบินรบไทยสามารถใช้เวลาบินไม่กี่นาทีถึงเมืองหลวงของเขมร แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรเขมรได้ เพราะติดด้วยระเบียบโลกที่ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ มิหนำซ้ำกลับต้องเพลี่ยงพล้ำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้เขมรสามารถ นำคดีกลับไปสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) เพื่อตีความคำพิพากษารอบใหม่ได้อีก ทั้งๆ คดีผ่านมาตั้งห้าสิบปีแล้ว ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ได้เขตปลอดทหารมาแทนชั่วคราว ทำให้การมีกองทัพที่เหนือกว่าไม่มีความหมายอันใด
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มิได้มุ่งหวังว่าจะทำให้เกิดการยุบเลิกกองทัพในประเทศไทยขึ้น เพราะเป็นไปได้ยากกว่าการยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค การแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายเท่าตัว แต่เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า หากกองทัพมีขนาดที่เล็กลง ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญให้ลูกคนจนต้องไปถูกเกณฑ์เป็นทหาร และจำกัดบทบาทของทหารที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว ประเทศไทยเราจะไปได้ดีกว่านี้
กองทัพจะอยู่ได้หรือไม่ได้อยู่ที่การยอมรับของประชาชนที่เป็นเจ้าของ อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น แม้ว่ากองทัพจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในมือที่พร้อมจะรัฐประหารก็ตาม แต่หากประชาชนไม่เอาด้วยกองทัพก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้ ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์โลกที่รัฐบาลทหารในหลายประเทศถูกโค่นล้มลง ล่าสุดก็จากการขยายตัวของปรากฏการณ์ปฏิวัติดอกมะลิและตัวอย่างการลบล้าง อำนาจของทหารโดยประธานาธิบดีพลเรือนของอียิปต์ หรือล่าสุดการนำตัวทหารที่พยายามทำการรัฐประหารไปขึ้นศาลในตุรกีนั่นเอง
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/10/42952
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น