ว่าด้วยทุน เล่ม 2 ภาคที่1 การเปลี่ยนรูปของทุนและวงจรของมัน(บทที่5-6)
โดย กองบรรณาธิการ
บทที่ 5: เวลาในการหมุนเวียน
“เวลาทั้งหมดในการผลิตของทุน” ต้องรวมเวลาที่ทุนไม่มีส่วนในการผลิต เช่นการหยุดการผลิตตอนกลางคืน หรือช่วงที่กำลังเตรียมการผลิต หรือรอให้ผลผลิตสุกงอม(เช่นในภาคเกษตร) ซึ่งต่างจาก “เวลาที่ทุนมีบทบาทโดยตรงในการผลิต”
ประเด็นสำคัญคือ มูลค่าถูกสร้างโดยกรรมาชีพในช่วง “เวลาที่ทุนมีบทบาทโดยตรงในการผลิต” เท่านั้น เพราะเครื่องจักร ฯลฯ ทำงานเองไม่ได้ ต้องมีมนุษย์มาเริ่มกระบวนการ
การ “ทำงาน” ของกรรมาชีพ อาจจะมีรูปแบบการลงมือกระทำต่อวัตถุหรือเครื่องจักรตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจลงมือเป็นระยะๆ ในขณะที่เครื่องจักรเดินอยู่ นั้นไม่สำคัญ เพราะทั้งสองกรณีถือว่าเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง
• การที่ “เวลาทั้งหมดในการผลิตของทุน” ต่างจาก “เวลาที่ทุนมีบทบาทโดยตรงในการผลิต” แปลว่ามนุษย์ที่เป็นกรรมาชีพเป็นผู้สร้างมูลค่า
• และนายทุนจะพยายามตลอดเวลา ที่จะลดช่วงเวลาที่ไม่ใช่ “เวลาที่ทุนมีบทบาทโดยตรงในการผลิต”
• ระยะเวลาที่ใช้ในการหมุนเวียนของทุนสามชนิด(ในบทที่ 4) มีผลกับเวลาในการผลิต ถ้าหมุนเวียนเร็ว การผลิตจะเพิ่มขึ้นได้
• หลังจากการผลิตเสร็จสิ้น ทุนสินค้าที่ถูกผลิตขึ้น จะต้องถูกแปรรูปไปเป็นทุนเงิน(ขาย) แต่กระบวนการนี้ไม่สร้างมูลค่าเลย เป็นเพียง “การได้มาของมูลค่าที่อยู่ในสินค้า” แต่ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลักเชื่อนิยายว่า การเกิดขึ้นของมูลค่ามาจากการซื้อขาย ซึ่งเป็นวิธีปกปิดความจริงเกี่ยวกับการขูดรีดแรงงานในกระบวนการผลิต
• ค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย ต้องหักจากกำไร (เช่นการจ้างตัวแทนเพื่อจำหน่ายหรือซื้อ) และสินค้าบางอย่าง โดยเฉพาะอาหาร อาจต้องรีบขายก่อนที่มันจะเสีย ดังนั้นนายทุนต้องพิจารณา (1)ระยะทางในการขนส่ง และ (2)ขนาดของตลาด โดยที่ตลาดในเมืองมักจะใหญ่กว่าตลาดในชนบทที่กระจัดกระจาย
บทที่ 6: ค่าใช้จ่ายในการหมุนเวียน
การซื้อขาย
คือการแปรเปลี่ยนระหว่างทุนสินค้ากับทุนเงิน
• ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายนี้ไม่เพิ่มมูลค่าของสินค้าแต่อย่างใดทั้งๆ ที่กระบวนการซื้อขายต้องใช้แรงงาน เพื่อให้มีการหมุนเวียนของทุน และการ “ได้มาของมูลค่า”
• การซื้อขายไม่ใช่การผลิต และค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายนอกการผลิต
• ถ้ามีการจ้างงานในระบบซื้อขาย จะมีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน คือคนงานจะได้ค่าจ้างต่ำกว่า “ค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย” นายทุนค้าขายก็จะได้กำไรตรงนี้ มันคุ้มที่นายทุนภาคการผลิตจะจ่ายค่าใช้จ่ายนี้ เพื่อให้สินค้าขายออกไปและมีการหมุนเวียนของทุน[1]
การทำบัญชี
การทำบัญชีเกี่ยวกับรายรับ รายจ่าย ขั้นตอนการผลิต ราคาวัตถุดิบฯลฯ ถือว่าเหมือนค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย ไม่มีการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเลย และมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อทุนนิยมพัฒนา
เราควรมองว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เหมือนค่าซื้อเครื่องจักรในแง่ที่มันเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
เงิน
เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้น ปริมาณสินค้าจะเพิ่ม และปริมาณเงินในเศรษฐกิจก็เพิ่ม
เงินเอง ธนบัตร หรือเหรียญ เป็นผลของการทำงานเพื่อผลิตเงิน แต่เราต้องมองว่าเป็น “ค่าใช้จ่ายของสังคม” เพราะไม่ได้เป็นส่วนของกระบวนการผลิตสินค้า
ค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้า
มองจากแง่ของสังคม ค่าเก็บสินค้าในโกดังหรือคลัง หรือการจ้างงานในการเก็บสินค้า ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการผลิต
• แต่มองจากมุมมองนายทุนแต่ละคน งานนี้มีส่วนในการสร้างมูลค่าสำหรับสินค้า คือเป็นการทำงานเพื่อทดแทนความเสื่อมของมูลค่าสินค้าซึ่งจะเกิดขึ้นถ้าไม่มี การเก็บรักษาไว้
• งานนี้มีส่วนในการสร้างมูลค่า แต่จะไม่เพิ่มมูลค่าแลกเปลี่ยน และนายทุนจะมีปัญหาในการเพิ่มราคาสินค้านี้โดยการอ้างว่าต้องเก็บไว้ในคลัง ถ้านายทุนอื่นไม่ต้องทำ
• ค่าใช้จ่ายตรงนี้ แบ่งกันจ่ายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือเป็นการขาดทุนของนายทุน
• คนงานในโกดังจะถูกขูดรีดแรงงานด้วย เหมือนพนักงานซื้อขาย
• ในกรณีที่สินค้าอาจขาดตลาดในขณะที่ลูกค้าต้องการซื้ออย่างสม่ำเสมอ นายทุนอาจต้องมีคลังสะสมสินค้าเพื่อให้ส่งลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
• คลังสินค้าในรูปแบบทุนการผลิต (สินค้าวัตถุดิบที่รอเข้าสู่กระบวนการผลิต) อาจเพิ่มขึ้นในปริมาณสุทธิของมัน ในขณะที่มีการลดลงถ้าเทียบกับปริมาณสินค้าที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ถ้ากระบวนการผลิตและการส่งวัตถุดิบเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพตามการ พัฒนาของทุนนิยมและตลาดโลก
การสะสมผลผลิตในรูปแบบสินค้า
สัดส่วนการสะสมผลผลิตในรูปแบบสินค้าจะเพิ่มขึ้น เมื่อระบบทุนนิยมพัฒนา ในขณะที่สัดส่วนการสะสมผลผลิตเพื่อการบริโภคโดยตรงของผู้ผลิตลดลง
แนวโน้มคือ ปริมาณการผลิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของนายทุนในการลงทุนและสะสมทุนเพิ่ม ในขณะที่ความต้องการในการบริโภคสินค้ากลายเป็นเรื่องรอง
“ค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้า” ประกอบไปด้วย
1. การลดลงของปริมาณสินค้าที่สูญเสียไป
2. การเสื่อมคุณภาพของสินค้า
3. การจ้างแรงงานเพื่อรักษาสินค้า
การขนส่ง
การทำงานของกรรมาชีพในการขนส่งมีผลในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพราะถ้าไม่มีการขนส่ง สินค้าจะไม่พร้อมที่จะถูกขาย
• ภาคขนส่งในแง่หนึ่ง “อิสระ” เป็นภาคการผลิตที่อิสระจากการสร้างสินค้าแต่แรก แต่อยู่ในระบบหมุนเวียนของทุนอันเดียวกัน[2]
• มีการขูดรีดแรงงานของกรรมาชีพขนส่ง และมีการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยนายทุน
เชิงอรรถ
[1]ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายนอกระบบการผลิตมีมากขึ้น เช่นการโฆษณา หรือการบริการของภาครัฐ(กอง บก.)
[2]ดังนั้นกรรมาชีพในระบบขนส่งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งจัดอยู่ในภาคบริการในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิต(กอง บก.)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/09/2-1-5-6.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น