หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เสียสละ

เสียสละ


 
โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
   
รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. มีอีกประเด็นที่ไปทางไหนก็มีคนพูดถึง

นั่นคือ ข้อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสียสละ เป็น "รัฐบุรุษ" อยู่นอกประเทศ เพื่อความสงบสุขของ "ส่วนรวม" คือประเทศไทย

โดยยกตัวอย่างกรณีของ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการ 2475 อดีตนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ขึ้นมาอ้าง

ปัญญาชน และคนไทยทั่วไปที่ใฝ่รู้ เชื่อว่า จะทราบประวัติชีวิตและผลงาน ของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างดี

หนังสือ เอกสาร และสื่อต่างๆ ที่เล่าเรื่องราวของนายปรีดี มีอยู่มากมาย

งานสำคัญของนายปรีดีได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งครบรอบ 80 ปี ในปีนี้

นาย ปรีดีได้ชื่อว่าเป็น "มันสมอง" ของคณะราษฎร ผู้ก่อการ 2475 ด้วยความเป็นนักกฎหมายระดับดอกเตอร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางด้านเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยปารีส



แต่หลังจาก 2475 เกิดความขัดแย้งในคณะราษฎร ฝ่ายทหาร พลเรือนแตกคอกัน

นาย ปรีดี เป็นนักการเมืองคนแรกๆ ของประเทศไทย ที่ถูกถล่มโจมตีอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเสนอนโยบายเศรษฐกิจ ที่เรียกกันในขณะนั้นว่า "เค้าโครงเศรษฐกิจ"

หลัง 2475 ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตสำคัญอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะ สงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 2484 ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่าน และมีกำลังส่วนหนึ่งมาประจำในไทย

รัฐบาลไทยในขณะนั้น ต้องประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร

นาย ปรีดี ได้ก่อตั้งขบวนการ "เสรีไทย" เคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น และกลายเป็นหลักฐานยืนยันความไม่ยินยอมพร้อมใจของประชาชนไทย ต่อการประกาศสงคราม ช่วยให้ไทยพ้นจากความเป็นชาติแพ้สงคราม

จากนั้นคือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เกิดเหตุการณ์ "ตะโกนในโรงหนัง" ที่มีเป้าหมายทำลายนายปรีดีโดยตรง

และ เป็นเงื่อนไขให้ทหารทำรัฐประหาร พ.ศ.2490 นายปรีดีหนีออกนอกประเทศ กลับมาเคลื่อนไหวในนามขบวนการ 26 ก.พ. 2492 พยายามยึดอำนาจคืน แต่ไม่สำเร็จ

ลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงปี 2513 ย้ายไปฝรั่งเศส กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2526

ระหว่างลี้ภัย นายปรีดีได้ฟ้องร้องผู้กล่าวหาเกี่ยวกับคดีสวรรคตหลายคน และชนะคดีทั้งหมด

ผู้ ที่ให้การปรักปรำ ผู้ร่วมขบวนการกล่าวหานายปรีดี อาทิ นายตี๋ ศรีสุวรรณ พยานคดีสวรรคต, หลวงกาจสงคราม ผู้ทำรัฐประหารเมื่อปี 2490 ได้ออกมากล่าวยอมรับผิด

แต่นายปรีดีก็ต้องอำลาบ้านเกิดเมืองนอนไปตลอดชีวิต

ถ้า อ่านเรื่องราวของนายปรีดี ภริยา และครอบครัว ด้วยใจเป็นธรรม จะเกิดความรู้สึกว่า สังคมไทยเรา บ้านเมืองของเราไม่ควรยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก

เราควรจะอับอายไหม ที่คนซึ่งทำคุณงามความดีในบ้านเมือง ไม่สามารถอยู่ในประเทศของตนเองได้

เว้นแต่เราจะมีความเห็นต่อ "ประชาธิปไตย" ไปอีกทางหนึ่ง

กรณีของนายปรีดี จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษา เพื่อสร้างระบบหรือกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้น

ไม่ใช่เพื่อเป็นข้ออ้าง ปล่อยให้สังคมที่ผิดเพี้ยนผลิตเหยื่อรายใหม่

ไม่อย่างนั้น อีกไม่นาน อาจจะขอให้เสียสละแบบวีรชน 6 ตุลาฯกันบ้าง


(ที่มา) 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348140283&grpid=&catid=02&subcatid=0207 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น