ปฏิวัติ 9 กันยา นัดแล้วไม่มา
เดือนกันยายน ของทุกปี
กลายเป็นเดือนที่รำลึกถึงการก่อรัฐประหาร โดยเฉพาะรัฐประหาร 2549
ที่เป็นครั้งที่สร้างความยุ่งเหยิงให้กับสังคมไทยมากที่สุด
แต่ในอดีตก็ยังมีการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในเดือนกันยายน นั่นคือ กบฎ 9
กันยายน 2528 ที่มีการยกกำลังทหารเข้าปะทะ
และยิงกันกลางกรุงจนมีผู้เสียชีวิตมาแล้ว ย้อนเรื่องราวกบฎวันวานกับ Back
Story
เรื่องราวของกบฏ 9 กันยา 2528 นั้น
มีการบันทึกไว้ว่า พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร
และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา
และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของ นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร
เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร
เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ และมีนายเอกยุทธ
อัญชันบุตร ผู้บริหารในภาคเอกชนที่เคลื่อนไหวกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
เข้ายึดองค์การขนส่งมวลชน เป็นกำลังเสริมร่วมด้วย
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ในขณะที่
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก
อยู่ระหว่างการไปราชการต่างประเทศ ในเวลานั้น
กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของ พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์
รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
เมื่อการก่อกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ
พันเอกมนูญ รูปขจร และ นาวาโทมนัส รูปขจร
ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก
ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39
คน หลบหนี 10 คน และมีผู้เสียชีวิต 5 คน
โดยมีข่าวลือเกี่ยวกับการยึดอำนาจครั้งนั้นว่า พันเอกมนูญ รูปขจร
ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึดสถานที่ เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจ
ที่จะนำกำลังออกมาสมทบในภายหลัง และการกบฏครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจาก
"นัดแล้วไม่มา"
สำหรับทหารฝ่ายรัฐบาล
ได้ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน
และนำกองกำลัง จาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน ประกอบด้วย พลเอกเทียนชัย
สิริสัมพันธ์ รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลโทชวลิต ยงใจยุทธ
รองเสนาธิการทหารบก , พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์
ในฐานะผู้ประสานกับฝ่ายรัฐบาล
ครั้งนั้นกองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหารจปร. 5
ประกอบด้วย พลโทสุจินดา คราประยูร พลโทอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโทเกษตร
โรจนนิล เป็นกลุ่มนำทีมในขณะนั้น
อีกทั้ง การก่อความไม่สงบครั้งนั้น
ยังมีการดึงเอาวงคาราบาว ศิลปินเพื่อชีวิตที่กำลังโด่งดังตอนนั้น
มาเปิดเวทีคอนเสิร์ตกลางสวนอัมพร
พร้อมการขึ้นเวทีสลับอ่านประกาศของคณะปฏิวัติเป็นระยะเพื่อหวังสร้างแนวร่วม
แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายเรื่องราวบางส่วนของเหตุการณ์จึงมาปรากฏในบทเพลงชื่อ
มะโหนก ในอัลบั้ม อเมริโกย งานเพลงชุดที่ 6
ซึ่งหน้าปกเทปเมื่อกลับหัวจะพบว่าเป็นเลข 9 สะท้อนไปถึง กบฎ 9 กันยา
อีกทั้งเนื้อเพลงมีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า "โหนกตัดสินใจรับใช้ชาติประชา
มาเป็นพลทหารม้าสังกัดมอพันสี่" ซึ่งก็อาจสะท้อนไปถึงผู้นำขบวนการก่อกบฎ
และในท้ายเพลงยังบันทึกเสียงปืนจากรถถังที่ยิงใส่เวทีคอนเสิร์ตพร้อมกับ
เสียงผู้คนโหวกเหวกในวันเกิดเหตุด้วย
(ที่มา)
http://news.voicetv.co.th/thailand/49821.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น