หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554




เสื้อแดงกับ ครม. ใหม่
ใจ อึ๊งภากรณ์
นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจำนวนมากคงมองว่าการแต่งตั้งแกนนำเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ “จะสร้างภาพไม่ดี” ก็คงจริงถ้าคิดว่า “ภาพที่ดีของ ครม.” คือภาพของผู้ที่จะไม่ทำอะไรเลยเพื่อพัฒนาสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม

     การทื่ ครม. ใหม่มีคนอย่าง เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นนักการเมืองรูปแบบเก่าที่มีภาพเป็นนักเลง เป็นต้นตำรับการสร้างสองมาตรฐานทางกฏหมายในกรณีลูกชายอันธพาล และหลายคนมองว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด สร้างภาพอะไร? 

     ผมไม่รู้จัก พล อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เขาอาจเป็นคนดีที่รักประชาธิปไตยก็ได้ ผมไม่ทราบและไม่วิจารณ์เขาเป็นส่วนตัว แต่คำถามคือ เมื่อไรประเทศไทยจะสร้างวัฒนธรรมที่รัฐมนตรีกลาโหมต้องเป็นพลเรือน? เมื่อไรจะต้องมีการลาออกจากตำแหน่งทางทหารหรือตำรวจ ก่อนที่จะมาเป็น สส. หรือรัฐมนตรีได้? เรื่องนี้สำคัญเพราะถ้าเราจะมีประชาธิปไตย และประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินจริง ทหารต้องถูกบังคับให้ยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง และกองทัพต้องรับใช้ประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่ากองทัพรับใช้ผลประโยชน์ตนเองแล้วมาอ้างว่าทำ “เพื่อกษัตริย์” โดยปิดปากคนที่คัดค้านด้วยกฏหมาย 112

     การสร้างภาพของ ครม. และรัฐบาลใหม่ นอกจากจะมีเรื่องบุคคลที่นั่งเก้าอี้แล้ว ยังมีภาพประธานสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องคลานเข้าไปหาคนที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง ในประเทศอังกฤษ เวลาราชินีเปิดสภา ราชินีถูกบังคับให้อ่านนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
                                                     

     อีกภาพหนึ่งที่เราเห็นกันคือการไว้ทุกข์ของ ครม. ผมอยากถามว่าเมื่อไรจะมีการไว้ทุกข์ให้คนเสื้อแดงที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย และต้องตายจากมือทหาร? ถ้าไว้ทุกข์ให้เสื้อแดงไม่ได้ อย่าไปหวังว่าจะนำคนที่สั่งฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล

     ถ้าถาพ “ที่ดี” ของ ครม. ปัจจุบัน เป็นภาพเน่าๆ แบบนี้ ผมขอฟันธงว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่มีแกนนำเสื้อแดงใน ครม. เพราะเดี๋ยวก็จะเปรอะเปื้อนไปด้วย

     แต่มันมีสาเหตุสำคัญกว่านี้ที่แกนนำเสื้อแดงไม่ควรรับตำแหน่งใน ครม. เพราะประวัติศาสตร์การเมืองสากลมีตัวอย่างของรัฐบาลที่นำคนก้าวหน้าเข้ามาใน ครม. เพื่อสร้างภาพ ปิดปาก คุม และนำมาเป็นพวก คนก้าวหน้าดังกล่าวจะโดนกดดันจากนักการเมืองล้าหลัง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ใน ครม. ให้คล้อยตามคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างที่ดีคือการนำ สส. ฝ่ายซ้ายมาเป็นรัฐมนตรีแรงงานใน ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ ในไทยกรณีที่อันตรายที่สุดคือการเอาแกนนำเสื้อแดงมาเป็นรัฐมนตรียุติธรรม แล้วพอรัฐบาลไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานักโทษหรือการฆ่าประชาชนโดยทหาร ก็โยนความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีคนนั้น ดีแล้วครับที่แกนนำเสื้อแดงไม่อยู่ในสถานะแบบนั้น

     การที่แกนนำเสื้อแดงไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ เป็นโอกาสทองสำหรับขบวนการเสื้อแดงที่จะพิสูจน์ความอิสระจากพรรคเพื่อไทย และออกมาชุมนุมและรณรงค์ให้ ปล่อยนักโทษการเมือง ลงโทษผู้สั่งฆ่าประชาชน ยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อและกฏหมาย 112 ปฏิรูปกองทัพ และเรื่องสำคัญๆ อื่นๆ ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยและเสรีภาพ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะรับประกันว่าวีรชนจะไม่ตายเปล่า และเสื้อแดงในคุกจะไม่ถูกขังลืม 

     คำถามสำคัญคือ แกนนำเสื้อแดงพร้อมที่จะรับภาระนี้หรือไม่ หรือจะมีส่วนร่วมในการสลายเสื้อแดงเพื่อยอมจำนน?

     บางคนอาจบอกให้เรา “ใจเย็น” แต่ช่วงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งพิสูจน์ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศต่อต้านเผด็จการทหารและการฆ่าประชาชน เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่จะรุกสู้และลดบทบาทอำมาตย์ อย่างที่ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เสนอ “ไม่ควร(มีใคร)ที่จะบอกให้พี่น้องเสื้อแดงถอย ท่านควรจะนำทวงความยุติธรรมให้กับพี่น้องที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถ้าเราไม่ใช้เวลานี้รุกสะสางเรื่องนี้ จะรอให้รุกเวลาไหน จะรอเวลาที่อำมาตย์เข็มแข็งอย่างนั้นหรือ เราควรกำหนดเวลา 1 เดือน  เอาพี่น้องของเราออกจากเรือนจำ  3 เดือนต้องสะสางคดีการสังหารหมู่ประชาชน และชดเชยชดใช้เยียวยาวีรชน.... ถ้าถอยหมายถึงสลาย ... รอให้อำมาตย์แข็งแรง กลับมาสังหารพี่น้องเสื้อแดงอีก”

     การเลือกตั้งที่ผ่านมามีความสำคัญในประเด็นเดียวเท่านั้น คือการพิสูจน์ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาทหารเผด็จการและอภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด การมีรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยจะมีความหมายเป็นสูญ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราเลิกเกรงใจพรรคเพื่อไทยได้แล้ว ถ้าจำเป็นต้องค้านรัฐบาลหรือกดดันรัฐบาล เสื้อแดงต้องทำ เพราะเราไม่ใช่พวกเดียวกันถ้าทอดทิ้งเพื่อนได้ง่ายแบบนี้