ผิดหวังโอบาม่า ผิดหวังยิ่งลักษณ์??
เราไม่เคยหลงเชื่อว่าพรรคเดโมแครดของโอบาม่าเป็น พรรค “ซ้าย” ของคนจน หรือเป็นพรรคของขบวนการแรงงาน เพราะในสหรัฐอเมริกาสองพรรคการเมืองหลักเป็นพรรคของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่าง ชัดเจน มีการใช้เงินมหาศาลในการหาเสียง และมีการร่วมกันเสนอนโยบาย “โดยนายทุนเพื่อนายทุน” เช่น นโยบายลดภาษีให้คนรวย หรือนโยบายจักรวรรดินิยมที่ก้าวร้าวไปทั่ว
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
เราไม่น่าจะผิดหวังอะไรกับผลงานในรอบ 4 ปีที่แล้วของประธานาธิบดีโอบาม่า และไม่น่าจะผิดหวังอะไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย เพราะเราไม่ควรจะมีความหวังกับนักการเมืองฝ่ายนายทุนเหล่านี้ตั้งแต่แรก เราควรมั่นใจมานานแล้วว่าเขาจะหักหลังพวกเราแน่นอน
ในการเลือกตั้งที่สหรัฐ ทั้งๆ ที่ โอบาม่าชนะ แต่เราก็เห็นชัดว่าคนส่วนใหญ่ที่เคยตั้งความหวังกับโอบาม่า ผิดหวังจนคะแนนเสียงของโอบาม่าตกต่ำลง คือโอบาม่าได้คะแนนมากกว่ารอมนี้แค่ 2% เอง เทียบกับปี 2008 เขาได้มากกว่ามะเคน 7% และคนที่ลงคะแนนให้โอบาม่าลดจาก 70 ล้านเสียงเหลือแค่ 60 ล้าน เป็นเพราะอะไร?
สำหรับนักสังคมนิยม เราไม่เคยหลงเชื่อว่าพรรคเดโมแครดของโอบาม่าเป็นพรรค “ซ้าย” ของคนจน หรือเป็นพรรคของขบวนการแรงงาน เพราะในสหรัฐอเมริกาสองพรรคการเมืองหลักเป็นพรรคของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่าง ชัดเจน มีการใช้เงินมหาศาลในการหาเสียง และมีการร่วมกันเสนอนโยบาย “โดยนายทุนเพื่อนายทุน” เช่น นโยบายลดภาษีให้คนรวย หรือนโยบายจักรวรรดินิยมที่ก้าวร้าวไปทั่ว นอกจากนี้เราก็จะปฏิเสธด้วยว่ารัฐบาลพรรคเดโมแครดจะเป็นรัฐบาลที่ “แย่น้อยกว่า” รัฐบาลพรรคริพับลิแคนทั้งๆ ที่นักการเมืองพรรคริพับลิแคนมักใช้วาจาของพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้วก็ตาม ถ้าไม่เชื่อก็ต้องดูรูปธรรมของนโยบายทั้งสองพรรคเมื่อเป็นรัฐบาล
โอบาม่าชนะการเลือกตั้งในปี 2008 และเข้ามาเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ ยุค 1930 แต่แทนที่โอบาม่าจะปฏิรูปโครงสร้างระบบทุนนิยมเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจใน ลักษณะการปรองดองระหว่างทุนกับคนงานกรรมาชีพ อย่างที่ประธานาธิบดีรุสเวลท์เคยทำในยุค 1930 โดยการใช้รัฐสร้างงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสหภาพแรงงาน โอบาม่ากลับเลือกข้างนายทุนฝ่ายเดียว และให้คนทำงานธรรมดาต้องแบกภาระจากวิกฤตที่ตนเองไม่ได้สร้าง
นโยบายเศรษฐกิจของโอบาม่าเป็นการต่อยอดนโยบายของ รัฐบาลบุชที่มาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในเรื่องการปล่อยให้ธนาคารดำเนินกิจการและกอบโกยอย่างเสรี อันนี้เป็นการเลือกของโอบาม่า ไม่ใช่ว่าถูกบังคับแต่อย่างใด
หลังจากที่กระตุ้นเศราฐกิจเล็กน้อย โอบาม่าหันมาใช้ลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดตามเคย ซึ่งเน้นการตัดสวัสดิการและแปรรูปภาครัฐให้เป็นเอกชน
เราเข้าใจได้ดีว่าทำไมโอบาม่าเลือกข้างนายทุน ซึ่งไม่ต่างจากพรรคริพับลิแคนเพราะในหนังสือของโอบาม่าที่ออกมาในปี 2007 เขาเล่าว่าตอนที่เขาเป็นวุฒิสมาชิกในสภา เขาเริ่มคลุกคลีกับพวกนายทุนและคนรวยที่สุด 1% ของประเทศจนตัวเขาเองเริ่มเคารพและคิดเหมือนพวกนั้น