สังคมใหม่ไม่เกิด ถ้าไม่จัดตั้งชนชั้นกรรมาชีพ
การที่กรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่
เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่นักสังคมนิยมเน้นการทำงานกับกรรมาชีพและมองว่า
กรรมาชีพคือผู้ปลดแอกสังคม
สาเหตุที่อาจสำคัญกว่านั้นคือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการทำงานสำคัญๆ
ทุกอย่างในสังคม เพราะถ้ารวมตัวกันนัดหยุดงานหรือยึดสถานที่ทำงาน
ก็จะคุมเศรษฐกิจในมือในขณะที่นายทุนและแม้แต่นายพลผู้บังคับบัญชาทหารทำอะไร
ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนั้น
โดย ลั่นทมขาว
ในยุคนี้เรามักได้ยินคนที่อวดเก่งพูดว่า “ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญน้อยลง” เหมือน กับว่าเขาค้นพบอะไรใหม่ แต่คำพูดนี้เป็นความฝันเก่าแก่ของพวกฝ่ายขวาที่อยากปกป้องระบบทุนนิยม หรืออดีตฝ่ายซ้ายที่ต้องการหันหลังให้กรรมาชีพเพื่อประนีประนอมกับชนชั้น ปกครอง เพราะมีคนออกมาเสนอแบบนี้เป็นระยะๆ มาเกือบห้าสิบปีแล้ว และที่สำคัญคือมันไม่จริง แม้แต่คนที่อ้างว่าตัวเองเป็นมาร์คซิสต์ เช่นซลาวอย ซีเซก ยังอ้างผิดๆ ว่าจำนวนคนที่เป็นกรรมาชีพในโลกลดลง และพวกอนาธิปไตยอย่าง โทนี่ เนกรี่, ไมเคิล ฮาร์ต หรือ จอห์น ฮอลลอเวย์ มองว่ากรรมาชีพถูกซื้อตัวไปเป็นคนงานข้าราชการในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็น “มวลชนหลากหลายที่ไร้โครงสร้างชัดเจน”
ตัวเลขจากธนาคารโลกและสหประชาชาติทำให้เราเห็นว่าจำนวนชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำ งานในโลกขยายตัวเรื่อยๆ และสูงเป็นประวัติศาสตร์ คือสองในสามของประชากรโลกเป็นผู้รับจ้างชนิดใดชนิดหนึ่ง และในไม่ช้าประชากรโลกส่วนใหญ่จะเป็นชาวเมือง ข้อมูลนี้ไม่ควรทำให้เราแปลกใจเลยเพราะการผลิตและการบริการที่เกิดขึ้นคู่ ขนานกันในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ขยายตัวมาตลอด อาจมีวิกฤตเศรษฐกิจประมาณทุกสิบปี แต่ทุนนิยมไม่ได้กลับสู่สภาพเมื่อร้อยปีก่อนเลย
บางคนเข้าใจผิดว่าผู้ทำงานในภาคบริการเป็นคน “กลุ่มใหม่” ที่ไม่ใช่กรรมาชีพ แต่ภาคบริการหมายถึงกิจกรรมที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผลิตสินค้า จริงๆ แล้วสิ่งที่กรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมผลิต จะไม่กลายเป็นสินค้าเลย จะไม่มีกำไรให้นายทุน และจะไม่มีการหมุนเวียนของทุนถ้าไม่มีผู้ทำงานในภาคบริการ เพราะคนทำงานในภาคบริการประกอบไปด้วยคนที่เดินเรือ ทำงานในท่าเรือ ทำงานรถไฟ ทำงานร้านค้า ทำงานในธนาคาร ทำงานในภาคไอที และแม้แต่ครูบาอาจารย์กับแพทย์พยาบาล ก็เป็นสาขาการทำงานที่บริการการผลิต เพราะถ้าคนงานไม่มีการศึกษาและไม่มีการรักษาสุขภาพ ก็ทำงานไม่ได้ ดังนั้นกรรมาชีพในภาคบริการเป็นลูกจ้าง เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่คนชั้นกลางหรือคนกลุ่มใหม่แต่อย่างใด
สาเหตุที่เรามักได้ยินคนพูดบ่อยๆ ถึงความสำคัญของคนชั้นกลางหรือความสำคัญของปัญญาชนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ อย่างที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลพูด ก็เพราะคนเหล่านั้นอาจดูถูกปัญญาและความสามารถของคนทำงาน แต่นักมาร์คซิสต์อย่าง อันโตนีโอ กรัมชี่ ซึ่งมีประสบการณ์โดยตรงในการจัดตั้งกรรมาชีพ อธิบายว่านักสังคมนิยมต้องกระตุ้นให้เกิด “ปัญญาชนอินทรีย์” หรือปัญญาชนคนงานที่เป็นนักต่อสู้ในขบวนการแรงงาน เพื่อไปรบทางปัญญากับปัญญาชนของชนชั้นปกครอง
การเน้นคนชั้นกลางอาจเพราะเขาอยากให้กรรมาชีพขาด จิตสำนึกเรื่องชนชั้นตนเองด้วย ในเรื่องหลังนี้กรณีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะชนชั้นปกครองสหรัฐพยายามสอนให้ประชาชนคิดว่าตนเองเป็นคนชั้นกลางไปหมด แต่การสอนไม่ค่อยสำเร็จเพราะประมาณ 34% ของคนสหรัฐมองว่าตนเองเป็นกรรมาชีพ