อีโบลา เป็นวิกฤตที่ไม่ควรจะเกิดแต่แรก
ในปี 1977 ศาสตราจารย์ พีเทอร์ พิออท และทีมวิจัยจากประเทศเบลเยี่ยม ค้นพบไวรัสอีโบลาในประเทศไซเอียร์ ประเทศหนึ่งในอัฟริกาตะวันตก ในปีนั้น พีเทอร์ พิออท และทีมวิจัยนี้แนะนำให้องค์กรต่างประเทศต่างๆ ทำการตรวจประชาชนและควบคุมการระบาดของโรคนี้แต่แรก เพื่อไม่ให้มันลามต่อไปได้ แต่ไม่มีใครฟัง เพราะประเทศต่างๆ ในอัฟริกาตะวันตกเป็นประเทศยากจนที่ “ไม่มีความสำคัญ” ในเวทีโลก เกือบ 40 ปีหลังจากนั้นก็เกิดการระบาดครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งตอนนี้คาดว่าจำนวนคนไข้ที่ตายจากอีโบลารอบนี้สูงกว่า 4000 คนแล้ว
อีโบลาเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิด “ไข้เลือดออก” ชนิดหนึ่ง ประเมินกันว่ามาจากค้างคาวและธรรมดาไม่ได้เป็นโรคของมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่มนุษย์ไม่มีภูมิต้านทาน อาการของอีโบลาในระยะแรกๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่คือไข้สูง อาเจียนและเจ็บคอ แต่ในไม่ช้าจะมีอาการเลือดออกทางหูหรือจมูกและในอวัยวะภายในอีกด้วย ซึ่งจบลงด้วยการที่ไตและตับเลิกทำงาน เกือบครึ่งหนึ่งของคนไขจะเสียชีวิต
ศาสตราจารย์ พีเทอร์ พิออท ซึ่งขณะนี้เป็นคณบดี “วิทยาลัยอนามัยและโรคเมืองร้อนของลอนดอน” อธิบายว่าอีโบลาไม่ใช่โรคที่ติดง่ายๆ ผ่านหยดน้ำในอากาศเหมือนไข้หวัดใหญ่ เขาพูดว่า “ถ้ามีคนไข้ติดเชื้ออีโบลานั่งข้างๆ ผมบนรถไฟใต้ดิน ผมจะไม่กังวลถ้าคนไข้คนนั้นไม่อาเจียนใส่ผม” อีโบลาติดได้จากของเหลว เช่นเลือด อาเจียน หรือน้ำลาย และอาจติดจากเหงื่อคนไข้ได้ แต่ของเหลวเหล่านี้ต้องเข้าปากหรือจมูกเรา อย่างไรก็ตามไวรัสนี้แปรตัวได้ถ้ามีการแพร่ระบาดไปในหมู่คนจำนวนมาก
ระยะเวลาเพาะเชื้อใช้เวลาประมาณ 21 วัน และในช่วงนี้คนไข้จะไม่มีอาการและเราติดเชื้อจากเขาไม่ได้