ข้อถกเถียงเรื่องการปฏิรูป "สภาขุนนาง"ในอังกฤษ
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ในวาระที่บ้านเมืองของเรากำลังถกเถียงเอาเป็นเอาตาย
เรื่องของที่มาของวุฒิสมาชิกกันอยู่นี้
ก็อยากจะนำเอาเรื่องราวที่เขาถกเถียงกันในเรื่องการปฏิรูปสภาขุนนางในอังกฤษ
มาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย
แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องอังกฤษให้ฟังก็อยาก
จะฝากข้อคิดเรื่องเมืองไทยไว้สักนิดว่า
ถ้าจะเถียงกันเรื่องการมีอยู่และที่มาของวุฒิสภานั้น
ก็คงต้องแยกเรื่องที่จะต้องเถียงกันก่อน ก็คือ
1.เรื่องของหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่าวุฒิสภา
2.เรื่องของการยึดโยงกับประชาชนของสถาบันที่เรียกว่าวุฒิสภา
ซึ่ง
จะพูดถึงทั้งสองประเด็นได้ ก็ต้องตรวจสอบจุดยืนและอคติที่มีในใจก่อนว่า
เรามีมุมมองที่ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตยและ "ประชาชน" เช่นไร
ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราเถียงกันมันจะเป็นเรื่องของการ "แถ" มากกว่า "เถียง"
เพราะมันจะเป็นลักษณะของการที่เราคิดก่อนว่า "ต้องมี" หรือ "ไม่ต้องมี"
แล้วเราค่อยไปฟัง หรือหาเหตุผลที่มารองรับสิ่งที่เราต้องการ
ฝากไว้
แค่นี้แหละครับ
มาเข้าเรื่องเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองในสังคมที่เป็นหนึ่งในสังคมต้นแบบ
สังคมประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ ประเทศอังกฤษกันดีกว่าครับ
ประเทศ
อังกฤษมักเป็นประเทศที่เรานึกถึงว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่ก็เป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
ไม่มีกฎหมายหมิ่นกษัตริย์/หมิ่นรัฐบาล (เพราะถูกยกเลิกไปในช่วง ค.ศ. 2009)
และมีระบบสองสภาที่ชัดเจนมากว่าเรียกสภาหนึ่งว่า สภาสามัญชน (House of
Commons) และอีกสภาเรียกว่า "สภาขุนนาง" (House of Lords) ...
จะเรียกสภาอำมาตย์ซะก็กลัวจะแปลไม่ตรง (นัก)
ความรู้เล็กน้อยของคน
บ้านเราที่รับรู้กันมาก็คือ สภาขุนนางนั้นเป็นสภาที่มีมาตั้งแต่โบราณ
และมีลักษณะที่สืบทอดกันมาทางสายเลือด
แต่สิ่งที่เราควรรับรู้เพิ่มก็มีหลายเรื่อง คือ
เดิมนั้นสภาขุนนางนั้นมีอำนาจมาก แต่วันนี้มีอำนาจน้อยลง และมีลักษณะที่
"ด้อยกว่าในทางอำนาจ" เมื่อเทียบกับสภาคนธรรมดา อาทิ
ไม่มีสิทธิยกเลิกกฎหมาย (มีแต่ให้คำแนะนำและหยุดยั้งได้ชั่วคราว)
แถมในบางกรณีก็มีการกำหนดด้วยว่าในเรื่องนั้นจะอภิปรายได้ไม่เกิน 90 นาที