คอป.กับความเป็นกลาง
โดยใบตองแห้ง
เห็นแกนนำ นปช.ไล่บี้ คอป. ประเด็นที่มีอนุกรรมการ 2 คนใกล้ชิดพันธมิตรแล้วสมเพช ผมก็วิพากษ์ คอป.แต่เรื่อง 2 คนนี้เป็นเรื่องเล็ก ถ้า นปช.จะทักท้วงทำไมไม่ทำก่อนหน้านี้
ส่วนที่ว่ายูเอ็นเห็นชอบรายงาน คอป.ก็ ต้องดูให้ดี แถลงการณ์ยูเอ็นย้ำว่าทหารจะต้องเป็นกลางทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระ และสนับสนุนให้ทบทวนมาตรา 112 (ซึ่ง ปชป.และสื่อที่เอาข่าวยูเอ็นมาตีปี๊บไม่ได้เห็นด้วยกับเขาเสียหน่อย)
คอป.ไม่ใช่ “คนกลาง” ตั้งแต่แรก เพราะผู้มีบทบาทใน คอป.หลาย รายไม่ได้คัดค้านรัฐประหาร ออกอาการเห็นด้วยในที เคยปกป้องม็อบยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ด้วยท่าทีแตกต่างกับม็อบยึดราชประสงค์ เพียงแต่ก็ยังเป็นผู้มีมนุษยธรรม มีความเศร้าเสียใจเมื่อเห็นชาวบ้านถูกฆ่าตาย พยายามทำความเข้าใจกับมวลชนเสื้อแดงมากขึ้น
กระนั้นด้วยจุดยืนข้างต้นก็ทำให้รายงาน คอป.มีปัญหาเชิงทัศนะ การให้น้ำหนักเรื่องที่มา รากเหง้า และข้อเสนอแนะ
ปัญหาในรายงาน คอป.ไม่ ใช่เรื่อง “ชายชุดดำมีจริง” ซึ่งมีแต่แกนนำ นปช.เท่านั้นที่ตะแบงไม่ยอมรับ “ชายชุดดำมีจริง” แต่เป็นเหตุผลเพียงพอให้ ศอฉ.ใช้ “กระสุนจริง” กับผู้ชุมนุมหรือไม่ นั่นต่างหากประเด็นสำคัญที่หายไปจากรายงาน คอป.
รายงาน คอป.ระบุ ว่า มีผู้เสียชีวิตจากชายชุดดำ 9 คน แต่ก็ชี้ชัดว่ามวลชนจำนวนมากเสียชีวิตจากกระสุนที่มีวิถีมาจากทางทหาร รวมทั้งนักข่าวญี่ปุ่น นักข่าวอิตาลี โดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศยังชี้ว่าภาพทหารยิงปืนนั้นไม่ใช่กระสุนยางแต่ เป็นกระสุนจริง ฉีกคำให้การของทหารต่อดีเอสไอโดยสิ้นเชิง
ชายชุดดำมีจริง และแกนนำ นปช.บางคนยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง แต่มวลชนส่วนใหญ่เป็นโจรไปด้วยหรือ การตัดสินใจใช้ทหารพร้อมคำสั่งให้ใช้กระสุนจริงได้ สมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่าเหตุ คอป.ไม่ ตอบตรงนี้เลยนอกจากตอกย้ำว่า “ชายชุดดำมีจริง” และ “แกนนำยั่วยุ” ทั้งที่รายงานก็บอกว่ามวลชนที่เสียชีวิต 80 กว่าคนมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่อาจมีเขม่าดินปืน ส่วนที่เหลือไม่ได้มีอาวุธร้ายแรง
วันที่ 10 เมษายน ศอฉ.ส่งทหารเข้า “ขอคืนพื้นที่” ผ่านฟ้าอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เหมือนเป็นการ “เอาคืน” จากที่ “เสียหน้า” ถูกม็อบยึดไทยคมปลดอาวุธทหาร วันที่ 13-19 พฤษภาคม แม้อ้างว่า นปช.ล้มโต๊ะเจรจา แต่ม็อบตอนนั้นก็ร่อยหรอ แกนนำบางคนถอนตัว ผู้ที่เคยสนับสนุนก็เรียกร้องให้ยอมรับเงื่อนไขยุบสภาใน 6 เดือน จำเป็นต้องใช้กำลังหรือไม่
คอป.ยัง วิเคราะห์คำสั่ง ศอฉ.เปรียบเทียบว่าการปฏิบัติของทหารไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แปลว่าทหารทำเกินกว่าเหตุ? แต่ทำไมไม่วิเคราะห์ด้วยว่าการออกคำสั่งเช่นนั้น เสี่ยงต่อการที่ทหารจะทำเกินเหตุอยู่แล้ว ผู้ออกคำสั่งควรรู้แก่ใจ
ประการสำคัญคือ คอป.วิเคราะห์ รากเหง้าของปัญหา ซึ่งเหมือนจะดูดี วิพากษ์ทั้งการใช้อำนาจของรัฐบาลทักษิณมาจนรัฐประหาร คดีซุกหุ้นมาจนตุลาการภิวัฒน์ แต่ให้น้ำหนักพิกล เรายอมรับกันว่ารัฐบาลทักษิณอำนาจนิยม แต่รัฐประหารและการใช้ตุลาการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมา คือสิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งลุกลามรุนแรง
อ.คณิต ณ นคร เหมือนฝังใจคดีซุกหุ้น คดีซุกหุ้นคือรอยด่างของความยุติธรรม แต่ก็เป็นเพราะตุลาการบางคน ขณะที่ “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งเข้ามาร่วมมือกับรัฐประหารสร้างความยุติธรรมสองมาตรฐาน สะเทือนถึงความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการทั้งสถาบัน มันต่างกันนะครับ
คอป.ไป ทำวิจัยมาอย่างไร จึงสรุปเช่นนี้ ที่น่ากังขาคือเรื่องนี้เป็นความเห็นที่มีอยู่ทั่วไป ไม่ต้องวิจัยก็ได้ แล้วแต่ใครจะมีทัศนะอย่างไร เหตุใด คอป.จึงต้องใช้เงินจ้างที่ปรึกษาโครงการวิจัยและเก็บข้อมูล 24 โครงการ 25.88 ล้านบาท นี่เป็นเรื่องที่น่าชี้แจงด้วย
(ที่มา)
http://www.komchadluek.net/detail/20120924/140719/คอป.กับความเป็นกลาง