ทางเลือกของเราที่จะข้ามพ้นความบ้าบอของระบบกลไกตลาด
หากผลผลิตออกมามีมากจนขายทำกำไรไม่ได้
เทคนิคการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมจะส่งผลให้มีการปลดคนงานและมี
ความทุกข์ แทนที่มันจะช่วยให้ลดเวลาที่ต้องทำงานหนักลง
หรือแทนที่มันจะช่วยเพิ่มมาตรฐานของชีวิตให้กับทุกคน
แปลโดย ครรชิต พัฒนโภคะ
ที่มา http://socialistworker.org/2012/08/30/our-alternative-to-market-madness
เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ ยังคงได้รับผลกระทบหลายอย่างจากวิกฤตล่าสุด ซึ่งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สมัยวิกฤต ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา มันสร้างความเสียหายต่อเนื่องกระทบไปทั่วโลก การจ้างงานหายไป การเอาเปรียบแรงงานเข้มข้นมากขึ้น สำหรับคนที่ยังมีงานทำอยู่ สวัสดิการสังคม สาธารณูปโภคถูกจำกัดลดลง หรือไม่ก็ถูกแปรรูปการให้บริการไปเป็น บริษัทเอกชน
ขณะเดียวกัน ธนาคารและบริษัทต่างๆ กำลังเพลินกับตัวเลขสถิติผลประกอบการเป็นเงินสด ๒ ล้านล้านดอลล่าร์ ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ผลการลงทุนมีกำไร และบ่อยๆ ครั้งที่ได้กำไรสูงทำลายสถิติ ส่วนเรื่องอัตราการเสียภาษีของบริษัท และผู้ประกอบการระดับเศรษฐีก็ทำสถิติเช่นเดียวกัน แต่เป็นอัตราต่ำตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา และนี่เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลพรรคเดโมแครต ที่สัญญาว่าจะทำให้พวกคนรวยเสียภาษีที่เป็นธรรม
ขอต้อนรับสู่ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ ๒๑ ในโลกที่กลับตาลปัด ที่ความยากจนกระจายออกสู่คนหมู่มาก และความร่ำรวยอย่างเหลือเชื่อกลับกระจุกตัวในคนกลุ่มน้อย มาอยู่เคียงข้างกัน แต่มันไม่เหมือนกันกับในสมัยก่อน ในสังคมไพร่กับศักดินาที่การทำงานต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย มีไม่เพียงพอสำหรับทุกๆ คนในสังคม วิกฤตของทุกวันนี้ เป็นผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ที่มีมากจนล้นของสินค้าที่ผลิตออกมา ไม่ใช่ว่าจะขาดแคลน
ขอยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ว่างๆ ที่สามารถจะนำไปทำการค้า การอุตสาหกรรม หรือโรงงานได้ ประมาณหลายร้อยล้านตารางฟุต นับจนถึงเดือนกรกฎาคม การนำที่ดินมาทำประโยชน์ทางอุตสาหกรรม อยู่ที่ ๗๙.๓ เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่ามาตรฐานที่บันทึกไว้ แต่ก็ยังดีกว่าจุดต่ำที่ ๖๖.๘ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๕๒ ที่เริ่มเกิดวิกฤตการเงิน
ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นของจีน การผลิตสินค้าออกมามากเกินไปนั้นกลับสร้างปัญหามากขึ้น อย่างที่ นสพ.นิวยอร์คไทม์ รายงานไว้ว่า....
“หลัง ๓ ทศวรรษของการเติบโตอย่างไม่ลืมหูลืมตา จีนกำลังพบกับปัญหาที่ไม่คุ้นเคย เกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศ การเพิ่มจำนวนอย่างมากของสินค้าที่ขายไม่ออกจนไม่มีที่เก็บ ปริมาณที่มากเกินไปของผลผลิตทุกอย่าง ตั้งแต่ พวกโลหะ และของใช้ในบ้าน ไปจนถึงรถยนต์ และอพาร์ทเม้นท์ ทำให้ความพยายามของจีนที่จะฟื้นตัวให้ได้จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังหดตัวลง นั้น ต้องมีอันชะงักไปอีก มันยังส่งผลให้เกิดสงครามราคาในตลาดโลก และชักนำให้ผู้ผลิตทั้งหลาย พากันเพิ่มความพยายามขึ้นอีกเท่าตัว ในการส่งออกสินค้าที่ล้นตลาดและขายไม่ได้ในประเทศ”
นวัตกรรมใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี่ ซึ่งได้สร้างผลผลิตขึ้นอย่างมหาศาล อย่างไม่น่าเชื่อในระบบทุนนิยม สายการประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ การใช้หุ่นยนตร์ สามารถจะช่วยให้มนุษย์พ้นไปจากความยากจน ความหิว และความต้องการต่างๆ ได้อย่างถาวร
แต่ในสังคมนายทุน ปัญหาว่าจะผลิตอะไรและเท่าไหร่ไม่ได้ตัดสินกันบนพื้นฐานว่า ผู้คนทั้งหลายต้องการอะไรบ้าง เพื่อการเอาชีวิตให้อยู่รอด มันตัดสินกันที่ว่าอะไรจะทำกำไรได้ให้กับเจ้าของสำนักงาน โรงงาน และกับสถานที่ทำการก่อสร้าง