ความแปลกแยกของมนุษย์ในสังคมทุนนิยม 1
Bertell Ollman
คาร์ล มาร์คซ์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง อธิบายความแปลกแยกเหินห่างของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมว่าเป็น “ความผิดพลาด/จุดอ่อน” ของระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งตัวของนายทุนและผู้ใช้แรงงาน
โดย พจนา วลัย
ตอนที่ 1 สรุปทฤษฎีความแปลกแยกของคาร์ล มาร์คซ์
บทความนี้ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านน่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามผู้เขียนเขียนเพื่อสนองความอยากรู้ของตัวเองมากกว่าว่า ความสัมพันธ์ของคนในระบบทุนนิยมดำเนินไปอย่างไร มีความขัดแย้งในตัวเองหรือไม่ ก่อให้เกิดความแปลกแยก (Alienation) ออกจากความเป็นมนุษย์ของคนในชนชั้นหลัก 2 ชนชั้นคือชนชั้นกรรมาชีพและนายทุนหรือไม่ อย่างไร หรือระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมทุนนิยมกำลังบ่อนทำลายความเป็นมนุษย์ใน ตัวเราหรือไม่ เพียงใด โดยในตอนที่ 1 จะเป็นการสรุปความคิดของมาร์คซ์จากหนังสือเรื่อง Alienation: Marx’s Conception of Man in Capitalist Society ของ Bertell Ollman นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (ความแปลกแยก : แนวความคิดของมาร์คซ์ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ในสังคมทุนนิยม ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2519 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ : ลอนดอน นิวยอร์ก และเมลเบิร์น)
และตอนที่ 2 จะเป็นการนำทฤษฎีความแปลกแยกของมาร์คซ์นี้ไปถกเถียงและประยุกต์ใช้ในการ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานในปัจจุบันที่สำนึกของคนเปลี่ยน แปลงไปมาก หลายคนยอมรับทุน แต่อีกหลายคนต้องการปฏิรูป และปฏิวัติระบบให้เป็นสังคมนิยม
ระบบทุนนิยมที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ ก่อให้เกิดการยอมรับในปรัชญาของระบบนี้ไปอย่างสิ้นเชิงและไม่คิดสงสัย หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงระบบนี้อย่างถอนรากถอนโคน ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งในแถบยุโรปกำลังตั้งข้อสงสัยและไม่พอใจกับระบบทุน นิยมอย่างมากเพราะก่อให้เกิดวิกฤตสังคมซ้ำซากและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะนายทุนบรรษัทข้ามชาติกับรัฐมีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของคนทำงานมากเกินไป จนชีวิตของคนนั้นขาดความมั่นคง สังคมขาดการคุ้มครอง คนตกงาน ฆ่าตัวตาย และถูกทำให้ไร้ค่า
คาร์ล มาร์คซ์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง อธิบายความแปลกแยกเหินห่างของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมว่าเป็น “ความผิดพลาด/จุดอ่อน” ของระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งตัวของนายทุนและผู้ใช้แรงงาน แต่ผู้ใช้แรงงานจะได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดของระบบนี้รุนแรงกว่านายทุน (หน้า 132) แล้วแต่ว่าอยู่ในตำแหน่งใดและมีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร การที่ผู้ใช้แรงงานทุกข์ทรมานกับความแปลกแยกนั้นมาจากกิจกรรมการผลิตที่ผู้ ผลิต (ผู้ใช้ความสามารถในการทำงาน-labor power) ไม่ได้เป็นเจ้าของผลผลิต (labor) นั้น แต่กลับไปเป็นของนายทุนแทบทั้งหมด โดยได้รับเพียงค่าจ้าง/เงินเดือนตอบแทนความสามารถในการทำงานของตัวเอง
ดังนั้น สิ่งที่เราจะเข้าไปดูคือ ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยม ระบบที่เน้นการผลิตสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยน สะสมทุน ความมั่งคั่ง แต่มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์และการเคารพซึ่งกันและกัน และสุดท้ายเป็นระบบที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แตกหักกันระหว่างแรงงานกับทุน โดยมีรัฐทุนนิยมเป็นตัวสร้างความแตกแยกของคนในสังคมทุนนิยมให้แหลมคมมากขึ้น