เยาวชนใต้มองรัฐดับไฟใต้ ไม่ตรงจุด
กรรมการบริหาร
ฝ่ายประสานงานภาคใต้ ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.
แสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ระลอกล่าสุด
เป็นการตอบโต้ข่าวลือเรื่องการเปิดเจรจาระหว่างกลุ่มแกนนำกับภาครัฐ
พร้อมระบุว่า การคงกำลังทหารในพื้นที่ ไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว
แต่รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชน เป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง
นายฮากิม พงติกอ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรรมการบริหาร
ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. ฝ่ายประสานงานภาคใต้
ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง คือ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
แสดงความคิดเห็นต่อกรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกล่าสุด
โดยระบุว่า ความรุนแรงนี้
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเหตุระเบิดรถยนต์ ที่สุไหงโก-ลก
จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคมที่ผ่านมา และเป็นการตอบโต้ข่าวลือ
เรื่องแกนนำผู้ก่อการที่ประเทศอินโดนิเซีย รับการเจรจากับรัฐบาลไทย
ด้านนายฮากิม ตั้งข้อสังเกตว่า
เหตุการณ์คนร้ายประกบยิงทหารจนเสียชีวิต 4 นายและบาดเจ็บอีก 2 นาย
ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งกล้องวงจรปิด
สามารถบันทึกภาพใบหน้าผู้ก่อเหตุได้อย่างชัดเจนนั้น
คือความตั้งใจของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ที่ต้องการบอกภาครัฐ
ว่าผู้ก่อเหตุตัวจริง จะยังคงทำงานในพื้นที่ต่อไป
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เป็นสิ่งสะท้อนว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองไหน จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล
ต้นตอของความรุนแรงยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมา
นโยบายและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน อาจลดความถี่ของการก่อเหตุได้
แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ เยาวชนคนนี้ ยังระบุว่า
ความพยายามของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหารายวันมากกว่า
นายฮากิมยังได้กล่าวอีกว่า
เห็นด้วยกับข้อเสนอบางข้อ จากทั้งหมด 8 ข้อ ของนายถาวร เสนเนียม
สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา
โดยเฉพาะการยกเลิกกฏหมายพิเศษบางฉบับ เช่น
พระราชกำหนดการบริหารแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เพราะมองว่าเป็นกฏหมายที่ให้สิทธิเจ้าหน้าที่มากเกินไป
และเห็นว่าควรใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง แทน พรก.ฉุกเฉิน
แต่หนทางดีที่สุด คือ หามาตรการอื่นมาใช้แทนกฏหมายพิเศษ
ส่วนการจัดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา
จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต.นั้น
หากสามารถแก้ปัญหาเรื่องหน่วยงานต่างๆ ขาดเอกภาพ
และกำหนดทิศทางการทำงานให้ตรงกันได้ เชื่อว่าจะให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้น
แต่ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการแก้ปัญหาด้วย
นายฮากิม ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ขณะนี้สัดส่วนทหารและตำรวจต่อประชากรในพื้นที่ มีมากถึง 1 ต่อ 16 คนแล้ว
ซึ่งนับว่าสูงมาก แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
การส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยต่างๆที่มีความหลากหลายลงไป จึงไม่ช่วยแก้ปัญหา
และยังทำให้เกิดการขัดแย้งในหมู่เจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง เขาจึงเห็นว่า
ทหารในพื้นที่ ควรมาจากกองทัพภาคที่ 4 เพียงหน่วยเดียว
ที่มีความเข้าใจพื้นที่มากกว่า
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว
มุมมองของกรรมการบริหาร สนนท. ระบุว่า รัฐบาลไทย
ต้องชูยุทธศาสตร์ให้คนในพื้นที่ กำหนดอนาคตของตัวเอง ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้สิ่งที่พวกเขา
กำลังทำอยู่เพื่อร่วมคลี่คลายความรุนแรงนั้น
คือการจัดตั้งกลุ่มแกนนำนักศึกษา
เข้าไปส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาได้แสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพื่อให้ประชาชน
เป็นผู้บอกกับสังคมว่า อะไรคือความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา
(คลิกฟัง)
http://news.voicetv.co.th/thailand/47260.html