'จักรภพ' ชี้สัมพันธ์สร้างสรรค์กับชาติเพื่อนบ้าน จะเกิดได้ต่อเมื่อปฏิรูปการเมืองเสียก่อน
จักรภพ
ระบุในอดีตไทยแพ้คดีพระวิหารเพราะกัมพูชายึดมุมมองระหว่างประเทศ
ส่วนไทยเหมือนอันธพาลท้องถิ่นพร้อมใช้กำลังเสมอ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องละทิ้งมุมมองนี้ให้ได้
แนะควรส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก
อย่าสร้างภาพกระเหี้ยนกระหือรือใช้กำลังทหาร
ด้านทูตไทยที่กรุงเฮกระบุให้การศาลโลกวันนี้
ทนายฝ่ายไทยจะแสดงแผนที่หลายฉบับ
วันนี้ (17 เม.ย.) นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งลี้ภัยต่างประเทศ ได้แสดงความเห็นกรณีการให้การที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีไทย-กัมพูชา ทางเฟซบุคบัญชีส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า
"พี่น้องหลายท่านถามผมเรื่องคดีปราสาทพระวิหารในศาลสถิตย์ยุติธรรม ระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะนี้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเบิกความโดยการแถลงด้วยวาจาไปก่อนเมื่อวันจันทร์ (15 เมษายน) ที่ผ่านมาและฝ่ายไทยเราจะใช้สิทธิ์อย่างเดียวกันในวันนี้ ท่านอยากให้ผมวิเคราะห์ท่าทีของกัมพูชาตามที่นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ กัมพูชานำคณะแถลงไป รวมถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย"
"จักรภพ" ระบุไทยแพ้คดีพระวิหารเพราะอ้างกรรสิทธิแบบท้องถิ่น ขณะที่กัมพูชายึดมุมมองระหว่างประเทศ
"ยินดีช่วยตอบครับ ผมขอตัวที่จะไม่อธิบายความตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะอธิบายตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระดับภูมิภาค และการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์อันแท้จริง เราต้องรู้ก่อนอะไรอื่นว่าคดีความนี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมืองของแต่ละ ฝ่าย ไม่ใช่ข้อพิพาททางกฎหมายล้วนๆ ผมกล้าพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของ ICJ จะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ก็จะไม่จบสิ้นอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าการเมืองไทยยังแตกแยกกันเป็นจุลถึงขนาดนี้"
"ทบทวนสั้นๆ ในเงื่อนปมที่สำคัญกันเล็กน้อยนะครับ ไทยเราแพ้คดีปราสาทพระวิหารในศาลเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ. 2505 หรือหนึ่งปีก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ 2 ครั้ง 2 ยุคที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในการสู้คดี หนึ่งคือเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน และเสด็จทอดพระเนตรปราสาทพระวิหารใน พ.ศ. 2472 จนฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างว่า เจ้านายองค์สำคัญในพระราชวงศ์และรัฐบาลไทย (ขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช) ยังทรง “รับเชิญ” ซึ่งแสดงว่าทรงยอมรับว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา สองคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามถือโอกาสชุลมุนในช่วงนั้นส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่พิพาท กับกัมพูชาไว้หลายจุด รวมทั้งเขาพระวิหาร (ตามชื่อเรียกในขณะนั้น) ด้วย แต่เมื่อสงครามเลิกก็ถูกบังคับให้ส่งคืนหมด เหตุการณ์หลังนี่เอง ที่กระตุ้นกัมพูชายื่นฟ้องต่อ ICJ ดังกล่าวข้างต้น"