หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

การแก้หรือยกเลิกกฏหมาย 112 เป็นการล้มล้างทหาร กษัตริย์เป็นเพียงองค์ประกอบรอง

การแก้หรือยกเลิกกฏหมาย 112 เป็นการล้มล้างทหาร กษัตริย์เป็นเพียงองค์ประกอบรอง

 

jifpp.jpg
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ทหารโกหกว่าเขารับใช้กษัตริย์เสมอ แต่แท้จริงแล้ว เขารับใช้ตัวเองต่างหาก

เมื่อทหารก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ทหารโกหกว่ากระทำไปเพื่อ “ปกป้อง” ระบบ ประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ต่อจากนั้นมีการเพิ่มการใช้กฏหมายหมิ่นกษัตริย์ฯ (มาตรา 112) ในการปิดปากผู้ที่คัดค้านรัฐประหาร และเพื่อให้ความชอบธรรมกับทุกอย่างที่ทหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำในภายหลัง จนในที่สุดมีการเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดงมือเปล่าด้วยข้ออ้างว่ากำลัง “ปกป้องสถาบันกษัตริย์” 


เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ทหาร กษัตริย์ และ กฏหมาย 112 เพื่อให้เราชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาเผด็จการตรงจุดใดบ้าง


ผู้ที่ทำลายประชาธิปไตยไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม คือทหาร โดยที่กษัตริย์ภูมิพลมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการถูกใช้เป็นเครื่องมือเชิงสัญญลักษณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทหารเป็นหลัก และกฏหมาย 112 มีไว้เพื่อไม่ให้ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของทหาร 


ทหารโกหกว่าเขารับใช้กษัตริย์เสมอ แต่แท้จริงแล้ว เขารับใช้ตัวเองต่างหาก


การสร้างความชอบธรรมจากกษัตริย์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทหารไทย เพราะทุกวันนี้กระแสประชาธิปไตยขยายไปทั่วโลกในจิตใจประชาชน เวลาทหารทำรัฐประหารก็อาจพยายามอ้างว่าทำ เพื่อประชาธิปไตยแต่ ไม่ค่อยมีใครเชื่อ เพราะบทบาททหารในการเมืองกับระบบประชาธิปไตยมันไปด้วยกันไม่ได้ นอกจากนี้กองทัพไทยไม่มีประวัติอะไรเลยในการปลดแอกประเทศไทยอย่างในกรณีกอง ทัพอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ดังนั้นทหารต้องอ้างความชอบธรรมจากที่อื่น คือจากสถาปันกษัตริย์ ซึ่งทหารเป็นผู้ปั้นขึ้นกับมือในอดีต


นอกจากทหารแล้ว ชนชั้นนายทุนกับข้าราชการชั้นสูงในไทย ก็พยายามเกาะโหนกษัตริย์ภูมิพลในรูปแบบเดียวกันด้วย แต่นั้นไม่ได้แปลว่านายภูมิพลเป็น “เหยื่อ” เพราะ เขาพร้อมใจจะร่วมมือกับทหารและนายทุนเสมอ และที่สำคัญคือพร้อมจะรับตำแหน่งการเป็นประมุขของประเทศ และได้ดิบได้ดีในด้านการเงินจากบทบาทนี้ ถ้าไม่อยากทำก็ควรลาออกตั้งแต่แรก


ชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหาร นายทุนใหญ่ และนักการเมืองในรัฐสภา ต้องการให้ประชาชนมองว่านายภูมิพลเป็นทั้ง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” “กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และ “เทวดา” พร้อมๆ กันหมด และจะมีการยัดเยียดสิ่งนี้ตลอด โดยเริ่มในโรงเรียนประถม แต่มันมีเป้าหมายแอบแฟง เพราะทุกอย่างที่ชนชั้นปกครองทำกับพลเมืองไทย ในสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม จะถูกเสนอว่าเป็นนโยบายของประมุข ดังนั้นเราไม่มีสิทธิ์วิจารณ์ ดังนั้นหน้าที่ของกษัตริย์ภูมิพลคือการให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมเลวๆ ของทหาร นายทุน และนักการเมือง


ผู้เขียนมองว่าเราไม่ได้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ ทั้งๆที่มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ในรูปแบบทหารและอำมาตย์ส่วนอื่นๆ     การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง ทหาร กษัตริย์ และกฏหมาย 112 แบบนี้ แปลว่าในรูปธรรม การจัดการกับกฏหมาย 112 ต้องทำพร้อมกับการลดอำนาจอันไม่ชอบธรรมของทหาร นี่คือสาเหตุที่นายพลหัวโบราณทั้งหลาย น้ำลายฟูมปาก และพูดถึงการทำรัฐประหารรอบใหม่ เมื่อประชาชนออกมาเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก 112

พูดง่ายๆ 112 มีไว้ปกป้องทหารเป็นหลัก



การเริ่มเข้าใจว่าทหารคือศัตรูหลักของประชาธิปไตย และ กฏหมาย 112 ถูก ใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทหารเป็นหลัก ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ง่ายขึ้นเท่าไร แต่อย่างน้อยมันช่วยให้เราชัดเจนว่าเราสู้กับใคร แต่เรายังต้องหาทางกำจัดอำนาจทหารที่มาจากการใช้อาวุธและความรุนแรงอย่างที่ เราเห็นที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์เมื่อปี ๒๕๕๓


แน่นอนบทความนี้จะถูกตัดสินโดยทหารและพรรคพวกว่า “ผิดกฏหมาย 112” แต่มันไม่ใช่เพราะบทความนี้สร้างภาพว่ากษัตริย์ภูมิพลอ่อนแอ มัน “ผิด 112” เพราะมันเปิดโปงบทบาทของทหารในการใช้กษัตริย์ต่างหาก


แกนนำ นปช. เปลี่ยนจากนักต่อสู้ไปเป็นไม้ประดับของรัฐบาล


เรา ต้องเข้าใจว่าในอดีต รัฐบาลไทยรักไทยและนายกทักษิณ ไม่ต่างอะไรจากทหาร นายทุน และนักการเมืองอื่นๆ ที่พยายามใช้กษัตริย์ภูมิพล เพื่อสร้างความชอบธรรมกับอำนาจตนเองในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์พร้อมจะใช้ 112 หนักขึ้นและคัดค้านการปฏิรูปใดๆ อีกสาเหตุคือเขากำลังปรองดองยอมจำนนกับอำนาจทหารด้วย


ในขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทราบดีว่าถ้าไม่มีเสื้อแดงแต่แรก เขาคงไม่ได้ชนะการเลือกตั้งแน่ และเขาทราบดีว่าเสื้อแดงจำนวนมากไม่สบายใจกับการจับมือประนีประนอมกับอำนาจ ทหาร ดังนั้นจึงมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเสื้อแดงอย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยสำคัญ เพื่อเป็นไม้ประดับหลอกลวงและกล่อมขบวนการเสื้อแดงให้นิ่ง ในขณะเดียวกันแกนนำ นปช. อื่นๆ ก็ค่อยๆ สลายพลังการเคลื่อนไหวของขบวนการ เพื่อที่จะเป็นแค่กองเชียร์ของรัฐบาล และกองเชียร์ของรัฐบาลเพื่อไทย ก็เท่ากับเชียร์ให้กับการก้มหัวให้ทหาร


นี่คือยุทธิ์วิธี “การนำนักเคลื่อนไหวมาเป็นพวก” เพื่อมัดมือปิดปากและสลายขบวนการ ในอดีตมีการใช้วิธีนี้ในฟิลิปปินส์หลังการล้มเผด็จการมาร์คอส และในอังกฤษพรรคแรงงานมีความเชี่ยวชาญในวิธีการนี้เป็นพิเศษ เมื่อใช้กับสหภาพแรงงาน


ด้วยเหตุนี้ ขบวนการรณรงค์ให้แก้หรือยกเลิก 112 และขบวนการเพื่อให้ปฏิรูปรัฐธรรมนูญอย่างถอนรากถอนโคนโดยลบล้างผลพวงของรัฐ ประหาร ๑๙ กันยา มาจากคนก้าวหน้า ทั้งเสื้อแดงและคนอื่น ที่ไม่ได้เป็นกองเชียร์ให้รัฐบาลเพื่อไทย และไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ นปช. แต่อย่างใด หกเดือนหลังการเลือกตั้ง คนเหล่านี้คือความหวังของทุกคนที่อยากเห็นประชาธิปไตยและวัฒนธรรมพลเมือง เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศของเรา

(ที่มา)



ประชุมดาวอสเริ่มแล้ว เน้นถกอนาคตทุนนิยม-ผลการประท้วงทั่วโลก

ประชุมดาวอสเริ่มแล้ว เน้นถกอนาคตทุนนิยม-ผลการประท้วงทั่วโลก



สมาชิก ขบวนการยึดการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ OCCUPY WEF (อ็อคคูพาย ดับเบิ้ลยูอีเอฟ.)มาตั้งค่ายประท้วงขึ้นที่การประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปีที่ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีการสร้างหมู่บ้านกระท่อมน้ำแข็งของชาวเอสกิโม ที่เรียกว่า อิ๊กลู (IGLOO) ขึ้นในหมู่โรงแรมหรูหราและวงล้อมความปลอดภัย


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เวทีประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาวอสซึ่งเริ่มขึ้นในวันนี้จะเน้นไปที่การอภิปราย ถึงปัญหาหนี้ยุโรปและผลกระทบของปัญหาดังกล่าวต่อเศรษฐกิจโลก

โดยนางแองเจล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเป็นผู้เปิดการประชุมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 42 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้นำรัฐบาลกว่า 40 รัฐ นักการธนาคารชั้นนำระดับโลกจำนวน 19 คน เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักธุรกิจชั้นนำระดับโลก นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และนักวิชาการ รวมทั้งหมดกว่า 2,600 คน

ทิม เวเบอร์ บรรณาธิการเศรษฐกิจของเว็บไซต์บีบีซีระบุว่า หนึ่งในประเด็นการประชุมยังรวมไปถึงการอภิปรายถึงอนาคตของทุนนิยมด้วย ขณะที่หัวข้อการประชุมอื่นๆได้แก่การผงาดขึ้นมาของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลก การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และผลกระทบของการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลก


ทั้งนี้ เวเบอร์ระบุว่า การประชุมดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางข่าวร้ายทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการ ที่ไอเอ็มเอฟออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากวิกฤติ และผลสำรวจที่ระบุว่า ประชาชนได้สูญเสียความไว้วางใจในรัฐบาลและภาคธุรกิจ รวมไปถึงบรรดาผู้บริหารระดับโลกได้สูญเสียความเชื่อมั่นในการลงทุนไปเรียบ ร้อยแล้ว


 

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327471789&grpid=&catid=06&subcatid=0600