ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อะไรคือก้าวต่อไปของฝ่ายแรงงาน
โดยเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
อย่างที่ทราบกันดีว่ากระทรวงแรงงานได้ประกาศให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดนำร่องไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
สำหรับกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐมและนนทบุรี
กำหนดให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำเริ่มต้นที่อัตราใหม่ 301 บาท จากเดิม 215
บาทต่อวันและภูเก็ตเริ่มต้นที่ 309 บาท จาก 221 บาทต่อวัน
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ถือว่ามีนัยสำคัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน
ในสังคมไทยสองประการ กล่าวคือ ประการแรก
ถือเป็นการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดหรือจะพูดว่าเป็นการปรับ
ค่าแรงในสัดส่วนที่สูงที่สุด นั่นคือ ร้อยละ 40
ของอัตราค่าจ้างที่ใช้กันอยู่
เท่าที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่มีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาตั้งแต่ปี 2515
ก็ว่าได้ ประการที่สอง
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากเจตนารมณ์ของฝ่ายราชการแต่
เกิดขึ้นจากนโยบายของพรรคการเมืองในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป นั่นคือ
พรรคเพื่อไทย (ความจริง
พรรคการเมืองใหญ่แทบทุกพรรคแข่งขันกันเสนอนโยบายนี้ความแตกต่างจึงอยู่ที่
สัดส่วนของอัตราค่าแรงที่เสนอให้ปรับขึ้นเท่านั้น) จึงอาจกล่าวได้ว่า
การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน
ที่ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศในฐานะฐานเสียงของพรรคการเมือง
ถือได้ว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมาตรงที่ไม่ได้
เป็นผลลัพธ์ของการร้องขอและรอความกรุณาจากฝ่ายข้าราชการเพียงอย่างเดียวแต่
เป็นการสะท้อนปัญหาในระดับชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานผ่านกลไกหรือช่องทาง
การเมืองที่เป็นทางการ
ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการรณรงค์จากฝ่ายแรงงานเองตั้งแต่ต้นก็ตาม
แน่นอน
เราทราบกันดีอีกเช่นกันว่าการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ไม่ได้เป็นไป
อย่างราบรื่นและเป็นไปตามที่ฝ่ายแรงงานคาดหวัง
เพราะอุปสรรคสำคัญของการปรับอัตราค่าแรงให้สะท้อนกับความเป็นจริงเรื่องค่า
ครองชีพนั้น คือ
อิทธิพลของฝ่ายนายจ้างและนักอุตสาหกรรมอย่างสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม
แห่งประเทศไทย รวมถึงกลไกการปรับค่าแรงที่ใช้กันอยู่ ก็คือ
คณะกรรมการค่าจ้างกลางซึ่งเป็นโครงสร้างที่ถูกครอบงำโดยฝ่ายราชการเป็นหลัก
ทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้การปรับค่าแรงในอดีตเป็นไปอย่างยากลำบากตลอดมา
เสียงของคนงานที่กระจัดกระจายและอ่อนแรงจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาคการ
เมืองและสื่อกระแสหลักนัก
ผู้ที่ติดตามวิวาทะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมาตั้งแต่ต้น
ย่อมรู้ดีว่ากระแสต่อต้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สำคัญนั้นเกิดขึ้นจาก
องค์กรผลประโยชน์ของฝ่ายนายจ้างดังกล่าว ล่าสุด
ต้นเดือนเมษายนที่เพิ่งมีการประกาศใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใน 7
จังหวัดนำร่องนั้น นายภูมินทร์ หะรินสุต
รองประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบ
อย่างรุนแรงกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)
ที่มีการจ้างพนักงานตั้งแต่ 1-25 คน ซึ่งมีจำนวนถึง 98%
ของสถานประกอบการในประเทศ