อะไรกำลังเกิดขึ้นในตูรกี?
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์
การลุกฮือของประชาชนตูรกีตามเมืองใหญ่ๆ
ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม เป็นการท้าทายรัฐบาลอย่างแรง
และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนี้ได้รับการคัดค้านจากมวลชนจำนวนมาก สิ่งที่จุดประกายคือแผนการทำลายและสร้างตึกทับสวน
เกซิ กลางเมืองอิสแตมบูล การประท้วงครั้งนี้ไม่มีพรรคหรือกลุ่มไหนวางแผนจัดการล่วงหน้า
แต่มีหลายองค์กรที่ตอนนี้เข้ามาแข่งแนวเพื่อแย่งชิงการนำ
เช่นพวกชาตินิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนทหาร และฝ่ายซ้ายที่ต้านทหารแต่ไม่สนับสนุนรัฐบาล
นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ประท้วงมีมวลชนของพรรครัฐบาลส่วนหนึ่งด้วย
ประชาชนไม่พอใจการที่รัฐบาลมั่นใจในตนเองจนไม่ยอมปรึกษาใคร
และไม่พอใจความรุนแรงของตำรวจที่มีต่อผู้ประท้วง
นอกจากนี้ตุรกีอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงจากยุคเผด็จการทหาร
และคนจำนวนมากอยากกวาดล้างกฏหมายเผด็จการให้หมดไป ก้าวหนึ่งที่ผ่านไปแล้วคือการสร้างสันติภาพกับชาวเคอร์ด
แต่มีก้าวอื่นๆที่ต้องเดิน
ประเด็นสำคัญคือฝ่ายซ้ายจะขยายอิทธิพลในมวลชน หรือฝ่ายชาตินิยมจะดึงทหารเข้ามา
เพราะในกลุ่มผู้ประท้วงมีความคิดหลากหลาย
เบื้องหลังสถานการณ์การเมืองในตูรกี
รัฐบาลตูรกีเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
พรรครัฐบาลคือพรรคมุสลิมหรือ “พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา” (AKP) พรรคนี้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2002 และชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ
ล่าสุดในปี 2011 พรรคนี้ได้คะแนนเสียง 50% นโยบายของรัฐบาลเน้นกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุน แต่มีนโยบายให้คนจนบ้าง
รัฐบาลไม่ได้คลั่งศาสนาเหมือนที่ฝ่ายค้านอ้าง อย่างไรก็ตามระบบการเมืองในตุรกีมีซากของเผด็จการหลงเหลือจากสมัยเผด็จการทหาร
เช่น มีการจำคุกนักข่าว หรือทนายความที่เห็นต่างจากรัฐ และนักกิจกรรมชาวเคอร์ดที่อยากแบ่งแยกดินแดนก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง
นอกจากนี้พรรค AKP มักจะเน้นศีลธรรมจารีตที่มองว่าผู้หญิงควรจะมีลูกอย่างน้อยสามคน
และนายกรัฐมนตรี เอร์โดแกน
อยากเห็นการยกเลิกกฏหมายที่อนุญาตให้สตรีทำแท้งอย่างเสรี
พรรคฝ่ายค้าน
(CHP) อ้างว่าเป็นพรรคในรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย
และคอยสร้างภาพว่ารัฐบาลจะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งกฏหมายอิสลาม
อย่างไรก็ตามฐานเสียงหลักของพรรคนี้มาจากคนชั้นกลางและคนรวย และพรรค CHP นี้เป็นพรรคที่ใครๆ มองว่าเป็นปากเสียงของทหารเผด็จการ กองทัพตูรกีมีประวัติการแทรกแซงการเมืองผ่านการทำรัฐประหารพอๆ
กับในไทย และในช่วงปี 2002-2007 มีการวางแผนเพื่อพยายามโค่นรัฐบาล
AKP ที่มาจากการเลือกตั้ง
การเมืองตูรกีหันมาเน้นการคลั่งชาติ และการสร้างสังคมที่ไร้ศาสนาประจำชาติ ในยุคพัฒนาหลังการล่มสลายของอาณาจักร
ออตโตมัน โดยที่ คามาล อัตตาเทอร์ค ปฏิวัติสังคมและขึ้นมาเป็นผู้นำเผด็จการ
นโยบายคลั่งชาตินี้ถูกใช้เพื่อกดขี่เชื้อชาติอื่นๆ ภายในประเทศ เช่นชาวอาร์มีเนีย
ชาวยิว ชาวกรีก และชาวเคอร์ด และตูรกีมีกฏหมายคล้ายๆ 112 ของไทยที่ห้ามไม่ให้ใครวิจารณ์ คามาล อัตตาเทอร์ค
หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว