หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธีรยุทธ ฟันธง การเมืองไทยไม่มีทางออกระยะสั้น ...ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน-อำนาจของทักษิณ

ธีรยุทธ ฟันธง การเมืองไทยไม่มีทางออกระยะสั้น ...ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน-อำนาจของทักษิณ




ธีรยุทธ บุญมี  ผ.อ. สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  18 มีนาคม 2555  ได้แถลงข่าวเรื่อง การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน


1.ยุคของการเมืองปัจจุบัน
ยุคของทักษิณ-การเมืองรากหญ้า ประชานิยม

1. การเมืองยุคของทักษิณ  ช่วงเกือบ 15 ปีที่พรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้งทั่วไป ได้เสียงข้างมากติดต่อกัน รวมทั้งสามารถขยายฐานรากหญ้า เสื้อแดง ระดมพลไปเลือกตั้งและชุมนุมประท้วงได้อย่างกว้างขวาง สะท้อนว่าทักษิณกลายเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีบารมีทางการเมืองในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ที่มีบทบาทเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย ซึ่งได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทักษิณจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้นหรือประเทศล่มจมยังเป็นสิ่งต้องพิสูจน์ อีกยาวนาน

2. เกิดการเมืองรากหญ้า-ประชานิยม วิกฤติการเมืองไทยรุนแรง เพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ที่รุนแรงที่สุดคือการไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย เพราะมองว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ต้องสนใจจริงจัง เช่น ฝ่ายอนุรักษ์มองว่า เสื้อแดงไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา โง่จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษาจึงถูกชักจูงโดยทักษิณ แต่ชาวรากหญ้าเสื้อแดงกลับมองว่า ทักษิณมีบุญคุณล้นเหลือคือ

(ก) นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยผ่อนเบารายจ่ายของคนจนอย่างมาก  นอกจากแก้การเจ็บไข้ร่างกายแล้ว ยังแก้เจ็บใจที่แต่ก่อนไปสถานพยาบาลแล้วถูกดูถูกปฏิเสธ 

(ข) ชาวบ้านมองกองทุนและโครงการช่วยคนจนต่างๆ ว่าเป็นก้าวแรกที่มีการช่วยเหลือทางวัตถุโดยตรงและจริงจังแก่ชาวบ้าน

(ค) ชาวบ้านชอบความรวดเร็วและเด็ดขาดเอาจริงเอาจังของทักษิณ โดยเฉพาะในการปราบปรามยาเสพติด (ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ปัญหายาเสพติดกระทบโดยตรงต่อครอบครัวคนชั้นกลางล่าง ชั้นล่าง หรือคนจนในเขตเมืองมากกว่าที่คิด และลดลงมากในช่วงทักษิณ) ส่วนเสื้อแดงก็ไม่ยอมรับเสื้อเหลือง มองเป็นพวกไม่มีเหตุผล ความคิด เพราะคลั่ง “ชาติ" คลั่ง “เจ้า”

3. การเมืองรากหญ้ามีความสำคัญต่อประชาธิปไตย ถ้าจะมองพัฒนาการการเมืองไทยในด้านสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้ว ในช่วงราชาธิปไตยชาวบ้านไม่มีทั้งเสรีภาพและศักดิ์ศรี ต่อมาในช่วงเผด็จการทหารมีบางส่วนได้มีศักดิ์ศรีแต่ไม่มีเสรีภาพ ชนชั้นกลางในสังคมไทยเพิ่งจะมีเสรีภาพก็ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และชาวบ้านระดับรากหญ้าเองก็มามีเสรีภาพในการแสดงออกหลัง 19 กันยายน 2549 การเมืองรากหญ้าจึงเป็นดัชนีบ่งชี้พัฒนาการของสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม พลังรากหญ้า เสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นคราวๆ ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด

(อ่านต่อ)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332048444&grpid=00&catid=&subcatid=