จาก ๖ ตุลา ถึงเผด็จการยุคนี้
ถ้าเราเปรียบเทียบเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ กับ วิกฤตประชาธิปไตยภายใต้เผด็จการทหารยุคนี้ เราจะเห็นชัดว่า “เรื่องประชาธิปไตย” กับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้
การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายที่ธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๑๙ เป็นผลพวงของการลุกฮือล้มเผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา สามปีก่อนหน้านั้น และรากฐานการลุกฮือของนักศึกษา กรรมาชีพ และเกษตรกรสมัยนั้น มาจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจการเมืองกับฐานะทางเศรษฐกิจ และสภาพสังคมที่ถูกแช่แข็งไว้ภายใต้เผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส คือไม่มีการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย ไม่มีการปรับค่าจ้าง ไม่มีการพัฒนาสภาพการจ้างงาน และไม่มีการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชนบท ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ขยายตัว แต่ในขณะเดียวกันมีคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัว และไม่ยอมรับสภาพเช่นนี้อีกต่อไป มีคลื่นการนัดหยุดงานของกรรมาชีพเกิดขึ้น นักศึกษาตื่นตัวมากขึ้น และเกษตรกรเริ่มออกมาประท้วง นั้นคือสาเหตุที่มวลชนเหล่านี้ชื่นชมแนวสังคมนิยมในหลากหลายรูปแบบ เพราะสังคมนิยมคือแนวคิดที่ต้องการล้มเผด็จการขุนศึกและนายทุน และแก้ไขปัหญาความเหลื่อมล้ำพร้อมๆ กัน
ที่สำคัญคือมีการจัดตั้งคนชั้นล่างในรูปแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมและยึดอำนาจรัฐ นี่คือสิ่งที่ชนชั้นปกครองไทยรับไม่ได้ และเป็นสาเหตุที่เขาเข่นฆ่าประชาชนและก่อรัฐประหาร
วิกฤตปัจจุบันมีจุดร่วมตรงที่ ข้อเสนอของทักษิณและพรรคไทยรักไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาสังคมให้ทันสมัย พร้อมกับมีการดึงประชาชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนา และประชาชนก็อาศัยระบบการเลือกตั้งเพื่อแสดงความชื่นชมกับนโยบายรูปธรรมของ ไทยรักไทย การที่ไทยรักไทยครองใจประชาชนผ่านนโยบาย มีผลทำให้ชนชั้นปกครองไทยซีกอนุรักษ์นิยม รับไม่ได้กับประชาธิปไตยและการพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อม เขาหวงสภาพเดิมที่เขาเป็นอภิสิทธิ์ชน