ต้านเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย แต่ไม่สนับสนุนเพื่อไทย
ในกลางปี 1917
รัฐบาลปฏิรูปของรัสเซีย ซึ่งเกิดจากการล้มกษัตริย์ซาร์ ดูหมดสภาพ อ่อนแอ ปฏิกิริยา
ไม่กล้ายุติสงครามโลก และไม่อยากสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ปรากฏว่านายพล
คอร์นิลอฟ เริ่มก่อรัฐประหารเพื่อหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืด
พรรคบอลเชวิคต้องตัดสินใจปกป้องรัฐบาลจากการถูกโค่นล้ม
แต่ในขณะเดียวกันต้องต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ก้าวหน้า เพื่อหวังปฏิวัติสังคมนิยมในเดือนข้างหน้า
แกนนำพรรคอย่าง เลนิน กับ ตรอทสกี เรียกยุทธิ์วิธีนี้ว่า “การวางปืนบนไหล่รัฐบาล” เพื่อสู้กับเผด็จการปฏิกิริยา
มีการนัดหยุดงานโดยคนงานรถไฟที่ลำเลียงทหารของฝ่ายรัฐประหาร
มีการใช้ทหารก้าวหน้าปิดเมืองหลวง จนในที่สุดนายพล คอร์นิลอฟ พ่ายแพ้
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมแบบรัสเซีย 1917
และเรายังไม่มีพรรคแบบพรรคบอลเชวิคที่ครองใจคนจำนวนมาก
แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหมดสภาพที่จะปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย
เพราะไปยอมจำนนต่ออำนาจปฏิกิริยาในหลายๆ เรื่อง เช่นการยุบสภา
ถอนร่างกฏหมายที่จะทำให้สว.มาจากการเลือกตั้ง
และด้วยการเสนอให้นิรโทษกรรมคนมือเปื้อนเลือด และที่สำคัญรัฐบาลไม่อาศัยพลังมวลชนเสื้อแดงเพื่อผลักดันการปฏิรูปไปข้างหน้า
เพียงแต่ใช้เสื้อแดงเป็นกองเชียร์ มันมีบทเรียนบางอย่างจากรัสเซีย 1917
ที่นำมาใช้ได้
ในการโจมตีขบวนการปฏิกิริยาของสุเทพ และปกป้องประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยม
เราต้องเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร
ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ต้องยกเลิก 112
และต้องนำทหารกับนักการเมืองมือเปื้อนเลือดมาขึ้นศาล
นอกจากนี้เราต้องเสนอให้ปฏิรูปศาลปฏิกิริยาอีกด้วย
แน่นอนการต่อสู้ของเราจะเป็นรูปแบบการเสนอความคิด
เพราะเราเล็กเกินไปที่จะสู้แบบพรรคบอลเชวิค
แต่การเสนอแนวทางแบบนี้ของเราท่ามกลางการร่วมต่อต้านเผด็จการกับคนเสื้อแดงและ นปช.
จะช่วยไม่ให้เรากลายเป็นแค่กองเชียร์ของพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ หรือทักษิณ
และจะให้ความมั่นใจกับเราที่จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
เราควรไปกาช่องไม่เลือกใครหรือศึกษาแนวทางของพรรคเล็กๆ ที่อาจก้าวหน้ากว่าเพื่อไทย
แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ควรหลงลืมว่า “การเมือง” มีองค์ประกอบมากมาย
ทั้งการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา
(ที่มา)