ลัทธิตุลาการนิยม
โดยใบตองแห้ง
ปฏิกิริยา
สะท้อนกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อการรับคำร้องให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา
พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา
ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น
ประมุข ตามมาตรา 68 หรือไม่
พร้อมทั้งยังสั่งระงับการลงมติรับร่างแก้ไขมาตรา 291 วาระที่ 3 นั้น
กล่าวได้ว่า
เป็นไปอย่างรวดเร็วและร้อนแรงยิ่ง อย่างไม่เคยมีมาก่อน
เปรียบเหมือนโดนสวนหมัดเข้าฉับพลัน เช่นเฟซบุคของ อ.พนัส ทัศนียานนท์
ที่ชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้เข้าชื่อกันถอดถอน
ขณะที่เฟซบุคของวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายฮาวาร์ด
ก็ชี้ว่ารัฐสภาสามารถลงมติวาระ 3
ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอำนาจ
ขณะที่ฝ่าย
การเมือง อย่างจตุพร พรหมพันธุ์
ก็ขานรับด้วยการประกาศล่าชื่อมวลชนเสื้อแดงถอดถอน 8
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทันที และประธานรัฐสภาก็กำลังปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมาย
เพื่อจะไม่ทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มีไปถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ไม่ยักกล้าส่งไปให้ประธานรัฐสภาโดยตรง)
ศาลทับซ้อน
แน่นอนความ
รวดเร็วของเทคโนโลยีเป็นสาเหตุหนึ่ง
แต่คำวินิจฉัยที่ขัดตรรกะของกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเจน
ด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดา ที่ไม่ต้องเป็นนักกฎหมาย ก็เป็นสาเหตุสำคัญ
รัฐสภากำลัง
จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการมี สสร.จากเลือกตั้ง
แก้ไขเสร็จยังจะให้ประชาชนลงมติ มีตรงไหนที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
และจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญมาแส่อะไรกับกระบวนการเหล่านี้
ยิ่งถ้ามองที่มาที่ไป
รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกรัฐประหาร
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้รับตำแหน่งจากกลไกที่รัฐประหารวางไว้
กระโดดเข้ามาขัดขวาง พวกท่านมีความชอบธรรมหรือไม่
บางคน
เช่นจรัญ ภักดีธนากุล เป็นทั้งรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550
แล้วมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับทับซ้อน 2 เด้ง
ท่านย่อมไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนและที่มาของตุลาการศาล
รัฐธรรมนูญ โดยประเพณีปฏิบัติก็ต้องให้ตุลาการเดิมพ้นตำแหน่งแล้วสรรหาใหม่
ฉะนั้น
ท่านทำเช่นนี้ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกวิจารณ์ว่า ปกป้องพื้นที่อาหาร
อย่างน้อยตำแหน่งนี้ก็เงินเดือนเป็นแสน ตั้งใครก็ได้มาเป็นที่ปรึกษา เลขา
คนขับรถ
แน่นอน
ถ้าการวินิจฉัยของพวกท่านมีหลักทางกฎหมายมั่นคง ชัดเจน ใครก็กล่าวหาไม่ได้
แต่นี่ พอพูดกันแง่กฎหมาย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้สูงส่ง
กลับตีความอย่างที่แม้แต่นักศึกษานิติศาสตร์ปี 1 ยังจับได้
เพราะแม้แต่เด็กปี 1 ก็ยังเข้าใจว่า คำว่า “และ” “หรือ”
ในตัวบทกฎหมายนั้นหมายความอย่างไร
“ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว.....” (มาตรา 68 วรรคสอง)