หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

19 กันยานี้ ทำไม

สนธิ บุญยรัตกลิน และประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงลอยนวล?

ใจ อึ๊งภากรณ์

วันครบรอบห้าปีรัฐประหาร ๑๙ กันยา ควรเป็นวันที่มีการนำนาย สนธิ บุญยรัตกลิน มาขึ้นศาลในข้อหากบฏต่อประชาชนและล้มล้างรัฐธรรมนูญ และควรเป็นวันที่มีการนำนาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นศาลในฐานะเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่า แต่ประเทศไทยขาดความเสมอภาค ความเป็นธรรม และเสรีภาพ และขาดรัฐบาลที่เคารพประชาชนเสื้อแดง สิ่งเหล่านี้จึงไม่เกิด

     ลัทธิหรือปรัชญา ความเสมอภาคเป็นอาวุธทางความคิดที่สำคัญที่สุดในการทำลายลัทธิอภิสิทธิ์ชนของอำมาตย์ ที่เป็นฐานรับรองความย่ำแย่ของสังคมเรามานาน

     อำมาตย์ทำรัฐประหารเพราะมองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ ต่ำและโง่เกินไป” “ไม่ควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาลอำมาตย์เกลียดชังการที่รัฐบาลไทยรักไทยในอดีตนำภาษีประชาชนมาบริการประชาชน เช่นในระบบสาธารณะสุข เพราะอำมาตย์อยากเอาเงินภาษีพลเมืองมาใส่กระเป๋าของตนเอง มาเชิดชูตนเอง  หรือซื้อเครื่องบินราคาเป็นล้านให้ตัวเองนั่ง อำมาตย์เกลียดระบบรัฐสวัสดิการและประมุขของเขาได้เคยพูดไว้เป็นหลักฐานด้วย เขาชอบให้คนจนพอเพียงกับความจน ไม่อยากให้มีการกระจายรายได้ ดังนั้นเราต้องรณรงค์ให้มีรัฐสวัสดิการและการกระจายรายได้ ภายใต้แนวคิด “ความเสมอภาค”

     อำมาตย์อยากให้เราใช้ภาษาพิเศษกับประมุขตัวแทนของเขา ชื่อประมุขก็แปลกๆยาวๆ เพื่อไม่ให้ดูเท่าเทียมกับเรา เวลาเราไปหาก็ต้องคลานเหมือนสัตว์ นิยายอำมาตย์อ้างว่าเขาเหนือมนุษย์ธรรมดาเพราะเก่งทุกอย่าง นี่คือลัทธิที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำในสังคม

     ลัทธิความคิดเสมอภาคจะทำลายข้ออ้างและการสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร หรือการแทรกแซงการเมืองของทหาร เพราะทหารเกาะหลังกษัตริย์ และใช้กษัตริย์และลัทธิความวิเศษของกษัตริย์เป็นเครื่องมือเสมอ และใครที่เอ่ยถึงเรื่องนี้จะโดน 112

     ลัทธิความเสมอภาคในระบบประชาธิปไตยแท้ ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครต่ำ ไม่มีใครสูง ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ ทุกคนถูกติชมได้ ทุกคนต้องทำงานถ้ามีโอกาสหรือมีปัญญาพอ ทุกคนต้องเสียภาษี และที่สำคัญ ลัทธิเสมอภาคและประชาธิปไตยแท้ เสนอว่าพลเมืองทุกคนมีวุฒิภาวะที่จะปกครองตนเองและเลือกผู้แทนของตนเองอย่างเสรี ดังนั้นการทำรัฐประหาร การขัดขวางประชาธิปไตย และการมีคนถือตำแหน่งสาธารณะโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด การสืบทอดสายเลือดอาจทำให้เรามีหน้าตาเหมือนพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราได้ แต่มันไม่ใช่สาเหตุที่จะดำรงตำแหน่งพิเศษในสังคม

     ลัทธิหรือปรัชญาความเท่าเทียม และประชาธิปไตยแท้ เป็นสิ่งเดียวกับ สังคมนิยมเพราะสังคมนิยมเป็นระบบที่คนรากหญ้าต้องสร้างเอง เพื่อให้ทุกกิจกรรมในสังคมตอบสนองความต้องการ และเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน แต่สำหรับคนที่ยังงมงายในกลไกตลาดเสรี และแนวเสรีนิยมว่ามันจะนำไปสู่เสรีภาพหรือประชาธิปไตยได้ ผมขอย้ำว่าอำมาตย์ คมช. และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ล้วนแต่ต่อต้านประชาธิปไตย เป็นพวกที่คลั่งกลไกตลาดเสรี และนักวิชาการเสรีนิยมทั้งหลายในไทย สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยาในอดีต แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ กลไกตลาดเสรี และลัทธิเสรีนิยมใหม่ มีผลในรูปธรรมในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะอาศัยปรัชญา “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” และนอกจากนั้นยังมองว่าเมื่อพวกนายธนาคารทำเศรษฐกิจพัง พวกเขา “มีสิทธิ์” ที่จะโยนภาระในการจ่ายหนี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนจน โดยอ้างว่าเรา “ไม่มีสิทธิ์” ที่จะคัดค้านตลาดของเขาเลย เราเห็นปรากฏการณ์นี้ทั่วโลกในปัจจุบัน และในไทยสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง

     กลุ่มพลังหลักที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ไม่พอใจกับประชาธิปไตย โดยเฉพาะในกองทัพ หมู่ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจที่โกรธทักษิณ และปัญญาชนกับนักการเมืองเสรีนิยม การทำรัฐประหารได้รับความเห็นชอบจากกษัตริย์ด้วย เพราะกษัตริย์ภูมิพลไม่คัดค้าน และปล่อยให้ คณะทหารคมช.ติดผ้าเหลือง และถ่ายรูปการเข้าเฝ้าเพื่อกระจายให้ประชาชนดู กลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารนี้มีจุดร่วมในการดูถูกและเกลียดชังคนจน สำหรับเขา การมีประชาธิปไตย มากไปให้อำนาจมากเกินไปกับคนจนที่จะลงคะแนนเสียง และส่งเสริมให้รัฐบาลใช้เงินในการให้สวัสดิการและพัฒนาชีวิตของคนจน

     มวลชนเสื้อแดงที่ออกแรงเสียสละต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีของคนที่ถูกมองว่าเป็นไพร่หรือพลเมืองชั้นสอง เป็นผู้ที่ปกป้องวัฒนธรรมและประเพณีประชาธิปไตยในประเทศไทย และถ้าไม่มีเขา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์จะไม่มีวันชนะการเลือกตั้งได้

     วันครบรอบห้าปีรัฐประหาร ๑๙ กันยา ควรเป็นวันที่มีการนำนาย สนธิ บุญยรัตกลิน มาขึ้นศาลในข้อหากบฏต่อประชาชนและล้มล้างรัฐธรรมนูญ และควรเป็นวันที่มีการนำนาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นศาลในฐานะเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าอีกด้วย

     แต่วันนี้เราเห็นปรากฏการณ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มองว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่ไพร่ หรือฝุ่นใต้ตีน เมื่อยิ่งลักษณ์ควงนายทหารมือเปื้อนเลือด ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปดูสภาพน้ำท่วมในต่างจังหวัด การกระทำนี้เป็นการก้มหัวให้อำนาจทหาร และฟื้นความชอบธรรมให้ทหารที่ไม่เคยเคารพประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นเราเห็นรัฐมนตรีใหม่หลายคนออกมาปกป้องการใช้กฏหมาย 112 ที่เป็นเสาค้ำสำคัญเพื่อปกป้องทหาร กษัตริย์ เผด็จการ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

     นี่คือสาเหตุที่คนเสื้อแดง ในส่วนก้าวหน้า ที่ต้องการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความเป็นธรรม จะต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็งและอิสระจากอำมาตย์และเพื่อไทย เพื่อเคลื่อนไหวต่อไป ภาระของเรายังไม่จบสิ้น

คอลัมพ์อัพเดท 5 ปีรัฐประหาร 5ปี 19 กันยายน 2549 รุก ยัน รับ 17 9 54

http://www.youtube.com/watch?v=q5HJUJ_U-zU&feature=player_embedded#!

ก่อนวันสิ้นอำนาจ 19 กันยา 3 คมดาบ 3 จุดอ่อน "ทักษิณ" ปมทุจริตและผรุสวาท "ผมจะฉิบหาย"







วาระ 9 สมัย 7 นายกรัฐมนตรี 18 ปีในโรงละครทำเนียบรัฐบาล "ดร.วิษณุ เครืองาม" สวมบท "เนติบริกร" ตั้งแต่ต้นจนถึงฉากจบในสมัยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เรื่องเล่าจากปลายปากกา "เนติบริกร" มีครบทุกรส ทั้งร้อนแรง โศกเศร้า เรืองอำนาจ ถึงวันที่หล่นจากเก้าอี้ของ 7 นายกรัฐมนตรี

1 ใน 7 นายกรัฐมนตรีที่มีสีสันในโลกของเนติบริกร คือ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"

"ดร.วิษณุ" เล่าไว้ในหนังสือ "เล่าเรื่องผู้นำ" ในช่วงขาลงของ "พ.ต.ท. ทักษิณ" ว่า

"ภาพ อันสดใส แปลกใหม่นั้น เริ่ม มี ผู้ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลใน วิธีการ การมีผลประโยชน์แอบแฝงใน เป้าหมาย ความน่าเคลือบแคลงในธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และความไม่ระวัง สังวรในการคิด พูด ทำ หลักการบริหารแบบใหม่ ที่เคยถูกใจพระเดชพระคุณ ก็เริ่มเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง"

"ในระยะ หลัง 2545 ภายหลังการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีเกี่ยวกับการแจ้งบัญชี ทรัพย์สิน จนมี ผู้วิพากษ์วิจารณ์รุนแรงและต่อต้านคัดค้าน จากที่ท่านเคยทำอะไรก็ถูกหมด กลายเป็นผิดไปหมด แม้แฟนานุแฟนที่เหนียวแน่นยังคงมีอยู่ไม่น้อย"

"คนที่เคยรักกันชอบ กันและมีความหวังเต็มเปี่ยมในตัวท่าน หลายคนก็เริ่มลังเลและถอยห่างออกไป จนบางคนกลายเป็นปรปักษ์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้เจ้าตัวและทีมงานต้องคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด ไม่ใช่เอาแต่โทษพวกอำมาตย์"

"ดร.วิษณุ" อ้างถึงความเห็นของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงจุดจบของอำนาจ "พ.ต.ท. ทักษิณ" ประกอบวรรณกรรม

นายอานันท์พูดถึงอดีตนายกฯทักษิณ ตอนหนึ่งว่า...

"เมื่อ คิดไปแล้วก็เป็นเรื่อง น่าเสียดาย เพราะเมื่อตอนที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ผมเคยตั้งความหวังไว้สูงว่าเขาสามารถที่จะเป็นนักการเมืองคนสำคัญมาก ๆ ผู้ซึ่งสามารถนำประเทศชาติไปในทิศทางใหม่ และก็เป็นผู้ซึ่งสามารถผลักดันประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ก้าวไกลไปอีก ทว่านับเป็นความโชคร้าย เขาดู จะถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์บางสิ่งบางอย่าง"

คมดาบของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในทัศนะ "ดร.วิษณุ" มี 3 คม 3 ดาบ ที่เป็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน

คม ดาบแรก ความเด็ดเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด และความเชื่อมั่นตัวเองของผู้นำที่สูงเกินไป ทำให้เกิดการมุ่งเอาชนะคะคาน เสียงทัดทาน และ ไม่เคยแคร์ใคร ข้างฝ่ายผู้ตามก็พา กันสนองนโยบายอย่างรวดเร็ว เอาหน้า หวังผลข้ามคืน บางทีก็เฉียบขาด โดยไม่สนใจกฎหมาย และความ ชอบธรรม

คมดาบที่สอง การต้องการผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมและเดินหน้าไปได้ จำเป็นต้องมีนโยบายและการบริหารจัดการอย่างมีเทคนิค ได้แก่การชี้แจง ทำความเข้าใจ และอธิบาย เมื่อเจ้าของนโยบายใจเร็ว ใจร้อน ลงมาทำงานทุกระดับเสียเอง และดูเอาจริงเอาจังเหมือนมีอะไรในใจ จึงต้องแบบภาระรับผิดชอบแต่ผู้เดียว และมีโอกาสพลาดพลั้งได้ง่าย โดยไม่มีผู้อื่นมาแก้ตัวแทน

ดาบคมนี้เป็นอันตรายต่อ "พ.ต.ท. ทักษิณ" อยู่มาก และยาวนาน

ดร.วิษณุ สรุปจากประสบการณ์ว่า การพูดเล่นของผู้นำในที่สาธารณะที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทำให้กลายเป็นดาบอันตรายหลายประโยค อาทิ "ทำไมจะต้องไปเชื่อยูเอ็น ในเมื่อยูเอ็นไม่ใช่พ่อเรา"

หรือวรรคที่ว่า "โจรภาคใต้ไม่มีอะไร โจรกระจอกเท่านั้นเอง"

คำ ปราศรัยที่ว่า "จังหวัดไหนไม่เลือก ส.ส.ของพรรคไทยรักไทย การพัฒนาย่อมตามมาทีหลัง เราต้องจัดให้จังหวัดที่เลือก ส.ส.ของพรรคเราก่อน"

คมดาบที่สาม คือนโยบายดี ๆ หลายเรื่อง พอลงมาถึงแผนปฏิบัติการ หรือการลงมือทำจริง มักจะมีข่าวการทุจริต การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเจือปนด้วยเสมอ จนบ่อนทำลาย ส่วนดีของนโยบาย

จนเกิดการเรียกว่า "ทุจริตเชิงนโยบาย" อันเกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนส่วนตัว หรือการเข้าด้วยช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่พวกพ้อง เครือญาติ เพื่อนของญาติ

"...เวลามีอำนาจวาสนาบารมีนั้น น้ำขึ้นใคร ๆ ก็รีบตัก และใคร ๆ ก็อยากนับญาติด้วย"

การมีอำนาจแล้วขยายขอบเขตอำนาจไปครอบคลุมวงการต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า "ครอบงำ"

บางเรื่อง "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็ปฏิเสธกับ "ดร.วิษณุ" ว่าไม่รู้เรื่อง บางเรื่อง ก็ "ถูกอ้าง"

บางเรื่อง "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็เคยด่ารัฐมนตรีกลางวงประชุมคณะรัฐมนตรีว่า "ผมจะฉิบหาย เพราะเรื่องแบบนี้"

ดาบ คมนี้ "ดร.วิษณุ" อธิบายว่า "สำหรับท่านนายกฯทักษิณแล้ว ท่านเคราะห์ร้ายที่ว่า ถ้านับเป็นเป้าก็ใหญ่มาก ถ้าดูปริมาณของผลประโยชน์ที่ คนกล่าวหาว่าได้มา หรือปกป้องไว้ได้ ไม่สูญเสียออกไป ก็นับว่ามีมูลค่ามหาศาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางตรง หรือทางอ้อมก็หลากหลายยุ่บยั่บ แล้วยังกล้าจะทำอะไรที่เสี่ยงอีก"

"ข้อ กล่าวหาจึงไล่กันมาตั้งแต่ดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ที่ดินจัดสรร สนามกอล์ฟ สื่อโฆษณา หนังสือพิมพ์ จนถึงร้านขนม การฮุบ ซื้อกิจการต่าง ๆ ซึ่งน่าคิดว่าเหตุใด จึงถูกกล่าวหาเท็จบ้าง จริงบ้าง มากอย่างนั้น ที่ว่าสนิมเกิดจากเนื้อในเหล็กนั้นน่าจะจริง เพราะข่าวลือที่สะพัดกันทั่วไป หลายเรื่องมาจากคนใกล้ชิดของท่านนั่นเอง"

ดร.วิษณุสรุปไว้ใน พ.ศ. 2554 ว่า "ผมไม่กล้าสรุปว่าข้อกล่าวหาจะเป็นจริงไปเสียหมด และไม่เป็นธรรม ที่จะ กะเกณฑ์ให้คุณทักษิณรับผิดชอบทุกเรื่องตามข่าวลือ บางเรื่องผมควรรับผิดชอบแทนก็มี"

"นายกฯทักษิณเป็นคนที่มีคมดาบส่วน ที่เป็นคุณอยู่มาก แต่ก็มีคมดาบ อีกด้านที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งผู้นำที่จะก้าว ขึ้นมา หากรู้จักเลือกใช้แต่คมดาบ ด้านที่ดี และเก็บคมด้านที่จะกลับมาเป็นอันตรายต่อตัวเองเอาไว้ให้มิดชิด ก็จะบังเกิดประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่ ชักบ่อย หนักเข้าคมดาบด้านร้ายก็จะบาดตัวเอง"

เส้นทางก่อนสิ้นอำนาจของ "พ.ต.ท. ทักษิณ" ในบันทึกของ "ดร.วิษณุ" ยังมีตอนฉากจบ โปรดรอคอยชมตัวอักษรตอนรูดม่าน อีกไม่นานเกินคอย

(ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่19-21ก.ย.2554)

ชมภาพ คนเสื้อแดง ชุมนุมครบรอบ 5 ปีต่อต้านรัฐประหาร กลางสายฝน "จตุพร-ณัฐวุฒิ "อภิปรายปิดท้าย






















ผู้สื่อข่าวรายงานจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง (18 กันยายน 2554) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.)หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้จัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 5 ปีต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยมีคนเสื้อแดงทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่ง

แกนนำเสื้อแดงผู้หนึ่ง เปิดเผยว่า  เหตุผลในการจัดงานในวันนี้ เพราะวันที่ 19 ก.ย.เป็นวันทำการของทางราชการ จึงไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นจะปราศรัยไปจนถึงตี 1 วันที่ 19 ก.ย.เพื่อบอกกับพี่น้องประชาชนว่า 5 ปี ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ขณะที่แกนนำ นปช.ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จะขึ้นเครื่องกลับมาถึงช่วงประมาณ 15.00 น.และจะมาปราศรัยที่เวทีแน่นอน ส่วนจะมีวีดีโอลิงค์จากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่คงต้องถามนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
  
ทั้งนี้ แกนนำกลุ่ม นปช.ที่จะขึ้นเวทีปราศรัยวันนี้ ประกอบไปด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายแพทย์เหวง โตจิราการ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนอื่นๆ รวมถึงนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่ม นปช. ซึ่งทั้งหมดจะเดินทางกลับจากประเทศกัมพูชา ถึงประเทศไทยที่ท่าอากาศยานภูมิ ในเวลา 16.00 น  


อย่างไรก็ตามในช่วง 18.00 น. ได้มีฝนเทลงมาอย่างหนัก  ท่ามกลางคนเสื้อแดงที่ทะยอมมาชุมนุมจำนวนมาก



ภาพจาก เอเชียอัพเดท
http://www.youtube.com/watch?v=iaVAnLo5yRc&feature=player_embedded#!

ทุนนิยาม101: พัฒนาการระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย

รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) ดำเนินรายการโดย "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" นำเสนอตอนที่สาม สัมภาษณ์นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการและนักวิจัยสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน ตอน พัฒนาการระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย โดยทยอยนำเสนอตอนที่หนึ่ง

สำหรับผู้ดำเนินรายการ "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง



http://www.youtube.com/watch?v=Ly4wzjDu-B0&feature=player_embedded#!
...เงื่อนไขรัฐประหารยังไม่หมด หากแต่มันยังมาไม่ถึงต่างหาก...
19กย49 ไม่ใช่การรัฐประหารครั้งสุดท้าย
เหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณโดยกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า
“คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค”
ซึ่ง ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งที่มีการร่วมมือกันอย่างกว้างขวางที่สุดและเปิดเผย ที่สุดของผู้ที่มีส่วนร่วมจนทำให้เกิดการรัฐประหาร 19กย49 นี้
สัญลักษณ์และสัญญาณต่าง ๆ ถูกส่งออกมาและใช้กันอย่างกว้างขวางและเปิดเผย
โดยปราศจากการปฏิเสธจาก “แหล่งที่มา” ของสัญลักษณ์และสัญญาณต่าง ๆ เหล่านั้น
และถูกสำทับทำให้ข้อมูลเหล่านั้นดูหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกด้วยความร่วมมือของ “สื่อ” ต่าง ๆ
ที่พร้อมใจกันโหมประโคมกันอย่างพร้อมใจและพร้อมเพรียง ทำราวกับว่าได้รับ “สัญญาณตรง” มาเองก็ไม่ปาน

ผ่าน ไป 5 ปี หลาย ๆ เหตุการณ์ได้พิสูจน์โดยตัวของมันเองแล้วว่า สัญลักษณ์ หรือ สัญญาณ ต่าง ๆ ที่เคยมีการใช้กันในเหตุการณ์ 19กย49 นั้น
หลาย ๆ อย่างเป็น “ของจริง” ซึ่งทำให้เกิดเป็นสิ่งที่น่าตระหนกยิ่งกว่าตามมาก็คือ “ของจริง” ต่าง ๆ เหล่านั้น
ถูกประมวล ประเมิน และแทนที่ด้วย “ความจริง” เป็นความจริงที่ยากจะหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

และ ก็ต้องทำให้รับรู้กันอย่างจริงจังว่า หลังจากประสบความสำเร็จในเหตุการณ์ 19กย49 แล้ว “ของจริง” ยังไม่เคย “รามือ” เลยแม้แต่นิดเดียว
ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ที่ตามมาจากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ 19กย49 นั้น
มีแต่ความเข้มข้น เบ็ดเสร็จ และเด็ดขาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ ยุบพรรค ปลดนายกฯ รวมถึงการล้อมฆ่าคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวงด้วย

ปัจจัย 2 ประการที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19กย49 “ภายใน และ ภายนอกประเทศ”

ภายนอกประเทศ
จากการที่รัฐบาลทักษิณมีแนวโน้มที่จะปรับลดท่าทีที่มีต่อสหรัฐฯ ลง
โดยหันไปทาง ตะวันออกกลาง จีน และ รัสเซียมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก แนวคิดในเรื่อง “Barter Trade”
ซึ่งทำให้สหรัฐฯ สงวนท่าทีต่อการรัฐประหารในครั้งนี้
ภายในประเทศ ภาพของภาคประชาชนถูกกำหนดโดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ
โดยหากมองผ่านการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้จะทำให้มองเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวปกติของภาคประชาชนที่มักจะต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ
หากแต่เป็นข้ออ้างที่ออกจะแปลกประหลาดอยู่สักหน่อย นั่นก็คือ “เผด็จการรัฐสภา” หรือการคอรัปชั่นโกงกินของรัฐบาล
แต่ปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายทหารรับมุกก็คือประเด็นการ “ปกป้องสถาบัน”
ซึ่งหากจะมองให้ “ลึก” ลงไปอีกในประเด็นของ “สถาบัน” ผ่านข้อมูลของ Wikileaks
ก็จะทำให้เห็นประเด็นความขัดแย้งที่แท้จริงและชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
นั่นก็คือประเด็นความวิตกกังวลที่กลุ่ม “ชนชั้นสูง” มีต่อ “ภาพพจน์และความสัมพันธ์” ที่ 000 มีต่อคุณทักษิณ
จนถึงประเด็นการมองหาหนทาง “สำรอง”

ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นภายใน ท่ามกลาง "สถานการณ์เปลี่ยนผ่านในช่วงปลายรัชกาล"

และกำลังจะเป็น “เงื่อนไข” ที่จะนำไปสู่การรัฐประหารรอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เปิดแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ "ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 ก.ย.-จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่"(ชมคลิป)









http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=Nfk-r6RiI3Q#!

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ  ๑  ปีนิติราษฎร์

ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย


๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
๓.  ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัย อำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.)


และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผล ต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ


๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าว หาว่ากระทำความผิด  และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำ ความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทาง กฎหมายปกติได้

๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ


ประเด็นที่ ๒
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒



ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น

๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง


๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับ โทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙

๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)

ประเด็นที่ ๓
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย
และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ  มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม

๑.  คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝง เพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา  อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป


สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่าง เป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้ บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙  


๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วย เหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทาง การเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน  ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว


เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดี อาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหาย พึงได้ตามกฎหมายอื่น

๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำ หรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘

ประเด็นที่ ๔
การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการ ประชาธิปไตย  
๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่”



๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับ พัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง   

๓. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจน หมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ  “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือ ไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้

๔. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจ สูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่น คงตลอดกาล

๕. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์


คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔