การศึกษาภายใต้ทุนนิยม
โดย อ.ใจ
อึ๊งภากรณ์
ระบบการศึกษาสาธารณะสำหรับประชาชน
เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังกำเนิดของทุนนิยม เพราะก่อนหน้านี้ ภายใต้ระบบฟิวเดิล
ระบบศักดินา หรือระบบทาส คนส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรด้วยเทคโนโลจีพื้นฐาน
ดังนั้นคนที่อ่านออกเขียนได้ และคนที่ศึกษาวิทยาศาสตร์ ปรัชญา หรือวรรณคดี
มีแค่พวกพระ หรือครูศาสนา หรือในกรณีจีน
จะเป็นพวกข้าราชการที่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกไม่กี่คนเท่านั้น
เมื่อระบบทุนนิยมเข้ามา
มีการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ถูกดึงหรือผลักเข้ามาในระบบการผลิตสมัยใหม่และหลุดจากชีวิตชนบท
แม้แต่ในชนบทก็เริ่มมีการนำระบบเกษตรทุนนิยมเข้ามาแทนที่การผลิตของเกษตรกรรายย่อย
ในระยะแรกๆ ของกำเนิดทุนนิยม หรือที่เขาเรียกกันว่ายุค “การปฏิวัติอุตสาหกรรม”
ชนชั้นปกครองยังไม่ต้องการแรงงานฝีมือที่อ่านออกเขียนได้ แค่ต้องการ “ผู้ใช้แรง”
ดังนั้นไม่มีระบบโรงเรียนสำหรับเด็กส่วนใหญ่ และผู้ใหญ่ทั้งชายหญิง
และเด็กเล็กจนโต ก็ต้องไปทำงานกับเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า
หรือในเหมืองแร่ แรงงานเด็กแบบนี้มีประโยชน์สำหรับนายทุนที่สามารถจ่ายค่าจ้างน้อยๆ
และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวกรรมาชีพ
เพราะค่าแรงของผู้ใหญ่ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จริงๆ
แล้วมันก็ไม่ต่างจากสังคมเกษตรก่อนทุนนิยมด้วย
เพราะทุกคนในครอบครัวต้องช่วยทำงานในยุคนั้น เพียงแต่ว่าระบบอุตสาหกรรมมันโหดร้าย
สกปรก อันตราย และเต็มไปด้วยวินัยบังคับ ที่มาจากหัวหน้างานหน้าเลือด สภาพชีวิตของคนงานทุกอายุก็แย่
เพราะขาดอาหารที่มีคุณภาพ และขาดแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ ในประเทศยากจนสมัยนี้
เรายังพบแรงงานเด็กและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่สุดจะทนได้
แต่มันเป็นกรณีส่วนน้อยถ้าดูภาพรวมของโลก
เมื่อทุนนิยมพัฒนาขึ้น
และมีเทคโนโลจีที่สลับซับซ้อนมากขึ้น นายทุนเริ่มเห็นประโยชน์ของคนงานที่มีทักษะ
การศึกษา และฝีมือมากขึ้น
ยิ่งกว่านี้แรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างกำไรให้นายจ้าง
ย่อมเป็นแรงงานที่มีสุขภาพดีแข็งแรง
ดังนั้นมีการนำระบบการศึกษาสำหรับเด็กทุกคนมาบังคับใช้ผ่านนโยบายและค่าใช้จ่ายของรัฐ
แต่เนื่องจากทุนนิยมเป็นสังคมชนชั้น การศึกษาที่รัฐจัดให้คนธรรมดา
ย่อมแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการศึกษาในโรงเรียนเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของอภิสิทธิ์ชนที่จัดไว้สำหรับลูกหลานคนรวยและผู้มีอำนาจ
สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะรัฐต้องเก็บภาษีจากนายทุน บริษัทต่างๆ และประชาชนทั่วไปสำหรับระบบการศึกษา
และแน่นอนนายทุนใหญ่และคนรวยไม่ต้องการจ่ายภาษีสูงๆ เพื่อให้มีการศึกษาระดับเลิศๆ
ให้กับเด็กทั่วไปที่พอโตขึ้นแล้วจะมาเป็นคนงาน
ส่วนลูกหลานคนมีอำนาจหรือคนรวยเป็นพวกที่จะเตรียมตัวเข้าสู่ชนชั้นปกครอง
เขาจึงต้องได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด
ในระยะแรกเส้นแบ่งระหว่างโรงเรียนหรือสถานที่ศึกษาที่เก็บค่าเรียนสูง
กับสถานที่ศึกษาของรัฐที่ให้เรียนฟรี มันเพียงพอที่จะแยกพวกเด็กส่วนใหญ่ที่จะเป็นผู้ถูกปกครองออกจากเด็กที่จะเป็นชนชั้นปกครองในอนาคต
แต่พอทุนนิยมพัฒนาถึงระดับสูงขึ้น นายทุนจำเป็นที่จะต้องมีลูกจ้างประเภทที่เป็นช่างฝีมือที่เข้าใจ
ใช้ และออกแบบเทคโนโลจีได้ ดังนั้นในโรงเรียนรัฐจึงมีการสอบคัดเลือกเด็กบางส่วน
ที่จะเป็นแรงงานฝีมือระดับกลาง
และผู้ที่ผ่านการสอบนี้จะมีสิทธิพิเศษเข้าโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพมากขึ้น
บางคนอาจได้รับทุนพิเศษเพื่อเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นดีด้วย