ทำไมอียิปต์ ๓ กรกฏาคม ต่างโดยสิ้นเชิงจาก ไทย ๑๙ กันยายน
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์
หลาย
คนในไทย
อาจกังวลว่าพวกหน้ากากขาวจะฉลองการที่ทหารล้มประธานาธิบดีมูรซี่ในอียิปต์
และอาจอ้างว่ามันเหมือนรัฐประหาร ๑๙ กันยา แต่มันต่างกันโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่ทำให้มันต่างกันโดยสิ้น ไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความดี”
ของกองทัพอียิปต์แต่อย่างใด
กองทัพอียิปต์โกงกินและมือเปื้อนเลือดประชาชนพอๆ กับกองทัพไทย
เพราะกองทัพอียิปต์เคยปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ
และอดีตประธานาธิบดีมูบารักก็มาจากกองทัพ
มวลชนบางส่วนอาจดีใจที่กองทัพออกมาแทรกแซงและปลดประธานาธิบดีมูบารัก
และประธานาธิบดีมูรซี่ แต่กองทัพอียิปต์ไม่เคย “อยู่เคียงข้างประชาชน”
แต่อย่างใด
พลังแท้ที่ล้มทั้งประธานาธิบดีมูบารัก และประธานาธิบดีมูรซี่ คือพลังมวลชน
ล่าสุดมีการประท้วงเป็นล้านๆ ตามท้องถนน
มันเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์
และพลังสำคัญคือการนัดหยุดงานด้วย ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ไม่ใช่ชนชั้นกลาง
ทหารเพียงแต่ออกมาปลดประธานาธิบดี เพื่อปกป้องสถานภาพของตนเอง
เพราะกลัวกระบวนการปฏิวัติ
และข้อเรียกร้องหลักของมวลชนไม่เคยเป็นเรื่องการกวักมือเรียกให้ทหารทำการ
ปฏิวัติ
หรือให้มีกระบวนการแต่งตั้งผู้นำใหม่ที่ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย
ข้อเรียกร้องของมวลชนส่วนใหญ่ที่คัดค้านมูรซี่คือความต้องการที่จะผลักดัน
การปฏิวัติไปข้างหน้า เพื่อให้เป็น “การปฏิวัติที่กินได้”
คือมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่
ทั้งในด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย และในเรื่องปากท้อง
มีเรื่องนโยบายระหว่างประเทศอีกด้วย เขาไม่อยากเห็นนโยบายเดิมๆ
ที่ผูกมิตรกับอิสราเอล
ในกรณี ไทย ๑๙ กันยา มวลชนเสื้อเหลืองออกมาแต่ไม่ยิ่งใหญ่แบบอียิปต์
และเป็นการเรียกร้องให้ “เจ้านายที่อยู่เบื้องบน”
ปลดนายกที่มาจากการเลือกตั้ง มีการตั้งความหวังกับกองทัพ
และมีความต้องการที่จะหมุนนาฬิกากลับสู่สถานการณ์เดิมๆ
ยิ่งกว่านั้นมีความไม่พอใจที่รัฐบาลทักษิณทำตามคำมั่นสัญญาต่อคนจน
โดยดูถูกว่านั้นคือนโยบายแย่ๆ ที่เรียกว่า “ประชานิยม”
แต่ในอียิปต์มวลชนออกมาล้มมูรซี่เพราะไม่ทำตามสัญญาและไม่ทำอะไรที่เป็น
ประโยชน์ต่อคนจนเลย
สหาย ซาเมย์ นากวิบ จากองค์กรปฏิวัติสังคมนิยมอียิปต์ มีความเห็นว่า
“เรื่องมันยังไม่จบ ในช่วงแรกๆ มวลชนที่ต่อต้านมูรซี่แสดงความดีใจ
มีการเชียร์กองทัพ แต่มวลชนไม่โง่ เขารู้ว่าตำรวจกับทหารทำอะไรในอดีต
ความหวังที่จะมีการเปลี่ยนแปลงพุ่งสูงสุดขอบฟ้า สูงกว่าตอนเราล้มมูบารักอีก
และรัฐบาลใหม่ไหนที่เข้ามาคงจะไม่สามารถตอบสนองได้
มวลชนรู้ว่าตนเองมีพลังและมีสิทธิ์
เขาล้มประธานาธิบดีมูรซี่ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี
เพราะมูซี่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน มวลชนสามารถทำได้อีกในอนาคต”
พูดง่ายๆ ในอียิปต์
กองทัพเป็นผู้ประสานงานให้กับการปลดผู้นำตามความต้องการและการกดดันของมวลชน
และมวลชนกับทหารรู้ดีว่าถ้ากองทัพไม่ประพฤติตัวดีๆ
ตามกระบวนการประชาธิปไตย มวลชนสามารถล้มทหารได้
(ที่มา)