สื่อและการตรวจสอบบทบาทของ “กรรมการสิทธิมนุษยชน”
เหตุการณ์ต่อเนื่องจากการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อหยุดการเคลื่อนผู้ชุมนุมกลุ่ม พิทักษ์สยามไม่ให้ผ่านสะพานมัฆวานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเช้าวันเสาร์ที่ 24 พฤศิกายน 2555 นั้น มีกลุ่มคนหลากหลายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในทำนองตำรวจ ทำถูกต้องแล้วและเป็นลักษณะ “เกินกว่าเหตุ” แน่นอนไม่ต้องเดาว่าฝ่ายไหนพูดอย่างไร เอาเป็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาครั้งนี้ถูกด่าขรมว่าไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการ สลายการชุมนุมที่สากลโลกพึงกระทำ
องค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ต่อไปขอใช้โดยสั้นว่า กรรมการสิทธิฯ) ได้ออกมาติงการออกคำสั่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์เช้าวันนั้นว่าใช้ แก๊สน้ำตาเร็วไปหรือไม่ พร้อมแนะให้ใช้รถกระจายเสียงที่มีกำลังขับความดังที่มากกว่านี้เพื่อจะได้ ส่งสารไปยังผู้ชุมนุมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะมีการประชุมกรรมการสิทธิฯ ต่อกรณีนี้ในวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน (อ่านข่าวเต็ม ๆ ได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/pol/308995)
ข่าวนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่น้อย มีการกล่าวเสียดสีแดกดันพบเห็นได้ตามหน้าเฟซบุ๊คว่ากรรมการสิทธิฯ มีสองมาตรฐาน การชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทยมักได้รับการจับตาและพร้อมเป็นปาก เสียงให้เสมอ ในทางกลับกันการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปช. เมื่อพฤษภาคม 2553 กลับได้รับการเพิกเฉย ทั้ง ๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจากกระสุนจริงปลิดชีพถึง 98 ชีวิต) หากเมื่อเทียบระดับความรุนแรง จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตแล้ว เหตุการณ์ปี 2553 ถือเป็นเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวที่มีการสังหารกันกลางกรุง ทว่ากรรมการสิทธิฯ แทบไม่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ผู้สั่งการเลยแม้แต่น้อย
ผู้ติดตามการเมืองหลายคนตั้งคำถามต่อกรรมการสิทธิฯ ถึงบรรทัดฐานในการพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าสิ่งใดคือการละเมิดหรือไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง รวมถึงบทบาทในการออกมาพูดต่อสาธารณะ เพราะดูหลายครั้งหลายเหตุการณ์ที่ชาวบ้านผู้ติดตามการเมืองมองเห็นว่านี่ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน (โดยเฉพาะในทางการเมือง) กรรมการสิทธิฯ ก็ดูนิ่งเฉยจนไม่รู้แน่ว่าบทบาทเหล่านี้ควรมีตอนไหนอย่างไร