การเกลียด “คนต่าง” ไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์
ในสมัยโรมัน จักรพรรดิจะเป็นคนผิวขาวหรือผิวดำก็ได้ ไม่มีใครคิดมาก คนไทยเองในอดีตก็ไม่เคยสนใจสีผิวหรือแสวงหาครีมที่ทำให้ผิวขาวขึ้นก่อนที่จะ มีค่านิยมเหยียดสีผิวเกิดขึ้นในระบบทุนนิยม
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
ความคิดกระแสหลักมักเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่มีวัฒนธรรม ศาสนา หรือภาษาที่แตกต่างกัน เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” โดยมีการอธิบายว่ามนุษย์ย่อมระแวงหรือเกลียดชังผู้ที่แตกต่าง พวกกระแสหลักเหล่านี้มองว่าความคิดเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติเป็นเรื่อง “ปกติ” โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่างหรือคนจนที่ “ขาดการศึกษา” และถ้าจะแก้ปัญหานี้ต้องใช้การศึกษา เพื่อสอนให้คนใจกว้างเปิดรับความแตกต่าง
แต่ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยรองรับหรือสนับสนุนข้อเสนอนี้แต่อย่างใด ประวัติศาสตร์ทั่วโลกเป็นประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความหลากหลาย นั้นคือ “ธรรมชาติของมนุษย์” แต่บ่อยครั้ง ในยุคที่มีสังคมชนชั้น ประชาชนจะถูกสอนหรือปลุกระดมให้เกลียดชังดูถูก “คนต่าง” เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจในสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ย่อมต้องการให้เราหลงเชื่อว่า “เราเป็นพวกเดียวกัน” เช่น “เราเป็นคนไทยด้วยกัน” ไม่ว่าเราจะเป็นคนจน คนรวย ลูกจ้าง นายจ้าง กรรมาชีพ นายทุน หรือนายพล
ในการต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว เรามองว่าต้องใช้ทัศนะทางชนชั้น เพื่อทำลายความคิดคับแคบของลัทธิชาตินิยม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกรรมาชีพ หรือคนทำงาน ข้ามพรมแดน และความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว
แนวคิดเหยียดเชื้อชาติและสีผิว เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์คนทำงาน ขัดแย้งกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ เพราะเป็นแนวคิดตามสูตร “แบ่งแยกเพื่อปกครอง” ซึ่งเห็นได้ชัดจากการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน ถ้าคนงานเชื้อชาติต่างกันไม่ยอมร่วมมือกันในสหภาพแรงงาน ผู้ที่ได้ประโยชน์มีฝ่ายเดียวเท่านั้นคือนายทุน และในภูมิภาคที่มีกระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติสูง ค่าแรงและสภาพการจ้างงานของคนทำงานทุกคน มักแย่กว่าในที่ที่มีความสามัคคี ตัวอย่างที่ดีคือในรัฐทางใต้ของสหรัฐ ในไอร์แลนด์เหนือ หรือแม้แต่ในไทย