ด. “เด็ก”
ในสังคมเกษตรที่ไม่มีสวัสดิการจากการทำงาน
เด็กจะมีภาระสำคัญในการดูแลคนชรา แต่เมื่อทุนนิยมขยายตัวมากขึ้น
ผู้ใหญ่จะเริ่มมีสวัสดิการที่จะดูแลตัวเองเมื่อเกษียณ
บทบาทของเด็กก็เปลี่ยนไปพร้อมกับขนาดของครอบครัวที่เล็กลงด้วย
โดย ลั่นทมขาว
ทัศนะที่คนในสังคมมีต่อเด็ก เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
ก่อนระบบอุตสาหกรรมและทุนนิยม
เด็กจะไม่ถูกฝึกฝนในโรงเรียนและจะเรียนรู้ท่ามกลางการช่วยเหลือคนในครอบครัว
ทำงาน โดยมีพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือพี่คอยให้คำแนะนำ
ส่วนใหญ่จะเป็นสังคมเกษตร ในยุคนั้นการ “เล่น” ไม่ถูกมองว่าสำคัญ ทั้งๆ
ที่เด็กคงเล่นในขณะที่ทำงานหรือเรียนรู้
ในยุคต้นๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรม ชีวิตของเด็กแย่ลงมาก
เพราะจะต้องไปทำงานในโรงงานในสภาพที่ป่าเถื่อน
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันตกในศตวรรษที่๑๙
และยังเกิดขึ้นทุกวันนี้ในประเทศยากจน ในไทยก็มีปรากฏการณ์นี้เหลืออยู่บ้าง
โดยเฉพาะในหมู่ลูกๆ ของคนรับใช้ตามบ้าน
ถ้าเด็กเหล่านั้นเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน
สาเหตุที่มีการใช้แรงงานเด็กในยุคต้นๆ
ของการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เพราะแรงงานเด็กราคาถูก
และครอบครัวคนจนมีรายได้ไม่พอ ทุกคนในครอบครัวจึงต้องทำงาน
ในกรณีสหรัฐอเมริกา การพัฒนาทุนนิยมตอนต้นอาศัยแรงงานทาสอีกด้วย
ซึ่งรวมถึงทาสที่เป็นเด็ก
ทุกวันนี้ยังมีแรงงานทาสหลงเหลืออยู่บ้างในเอเชียและอัฟริกา
แต่จะเป็นทาสที่ถูกขายเพื่อจ่ายหนี้เป็นส่วนใหญ่
ในสังคมเกษตรที่ไม่มีสวัสดิการจากการทำงาน เด็กจะมีภาระสำคัญในการดูแลคนชรา
แต่เมื่อทุนนิยมขยายตัวมากขึ้น
ผู้ใหญ่จะเริ่มมีสวัสดิการที่จะดูแลตัวเองเมื่อเกษียณ
บทบาทของเด็กก็เปลี่ยนไปพร้อมกับขนาดของครอบครัวที่เล็กลงด้วย
เมื่อทุนนิยมและระบบอุตสาหกรรมพัมนามากขึ้น
แรงงานที่ต้องการจะเป็นแรงงานฝีมือมากขึ้น
และนอกจากนี้แรงงานต้องมีสุขภาพดีแข็งแรง เหมาะสมกับการทำงาน
ดังนั้นเริ่มมีการนำระบบการศึกษาภาคบังคับมากใช้
เริ่มมีการให้ความสำคัญกับสุขภาพและการเจริญเติบโตของเด็ก
ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานรุ่นต่อไปในอนาคต จึงมีการออกกฏหมายห้ามใช้แรงงานเด็ก
และกฏหมายที่บังคับให้เด็กไปโรงเรียน แต่ถ้าเด็กจะได้รับการศึกษา
ไม่ต้องทำงาน และมีสุขภาพดี
พ่อแม่เขาต้องได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงเด็ก
และรัฐต้องลงทุนในระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุข และสำหรับทุนนิยมมันเป็นการ
“ลงทุน” ที่คุ้มค่า
เพราะการผลิตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสร้างมูลค่าต่อหัวคนทำงานมากขึ้น
เรื่อยๆ
เวลาเราพิจารณาระบบการศึกษาสำหรับเด็ก เราจะเห็นว่าทุนนิยมขัดแย้งในตัวเอง
คือในแง่หนึ่งผู้ที่คุมระบบทุนนิยมต้องการแรงงานที่มีการศึกษาและฝีมือ
ซึ่งแปลว่าระบบการศึกษาต้องเน้นการพัฒนาฝีมือ
และที่สำคัญต้องเน้นการฝึกฝนให้เด็กคิดเองและแก้ปัญหาหลากหลายได้
ไม่ใช่นำเด็กมาท่องจำทุกอย่างตามวินัยของไม้เรียวครู
ซึ่งแปลว่าสัดส่วนเด็กต่อครูในห้องเรียนต้องน้อยลง
ต้องสอนโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง
คือเน้นว่าเด็กแต่ละคนมีลักษณะพิเศษของตนเองที่พัฒนาได้
ต้องไม่พัฒนาตามพิมพ์เขียวเดียวกันที่ใช้กับทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการ
“เล่น” เพื่อเรียนรู้
และเด็กที่ผ่านระบบการศึกษาแบบนี้จะเหมาะสมมากกับเศรษฐกิจและการทำงานสมัย
ใหม่
แต่ในอีกแง่หนึ่งผู้ที่คุมระบบทุนนิยมต้องการประหยัดงบประมาณรัฐ
โดยเฉพาะเวลามีวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของกำไรกลุ่มทุน
การสอนเด็กแบบที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางมักใช้งบประมาณสูง
ยิ่งกว่านั้นการสอนเด็กให้คิดเองเป็นและแก้ปัญหาเอง
ทำให้ประชาชนที่เติบโตจากเด็กรุ่นนั้นถูกควบคุมลำบาก
ไม่เชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ ถ้าไม่มีเหตุผล
ซึ่งระบบการศึกษาในสังคมทุนนิยมมักจะมีเป้าหมายไว้เพื่อกล่อมเกลาให้คนจงรัก
ภักดีต่อผู้มีอำนาจเสมอ นอกจากนี้ถ้าระบบการศึกษามีประสิทธิภาพสูง
คนที่จบออกมาจะไม่พอใจในการทำงานซ้ำซาก
และจะไม่พอใจเมื่องานฝีมือที่ไม่น่าเบื่อมีน้อยเกินไปจนต้องตกงาน
ดังนั้นในระบบทุนนิยมจะมีการจงใจคัดเลือกคน
ให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ และให้คนส่วนน้อยเป็นฝ่ายสำเร็จ
วิธีที่มักใช้กันคือการสอบ และการสอบไม่ใช่การเลือกคนฉลาดหรือเก่ง
เพราะมันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่นำไปสู่การสอบผ่านและคะแนนดี
ซึ่งถ้าดูในภาพรวมจะเห็นว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะมักผ่านข้อสอบในอัตรา
สูงกว่าเด็กจากครอบครัวยากจน
ในโลกจริงคนที่สอบผ่านและเข้าไปเรียนเป็นหมอได้ ไม่ได้ “ฉลาด”
กว่าคนอื่นส่วนใหญ่ เพียงแต่เขามีโอกาสมากกว่าคนอื่น
ดังนั้นในสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม เราจะยกเลิกการสอบส่วนใหญ่
เราจะใช้ระบบการศึกษาที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง
เราจะไม่จำกัดการศึกษาไว้แค่ในวัยเด็ก
และเราจะยกเลิกความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างเด็กและครู
เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างเสรีจนพัฒนาตนเองได้เต็มที่ในทุกด้าน
ในทุนนิยมสมัยนี้ เรายังมองว่าเด็กเป็น “ทรัพย์สิน” ของผู้ใหญ่
คือเราอ้างสิทธิ์ที่จะควบคุมชีวิตเด็ก
เราไม่ให้เด็กมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่
ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือเลือกวิถีชีวิตอย่างเสรี ดังนั้นภายใต้สังคมนิยม
เราจะต้องร่วมกันค้นหาวิธีปลดปล่อยเด็กให้มีเสรีภาพมากขึ้น
และสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เคารพเด็กเหมือนเป็นมนุษย์เต็มตัว
(ที่มา)