เปิดใจเจ้าของป้าย ทำไมต้อง "FREE SOMYOT" บนสแตนด์บอลประเพณี?!
งาน ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ปีนี้ นอกจากมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษร บนอัฒจรรย์ ซึ่งได้รับความสนใจ อย่างต่อเนื่องทุกปีแล้ว ปีนี้ยังปรากฎป้ายผ้าสีดำผืนใหญ่ พร้อมข้อความ “Free Somyot” บนอัฒจรรย์ ฝั่งกลาง ที่ไม่ใช่อัฒจรรย์แปรอักษร แต่เป็นฝั่งที่เปิดให้นิสิตนักศึกษาทั้ง 2 ฝ่าย และคนทั่วไป เข้าชม
“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ เจ้าของป้าย “Free Somyot” ซึ่ง จัดทำโดย กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย และ กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน ในกิจกรรมชื่อ “เสียดายคุณสมยศไม่ได้ไปงานบอล” โดยได้พูดคุยกับตัวแทนกลุ่มประกอบด้วย นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ “ไท” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 3 บุตรชาย “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” นายปิยวัจน์ สัตยพานิช หรือ “ปั้น” นิติศาสตร์ ปี 2 นางสาววรุณกาญจน์ มนตรีโพธิ์ หรือ “ใบตอง” นิติศาสตร์ ปี 1 นายพรนภัส ยืนนาน หรือ “กั๊ก” คณะสังคมสงเคราะห์ ปี 1
@ การเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 2 ก.พ. มีที่มาอย่างไร
ปั้น – เนื่องจาก คุณสมยศ ถูกพิพากษา จำคุก 11 ปี เรารู้สึก เป็นเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับนักโทษ ที่โดยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้พวกเขาถูกเมินเฉย จากสังคม เพราะสังคม อาจจะไม่ทราบว่า เขาไม่ได้รับการประกันตัว และมีระบบที่ไม่เป็นธรรมจึงต้องรณรงค์แคมเปญที่โดนๆ เข้าถึงคนหมู่มากได้
@ ทำไม เลือกรณรงค์ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ด้วย
กั๊ก – งานบอลประเพณี เป็นประเพณีที่ดีงาม มีคนมาเข้าร่วมเยอะ และเป็นจุดสนใจของสังคม แต่ว่านักศึกษาที่มาเข้าร่วมและผู้ที่สนใจงานบอล ไม่ค่อยมีใครรู้จัก “สมยศ” และไม่ได้สนใจ ปัญหาจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราจึงต้องการสื่อให้สังคมรู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้ จากนั้น ได้ประชุมกัน ว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้ นี่คือที่มาของการสร้างแคมเปญนี้ขึ้น
ไท – มีบางกระแสบอกว่า งานบอลต้องเตะบอล แล้วทำไมต้องมาเรียกร้องทางการเมือง ผมอยากถามกลับไปว่า เวลามีเชียร์ลีดเดอร์ แต่งตัวสวยๆ ก็ไม่เห็นเกี่ยวกับการเชียร์ฟุตบอล เพราะถ้ามาเชียร์ฟุตบอล สามารถแต่งตัวยังไงก็ได้ การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมืองก็เหมือนกัน มันเกี่ยวข้องกับ การเตะฟุตบอลหรือเปล่า ถ้ากิจกรรมเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานบอลได้ แล้วทำไม การเรียกร้องทางการเมือง ของพวกเรา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในงานบอล
@ พอใจกับผลที่ออกมาหรือไม่
ใบตอง – สำหรับผลที่ได้มา คิดว่าดีในแง่ การเรียกความสนใจจากนักศึกษา อย่างน้อย ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า คุณสมยศเป็นใคร แต่ว่า ผลตอบรับด้านลบก็มี เช่น มีการป้ายสี ว่าเราเป็นเสื้อแดง และ มีการเบี่ยงประเด็นว่า เราสู้เพื่อคนคนเดียวหรือเปล่า
@ แล้วคิดว่า ตัวเองเป็น คนเสื้อแดง หรือเปล่า
ใบตอง - กลุ่มเราซึ่งจัดกิจกรรมในงานบอลเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวกันของนิสิตจุฬาฯ และ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสังคมและการเมือง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
@มีใครสนับสนุนด้วยหรือไม่
ใบตอง - เราไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากใคร อย่างผ้าผืนสีดำ ที่ขึ้นข้อความ “Free Somyot” พวกเราซื้อกันมาเองจากเยาวราช แต่ได้รับการช่วยเหลือ จากพี่จิตรา (จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานคนงาน try arm และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์) รวมถึง พี่ๆ จาก try arm ช่วยเย็บผ้าให้
@ ทำไม คุณจิตรา และ กลุ่ม try arm จึงมาช่วยสนับสนุน โดยการเย็บผ้า
ใบตอง - พี่จิตรา กับคุณสมยศ รู้จักกันมาก่อน เนื่องจากคุณสมยศเคยเคลื่อนไหวเรื่องร้องความเป็นธรรม เรื่องแรงงาน