หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตอบข้อกังวลเรื่องรัฐสวัสดิการ


โดย "กลุ่มเสื้อแดงเพื่อสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ" 
 
1. กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการให้บริการมากกว่าภาครัฐ

นิยายอันนี้เป็นความพยายามอย่างหยาบๆ ที่จะลดบทบาทรัฐ ลดการเก็บภาษีจากคนรวย และเพิ่มกำไรภาคเอกชนผ่านการให้สวัสดิการในระดับที่น้อยที่สุด แต่ไม่มีข้อมูลจากที่ไหนในโลกที่ยืนยันความเชื่อนี้ได้ ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบสาธารณะสุขแบบเอกชน ที่เน้นการประกันตน มักจะสูงกว่าระบบที่อาศัยการเก็บภาษีในระบบถ้วนหน้าของรัฐเสมอ และสาเหตุสำคัญมาจากการจ้างนักปัญชีมาบริหารระบบเอกชนอย่างสิ้นเปลือง ระบบสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบเอกชน แพงกว่าระบบอังกฤษสองเท่า(เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อหัว) และไม่ครอบคลุมคนจนหลายล้านคนที่เป็นพลเมืองอีกด้วย แถมคนชั้นกลางซึ่งอาจมีฐานะเพียงพอที่จะซื้อประกันสุขภาพในสหรัฐ มักจะพบว่าเมื่อป่วยจริง บริษัทประกันสุขภาพจะหาทุกวิธีทางที่จะปฏิเสธการช่วยเหลือ เพราะการปกป้องกำไรเป็นเป้าหมาย ซึ่งหมายความว่าในด้านประสิทธิภาพของการให้บริการกับผู้มีประกัน และประสิทธิภาพในการดูแลประชากร ระบบกลไกตลาดของอเมริกาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขสหรัฐกับระบบของประเทศ อื่น จะพบว่าสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก ในขณะที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ หรืออย่างน้อยระบบถ้วนหน้าที่บริหารโดยรัฐอยู่ในอันดับ1 ถึง 25[2]

ข้อมูลจากทั่วโลกในระบบการบริการอื่นๆ เช่น การเก็บขยะ การศึกษา และสาธารณูปโภค ก็พิสูจน์เช่นกันว่าภาคเอกชนและกลไกตลาดมีประสิทธิภาพต่ำในการบริการประชาชน ทั้งหมด เพราะการโอนการบริการของภาครัฐไปสู่เอกชนมีผลแค่ในการลดงบประมาณของรัฐ และเพิ่มกำไรให้เอกชน ในขณะที่คนธรรมดาได้รับการบริการแย่ลง และลูกจ้างที่เคยทำงานในภาครัฐถูกตัดเงินเดือนและลดมาตรฐานการจ้างงาน

ในภาพกว้างวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในปี 2008 เกิดจากภาคเอกชน โดยเฉพาะธนาคารต่างๆ แล้วหลังจากนั้นรัฐต่างๆ ทั่วโลกต้องเข้ามาอุ้มหนี้สินทั้งหลายของเอกชน แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่นักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมยังท่องสูตรความเชื่อเดิมๆ แบบนกแก้วอยู่อย่างพร่ำเพรื่อ

2. ถ้าสวัสดิการสูงเกินไปคนจะขี้เกียจ ถ้าบริการฟรีคนจะใช้เกินความจำเป็น

นิยายนี้เป็นนิยายที่แสดงอคติของฝ่ายเสรีนิยมต่อคนจนอย่างแรง คนหนึ่งที่เคยท่องสูตรนี้คือนายภูมิพล ที่ไม่เคยขยันทำงานเลี้ยงชีพตนเองเลย

ในประการแรกคนรวยและอภิสิทธิ์ชนแต่ไหนแต่ไรเชื่อว่าคนจนจะขี้เกียจ “ถ้าไม่เฆี่ยนตี ขู่ จ่องดู หรือชักชวนด้วยเงิน” แต่ในความเป็นจริงคนที่ทำงานหนักสุดและนานสุดในสังคมคือคนจน ในขณะที่คนรวยลอยเหมือนกาฝากอยู่เหนือสังคม

อัตราว่างงานในสังคมไม่ได้ขึ้นลงตามความขี้เกียจของคน แต่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ต้องการงาน ต้องการศักดิ์ศรีที่มาจากการเลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ใช่ว่าอยากนอนไม่ทำอะไรที่บ้าน ดังนั้นการกดระดับสวัสดิการในยุคที่อัตราว่างงานสูง ไม่มีผลอะไรนอกจากการเพิ่มความเดือดร้อนกับคนที่โชคร้ายตกงานในสังคมเท่า นั้น การมีรัฐสวัสดิการที่สร้างคุณภาพชีวิตให้ทุกคนไม่เคยลดประสิทธิภาพการทำงาน ของสังคม ตรงกันข้าม กลับเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโดยรวม การที่คนยากคนจนต้องตกงานยากลำบากและเสียศักดิ์ศรีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลาย กำลังใจในการทำงานต่างหาก

ฝ่ายเสรีนิยมชอบอ้างถึงการ “โกงระบบ” ของผู้รับสวัสดิการ ซึ่งเกิดขึ้นบ้าง แต่ถ้าดูสถิติจริง จำนวนเงินที่ประชาชนมีสิทธิ์เบิกจากรัฐสวัสดิการแต่เลือกไม่เบิก มีมากกว่าจำนวนเงินที่ถูกโกงจากระบบ และจำนวนเงินที่คนรวยโกงผ่านการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมากยิ่งกว่านั้นอีก

ข้อเสนอของแนวเสรีนิยมที่ว่า “ถ้าให้บริการฟรีคนจนจะไปใช้มากเกินไปโดยไม่มีเหตุผล” เป็นข้อเสนอที่ดูถูกคนจนอย่างถึงที่สุด นักวิชาการเหล่านี้มองว่าตาสีตาสาโง่ ชอบไปหาหมอทุกวันโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งไม่เคยปรากฏเป็นจริงที่ไหนเลย

3. รัฐสวัสดิการตะวันตกล้มเหลวเพราะคนชรามีมากเกินไป

ทุกวันนี้นักวิชาการและนักการเมืองเสรีนิยมกำลังเสนอว่าพ่อแม่เรา หรือคนชราทั่วไปในสังคม “เป็นภาระ” เพราะดันทะลึ่งไปมีสุขภาพดีและอายุยืนนานกว่าสมัยก่อน ความคิดนี้นอกจากจะไม่ระลึกถึงบุญคุณที่เราควรจะมีต่อคนทำงานรุ่นก่อน ที่สร้างเศรษฐกิจเราให้เจริญแล้ว ยังเป็นความเชื่อเท็จที่เสนอไปเพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้บริษัทและกลุ่มทุน เพราะพวกนี้กำลังเสนอว่าบำเหน็จบำนาญของคนชรา “แพงเกินไป” ในยุโรปความเชื่อนี้นำไปสู่การยืดเวลาทำงาน มีการพยายามขยายอายุเกษียน และมีการกดระดับสวัสดิการอีกด้วย ในประเทศไทยรัฐบาลเริ่มมีการพูดว่าคนแก่ “เป็นภาระ” ด้วยทั้งๆ ที่คนชราในไทยไม่เคยได้สวัสดิการเพียงพอ และทั้งๆที่พวกอำมาตย์ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจากภาษีเราเสมอ

ข้อมูลที่พวกเสรีนิยมนำมาใช้เพื่อสนับสนุนความเชื่อเท็จนี้ คือสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราที่ลดลง สัดส่วนนี้ลดลงเพราะคนมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยและคนแก่มีอายุยืน ดังนั้นอัตราการขยายตัวของประชากรจะช้าลง แต่สิ่งที่พวกเสรีนิยมไม่เคยอยากพิจารณาคือในขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50ปีข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นสองเท่า[3] นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็น ปรากฏการณ์ชั่วคราว เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก อย่างเช่นในกรณีอังกฤษซึ่งมีคนชรา 20% เหมือนกับ 20ปีก่อน และที่สำคัญในประเทศที่อัตราการเกิดตกต่ำกว่าอัตราการตายเป็นเวลานาน การขาดแรงงานแก้ได้โดยการเปิดพรมแดนต้อนรับคนงานจากที่อื่นได้[4]

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” หรือ “วิกฤตรัฐสวัสดิการ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด และไม่ได้เกิดจาก “ธรรมชาติของรัฐสวัสดิการ” แต่มาจากการที่รัฐบาลในประเทศพัฒนาลดงบประมาณรัฐที่ควรใช้ในการสนับสนุนกอง ทุนดังกล่าว และไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราเดิมสมัยที่เริ่มสร้างรัฐสวัสดิการ นอกจากนี้มีการลดภาษีให้บริษัทใหญ่ และบริษัทเหล่านั้นไม่ยอมสมทบทุนบำเน็จบำนาญในระดับเดิมอีกด้วย พูดง่ายๆ ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการจงใจไม่บำรุงรักษารัฐสวัสดิการ

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงาน สร้างขึ้นมา[5] แนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อให้ฝ่ายนายทุนได้ส่วนแบ่งมากขึ้นจากคนทำ งาน ผลก็เห็นชัดที่สุดในสหรัฐอเมริกาเพราะระดับรายได้ของคนธรรมดาในสหรัฐในปี 1993 แย่ลงกว่า 20ปีก่อนและคนงานสหรัฐส่วนใหญ่ต้องทำงานเพิ่มอีกหลายวันต่อปี ในขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าการผลิตที่ตกกับผู้บริหารและเจ้าของทุนมีการ เพิ่มขึ้นมหาศาล

4. รัฐสวัสดิการสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพา

แนวคิดหลอกลวงนี้ดูถูกคนจนเช่นกัน และในไทยมักจะออกมาจากปากนักวิชาการ “สลิ่ม”

รัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ พลเมือง และในการสร้างคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพึ่งพา ในทางตรงข้ามสังคมใดที่มีคนจนมากเพราะไม่มีรัฐสวัสดิการจะมีปัญหาของการที่ คนจนต้องถูกบังคับให้พึ่งพามูลนิธิ การกุศล หรือความเมตตาของผู้อุปถัมภ์ ยิ่งกว่านั้นในสังคมทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนกลุ่มหนึ่งได้ทรัพย์สินมหาศาลจากการเป็นเจ้าของหุ้นหรือเงินทุนโดยไม่ได้ ลงมือทำงานเอง คนกลุ่มนี้ต่างหากที่พึ่งพาการทำงานของคนส่วนใหญ่และเป็นกลุ่มคนที่ อ.ปรีดี พนมยงค์ เคยเรียกว่า “กาฝากสังคม” [6]

5. ถ้ามีรัฐสวัสดิการจะมีการเก็บภาษีสูงเกินไป

อันนี้ไม่ใช่ข้อกังวลที่เราประชาชนธรรมดาควรจะมี เพราะการเก็บภาษีสำหรับการสร้างและการบำรุงรักษารัฐสวัสดิการ จะต้องเก็บในอัตรา “ก้าวหน้า” คือคนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อยหรือถ้าจนมากไม่จ่ายเลย และนอกจากการสร้างรายได้ของรัฐเพื่อรัฐสวัสดิการแล้ว การเก็บภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นในประเทศไทยคนอย่างนายภูมิพลต้องจ่ายมากที่สุด เศรษฐีนายทุนและนายพลต้องจ่ายมากๆ คนอื่นที่มีฐานะดีก็ต้องจ่ายมากกว่าประชาชนธรรมดา และแน่นอนพวกสลิ่มเสื้อเหลืองและอำมาตย์ทั้งหลายคงไม่อาสาจ่ายภาษีเพื่อ ประโยชน์ส่วนรวม ในยุโรปก็ไม่ต่างออกไป พวกนี้ต้องถูกบังคับกดดันจากขบวนการเคลื่อนไหว สหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรม การต่อสู้ของมวลชนในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม จึงแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งต้องอาศัยพลังมวลชนเช่นกัน เราทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์คงจะคัดค้านมาตรการที่จำเป็นในการสร้างรัฐ สวัสดิการแน่ อย่างไรก็ตามแม้แต่คนอย่างอดีตนายก ทักษิณ ก็ไม่อยากจ่ายภาษีมากและพยายามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่าย ภาษีสูงๆ นักการเมืองเศรษฐีในพรรคเพื่อไทยก็คงไม่ต่าง ดังนั้นเราหวังพึ่งพรรคการเมืองแบบนี้ไม่ได้ เราต้องมีพรรคการเมืองของคนชั้นล่างแท้ๆ

6. ประเทศไทยมีเงินเพียงพอหรือไม่?

ในขณะที่นายภูมิพลคนเดียวมีความร่ำรวยเป็นอันดับที่ 8 ของเศรษฐีทั่วโลก และรวยกว่ากษัตริย์ในยุโรปหรือในญี่ปุ่นทุกคน พวกอำมาตย์ชอบอ้างว่าประเทศไทย “ไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ” แต่ถ้าเรายกเลิกสถาบันกษัตริย์และยึดทรัพย์สินทั้งหมดมาเพื่อประโยชน์ส่วน รวม พร้อมกับการตัดงบประมาณทหารให้เหลือน้อยที่สุด เราสามารถเริ่มต้นสร้างรัฐสวัสดิการได้

เราอาจพูดได้ว่ารัฐสวัสดิการ เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกัน เพราะพลเมืองทุกคนจะได้ประโยชน์จากรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า โดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ความจน หรือพิสูจน์ว่าเป็นใครจากตระกูลไหน แต่ในขณะเดียวกัน มันเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่จะร่วมสมทบกองทุนรัฐสวัสดิการ ผ่านการจ่ายภาษี และใครมีความพร้อมมากที่สุด ก็ต้องจ่ายภาษีมากที่สุด มันจะมีอะไรที่เป็นธรรมมากกว่านี้?
 _________________________________________________________________________________
[1] “กลุ่มเสื้อแดงเพื่อสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ” เป็นกลุ่มคนไทยในยุโรปที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย แท้ มีสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม

[2] World Health Organisation (2001) World Health Report. Koichi Kawabuchi (2004) Health Care for Everyone. Asia Pacific Perspectives (Japan) 1 (12), 14-15.

[3] Shaw, F. (2002) Is the ageing population the problem it I made out to be? Foresight (4) 3, 4-11. Lowe, R. (1999) The Welfare State in Britain since 1945. Macmillan Press.

[4] Minns, R. & Sexton, S. (2006) Too many grannies? Private pensions corporate welfare & insecurity. Corner House Briefing 35.

[5] Minns, R. & Sexton, S. (2006) พึ่งอ้าง [6] ปรีดี พนมยงค์ (๒๔๗๕) “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น