ความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ กับ “ปัญหา ม.112”
Mon, 2011-08-01 00:00
ผมรู้สึกยินดีที่ได้ดูรายการ Intelligence ทาง Voice TV ดำเนินรายการโดย คุณจอม เพชรประดับ สนทนาเรื่อง“สิทธิ เสรีภาพ จักต้องไม่ถูกละเมิด”สืบเนื่องจาก คำประกาศ 359 นักเขียน “สิทธิ เสรีภาพ จักต้องไม่ถูกละเมิดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจักต้องไม่ถูกขู่เข็ญ ด้วยข้อกล่าวหาไม่จงรักภักดี”โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือ คุณวิภา ดาวมณี กิตติพล สรัคคานนท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และวาด รวี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวต่อยอดจากการเคลื่อนไหวของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคณะนิติราษฎร์ ที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่งเพราะเป็นการช่วยกันทำให้ประเด็น “ปัญหา ม.112”ถูกอธิปรายถกเถียงใน “พื้นที่สาธารณะ” กว้างมากขึ้น
สำหรับรายการ Intelligence, Voice TV และสื่ออย่าง “คุณจอม เพชรประดับ” ก็สมควรปรบมือให้กับ “ความกล้าหาญทางจริยธรรม”ที่เข้ามาจับ “ประเด็นละเอียดอ่อน” นี้
เพราะเป็นที่รู้กันว่าสื่อในบ้านเรานั้นสนใจทำเรื่องของ “ตัวเงินตัวทองร่วมรักกันในบริเวณรัฐสภา”ให้เป็น “ข่าวหน้า 1” และเอาจริงเอาจังกับการใช้ “บทรักของตัวเงินตัวทอง”เป็น “ฐานคิด” ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองตลอดมา
แต่หลีกเลี่ยงที่จะทำให้ปัญหาระดับรากฐานจริงๆ เช่น ปัญหา ม.112 เป็น “ข่าวหน้า 1” หรือเป็นประเด็นที่ควรนำเสนอการอภิปรายถกเถียงสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง!
ในขณะที่สื่อของรัฐ สื่อเสื้อเหลือง และสื่อกระแสหลักส่วนหนึ่งเสนอข่าวและความคิดเห็นตลอดมาว่าฝ่ายที่เสนอให้ อภิปรายประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสนอให้แก้ไขม.112 คือ ฝ่ายที่มีเจตนาทำลายสถาบัน และต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่มีสื่อในวงแคบเท่านั้นที่นำเสนอ “เหตุผล” ว่าทำไมสังคมไทยจึงควรอภิปรายประเด็นสถาบัน และควรแก้ไข ม.112
นี่จึงเป็นภาพสะท้อนปัญหา “ความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ” อย่าน่าเป็นห่วง!
ความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อ หมายถึงความกล้าหาญที่จะนำเสนอความจริง และต่อสู้เพื่อให้เกิดความถูกต้อง
แต่ ม.112 ที่ 1) ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบัน 2) มีการพิจารณาคดีแบบปิดลับ เป็นการปิดกั้นสิทธิที่จะรับรู้ความจริงของประชาชน 3) ไม่ให้ประกันตัวและมีบทลงโทษหนักเกินเหตุ เป็นการทำลายสิทธิมนุษยชน 4) ใครจะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ และจึงทำให้เกิด 5)ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง มากกว่าใช้ปกป้องสถาบัน
ฉะนั้น จึงเป็นกฎหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือหลักเสรีภาพขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเพราะปิดกั้นสิทธิที่จะรับรู้และพูด ความจริงมีบทลงโทษที่รุนแรง และถูกซ้ำเติมด้วย “ตราบาป” ทางสังคมอันเกิดจากค่านิยมที่ถูกปลูกฝังโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยมตาม “อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” ที่ขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน
เมื่อไม่มีเสรีภาพในการพูด สังคมก็ไม่อาจแลกเปลี่ยนเรียนรู้วินิจฉัย หรือมีความเห็นร่วมกันได้ว่า อะไรคือความจริง ความเท็จอะไรคือถูก อะไรคือผิด
ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพเช่นนี้เราไม่อาจเรียกว่าเป็น “สังคมประชาธิปไตย” ได้
การที่สื่อไม่ได้จริงจังกับการนำเสนอ “ความจริง” ของปัญหา ม.112 เช่นติดตามข้อมูลและการเคลื่อนไหวของคนที่ถูกดำเนินการด้วยกฎหมายนี้ในระยะ กว่า 5 ปี มานี้ว่า มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่าไร สาเหตุที่ถูกดำเนินคดีเพราะเขาไปทำอะไรทำไมเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ต่างๆ เช่น การประกันตัวชะตากรรมในคุกของเขาเป็นอย่างไร ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร ฯลฯและไม่ได้สนใจเสนอประเด็นการอภิปราย ข้อเรียกร้อง และเหตุผลเชิงลึกต่างๆของฝ่ายเรียกร้องให้แก้ ม.112 อย่างละเอียดทุกแง่มุมและต่อเนื่อง สะท้อนว่าสื่อขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างชัดเจน
ในสังคมที่ดีมันควรจะมีความผิดเกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดความจริง เกี่ยวกับสถาบันใดๆ ไหมว่าประชาชนต้องถูกดำเนินคดีโดยห้ามประกันตัว ศาลพิจารณาคดีแบบปิดลับและมีบทลงโทษอย่างหนัก โดยที่สื่อและประชาชนในประเทศไม่ต้องสนใจใดๆเลยกับ “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับการกระทำ คำพูด และ/หรือสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีเช่นนั้น
การที่สื่อไม่ได้สนใจกับการตั้งคำถามทำนองนี้ มันก็เป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่งเมื่อสื่อยังประกาศ “คำขวัญ” ที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”โดยที่พฤติกรรมของสื่อไม่แสดงให้เห็นว่าคุณ “อิน”กับความหมายของ “ความกล้าหาญทางจริยธรรม”หรือความกล้าหาญในการนำเสนอความจริงและต่อสู้เพื่อ ให้เกิดความถูกต้อง
ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่ การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน
คุณบอกว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน”แต่คุณกลับสนใจใช้เสรีภาพนั้นเสนอเรื่องราว “การร่วมรักของตัวเงินตัวทอง”มากกว่าขณะที่แทบไม่สนใจทำข่าว หรือร่วมอภิปรายถกเถียงในประเด็นสถาบันและการแก้ไข ม.112 ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนเลย
พูดถึงตรงนี้แล้วก็น่าเศร้าครับ ในยุคสมัยที่ “พลเมืองประชาธิปไตย” ตื่นขึ้นจำนวนมากสื่อไทยกลับมีท่าทีหวาดระแวง หรือไม่เชื่อมั่นต่อการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและไม่นำเสนอ “เนื้อหา” ของการตื่นตัวนั้นเท่ากับ “เนื้อหา” คำสัมภาษณ์ของผบ.ทบ.ด้วยซ้ำ
มันตลกไหมครับที่เรารับรู้เรื่องราวของ “หมู่บ้านแดง”ทั้งในชนบทและในเมืองจากการนำเสนอของสื่อต่างชาติ(แล้วสื่อไทย ก็แปลมานำเสนอต่อ) เช่นเดียวกับที่เราได้เห็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความ รุนแรงกับประชาชนในการสลายการชุมนุมจากสื่อต่างชาติ มากกว่าจากสื่อไทย
และแน่นอนว่า ประเด็นปัญหา ม.112 ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็คงจะเป็นที่สนใจและถูกนำเสนอโดยสื่อ ต่างชาติมากกว่า แล้วเรายังจะมีความหวังอะไรกับสื่อไทย ในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยอีกเล่า!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น