หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ธงชัย วินิจจะกูล:“เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน

ความรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง “การเสียดินแดน” วางอยู่บนความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ 4 ประการ
1. เข้าใจผิดว่า รัฐสมัยเก่า (ก่อนศตวรรษที่ 20) ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่
 
ความจริง – รัฐสมัยเก่าไม่ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าเป็นเรื่องของเจ้าที่มีอำนาจมากถืออำนาจบาตร ใหญ่เหนือเจ้าที่มีอำนาจน้อยกว่า ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นกันลงไป คือ เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อนั่นเอง เจ้าพ่อรายใหญ่ย่อมเรียก “ค่าคุ้มครอง” จากเจ้าพ่อรายเล็กกว่าในรูปของส่วยสาอากรผลประโยชน์ต่างๆและไพร่พล จากนั้นเจ้าพ่อทั้งรายใหญ่รายเล็กก็ไปขูดรีดเอากับไพร่ฟ้าข้าไทในเขตอิทธิพล ของตนอีกทอดหนึ่ง
 
อำนาจของเจ้าพ่อรายเล็กจึงอยู่ที่อำนาจเหนือไพร่ฟ้าข้า ไทในเขตอิทธิพลของตน อำนาจของเจ้าพ่อรายใหญ่จึงอยู่ที่อำนาจเหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ในเขตอิทธิพลของตน อธิปไตยเหนือดินแดนแบบสมัยนี้ยังไม่มี อำนาจขององค์อธิปัตย์หมายถึงอำนาจเหนือคน คือ เหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตชัดเจน บางทีก็มีบางทีก็ไม่มี ไพร่ฟ้าจะเดินทางไกลไปไหนต่อไหนก็ยังถือว่ายังอยู่ ใต้อำนาจของเจ้าองค์เดิม หรือที่เรียกว่า “ใต่ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ของเจ้าองค์เดิม
 
“ดินแดน” ที่รัฐสมัยเก่าหวงแหนสุดขีดคือเมืองและวัง เพราะหมายถึงอำนาจของเจ้าพ่อ รัฐสมัยเก่าไม่หวงแหนชายแดน ยกให้เป็นของขวัญแก่ฝรั่งอังกฤษมาแล้วก็มี
 
2. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของรัฐเจ้าพ่อใหญ่
 
ความจริง – เจ้าพ่อรายเล็กที่ยอมเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของรัฐเจ้าพ่อใหญ่ยังคงมี อำนาจเหนือเมือง วัง ไพร่ฟ้าข้าไทและเขตอิทธิพลของตน เพียงแต่ไม่ถือว่าเป็น “อิสระ” (คำว่า “อิสระ” แต่เดิมหมายถึงเป็นใหญ่สูงสุด ความหมายเพิ่งเปลี่ยนเป็น independence พร้อมๆกับรัฐสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 นี่เอง) จะถือว่าเป็น “อิสระ” ได้ยังไงในเมื่อยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเจ้าพ่อใหญ่ แต่การสวามิภักดิ์มิได้หมายถึงตกเป็นสมบัติของรัฐเจ้าพ่อใหญ่แต่อย่างใด เพียงหมายถึงยอมอยู่ใต้อำนาจบาตรใหญ่ “ความคุ้มครอง” ของเจ้าพ่อรายใหญ่กว่าและยอมจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ตามที่เจ้าพ่อรายใหญ่เรียกมาเท่านั้นเอง
 
“เขตอิทธิพล” หรือดินแดนที่ไม่มีขอบเขตชัดเจนของเมืองขึ้นหรือประเทศราชจึงไม่ใช่สมบัติ ของเจ้าพ่อรายใหญ่ แต่แน่นอนว่าเจ้าพ่อใหญ่อย่างเจ้ากรุงเทพฯย่อมถือว่าประเทศราชเป็นสมบัติของ ตน
 
ทัศนะที่ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของ ประเทศไทยมาแต่โบราณ เช่น สุโขทัยเป็นเจ้าของทั้งแหลมมลายู จึงเป็นทัศนะประวัติศาสตร์แบบเจ้าพ่อใหญ่ เช่น เจ้ากรุงเทพฯ เจ้าอังวะ หงสา ฯลฯ แต่ทว่าไทย/สยามที่เป็นรัฐแบบชาติสมัยใหม่กลับรักษาทัศนะประวัติศาสตร์ของ เจ้ากรุงเทพฯและยกให้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติอีกด้วย ประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็น “ราชาชาตินิยม” คือไม่ใช่แค่ชาตินิยมอย่างประเทศอื่น แต่เป็นชาตินิยมที่คิดแบบเจ้ากรุงเทพฯ เช่น ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมาแต่โบราณ
 
3. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นหรือประเทศราชหนึ่งย่อมขึ้นต่อเจ้าพ่อรายใหญ่เพียงรายเดียว เมือง ขึ้นของสยามย่อมขึ้นต่อสยามเท่านั้น ดังนั้นดินแดนประเทศราชย่อมเป็นของประเทศสยามแต่ผู้เดียว
 
ความจริง – ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯแทบทั้งหมดในประวัติศาสตร์เป็นเมืองขึ้นของ เจ้าพ่อใหญ่รายอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น พม่า (อังวะ หงสาวดี) และเวียดนาม (เว้ ตังเกี๋ย) เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าแบบเจ้าพ่อนั้น รัฐเล็กๆถือว่ายอม อ่อนน้อมต่อเจ้าพ่อใหญ่ดีกว่าโดนเจ้าพ่อลงโทษ ครั้นเจ้าพ่อใหญ่หลายรายมาเรียก “ค่าคุ้มครอง” ก็ยอมซะเท่าที่ยังพอทนไหว (หากทนไม่ไหวค่อยฟ้องเจ้าพ่อ ก. ให้มาจัดการกับเจ้าพ่อ ข.) ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯเป็นประเทศราชของ 2-3 เจ้าพ่อใหญ่ในเวลาเดียวกัน เจ้ากรุงเทพฯมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 รู้ข้อนี้ดีว่าประเทศราชไม่เคยขึ้นต่อสยามแต่ผู้เดียว
 
ดังนั้น ขอบข่ายอำนาจของเจ้าพ่อใหญ่อย่าง สยาม พม่า เวียดนามจึงซ้อนทับกันเป็นแถบเบ้อเริ่ม เพราะต่างมีประเทศราชร่วมกัน อำนาจซ้อนทับแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต้องแบ่งปันกันหรือรบราฆ่ากันเพราะทุกรัฐ สมัยเก่าขอแค่ประเทศราชยอมสวามิภักดิ์และจ่ายค่าคุ้มครองสม่ำเสมอเป็นใช้ได้
 
แต่ครั้นทุกรัฐรับธรรมเนียมสมัยใหม่จากฝรั่งในปลายศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือดินแดนแบบซ้อนทับอีกต่อไป และถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องแย่งชิงกันว่าดินแดนของประเทศราชเป็นของใครกันแน่แต่ผู้เดียว ความขัดแย้งระหว่างสยามกับอังกฤษ ฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ 5 คือ การพยายามแข่งขันกันช่วงชิงดินแดนประเทศราชมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว กรณี “เสียดินแดน” คือผลของการแย่งชิงกันแล้วสยามแพ้ สยาม“ไม่ได้ดินแดนมาเป็นของสยามแต่ผู้เดียว” ฝรั่งชนะจึงได้ไป
 
ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมของรัฐไทยสมัยใหม่จึงแย่ยิ่งกว่าเจ้ากรุงเทพฯแบบก่อนศตวรรษที่ 20 เสียอีก คือ หลงคิดว่าประเทศราชเป็นของตนแต่ผู้เดียวมาแต่โบราณ ครั้นแย่งดินแดนประเทศราชกันแล้วแพ้เขา จึงเรียกว่า “ไทยเสียดินแดน”
 
4. เข้าใจผิดว่า ดินแดนของรัฐสมัยเก่ากำหนดชัดเจนแน่นอนว่าตรงไหนของใคร จึงสามารถพูดได้ว่า ไทยเสียดินแดนไปกี่ครั้งกี่ตารางกิโลเมตร
 
ความจริง – จากที่อธิบายมาข้างต้นคงเห็นแล้วว่า อำนาจดินแดนของรัฐสมัยเก่ามีทั้งซ้อนทับกันและโดยมากไม่กำหนดขอบเขตดินแดน ชัดเจน ดินแดนของรัฐสยามสมัยใหม่ที่ชัดเจนมีเส้นเขตแบ่งปันเพิ่งเกิดขึ้นมาก็ต่อ เมื่อแย่งชิงกันจบด้วยกำลังทหาร (ซึ่งสยามสู้ฝรั่งไม่ไหว) สยามจึงไม่เคยเสียดินแดนที่ไม่เคยเป็นของตน
ในเมื่อไม่เคยเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราช ไม่เคยเป็นเจ้าพ่อใหญ่แต่ผู้เดียวด้วยซ้ำไป แถมอำนาจเหนือดินแดนไม่มีขอบเขตชัดเจน การ “เสีย ดินแดน” แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการเสียอำนาจแบบเจ้าพ่อแบบโบราณ คือ ไม่สามารถอวดอ้างความเป็นอธิราชได้อีกต่อไป เรียกให้เขาอ่อนน้อมไม่ได้แล้ว เรียกเก็บผลประโยชน์ก็ไม่ได้เช่นกัน ในจารีตแบบรัฐราชาธิราชหรือรัฐเจ้าพ่อแบบสมัยเก่านั้น นี่เป็นการเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่สุดประเภทหนึ่ง ความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯจึงเป็นเรื่องของการที่พระองค์เสียพระเกียรติยศ อย่างสาหัส ไม่ใช่การ “เสียดินแดน” ในแบบที่เราวัดกันออกมาได้เป็นตารางกิโลเมตร
 
กล่าวโดยสรุป ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเรื่องการ “เสียดินแดน” มีองค์ประกอบทางปัญญาสำคัญ 2 ประการ คือ
     1.ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราชมาแต่โบราณซึ่งเป็นทัศนะประวัติศาสตร์ของเจ้ากรุงเทพฯ และต้อง ถือเอาความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯมาเป็นของตนด้วย
     2.ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวแบบชาตินิยมของรัฐชาติสมัยใหม่

องค์ประกอบทั้งสองประการเริ่มประมวลเข้าด้วยกันวาทการวาทกรรมการ “เสีย ดินแดน” โดยฝีมือของนักชาตินิยมอย่างหลวงวิจิตรวาทการและอีกหลายคนร่วมสมัยกับเขา โดยเริมผลิตมาตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษ 2470 (ก่อนการเปลี่ยนแปลง 2475 เล็กน้อย) และกลายเป็นส่วนสำคัญของลัทธิชาตินิยมของรัฐไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันนำไปสู่การ “เรียกร้องดินแดนคืน” ในปี 2483และกรณีดังกล่าวมีผลให้วาทกรรมและความเข้าใจประวัติศาสตร์ (ผิดๆ) เรื่องการ “เสียดินแดน” ฝังแน่นในสังคมไทย
 
วาทกรรมและประวัติศาสตร์การ “เสีย ดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตัวพ่อ คือ ทั้งทรงพลัีง เป็นฐานอย่างหนึ่งที่มีส่วนก่อรูปก่อร่างความคิดชาตินิยมของไทยตั้งแต่เริ่ม และยังคงเป็นฐานรากค้ำจุนชาตินิยมของไทยมาจนทุกวันนี้ แถมยังเป็นฐานภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่งที่ให้กำเนิดอุดมการณ์ ความเชื่อ วาทกรรมชาตินิยมอีกมากมาย
 
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเอกสาร power point ชุดหนึ่งแพร่หลายอย่างกว้างขวาง เสนอว่า “ไทยเสียดินแดน” มาทั้งหมด 14 ครั้ง นี่เป็นตัวอย่างผลผลิตของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตัวพ่อที่สามารถผลิต โฆษณาชวนเชื่อเหลวไหลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด อ้างไปได้เรื่อยว่าปีนัง ทวาย มะริด ตะนาวศรี ฯลฯ เป็นของไทยแต่เสียไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แม้แต่นักชาตินิยมรุ่นหลวงวิจิตรวาทการยังไม่เคยเพ้อเจ้อไปไกลขนาดนั้น คือในระยะแรกที่วาทกรรมการ “เสีย ดินแดน” เริ่มปรากฏตัวนั้น อย่างมากก็เสนอว่าเสีย 3-5 ครั้งและทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงกับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5  แต่ยิ่งนานวัน จำนวนครั้งและดินแดนที่อ้างว่าเสียไปกลับมากขึ้นทุกที เพราะตัวเลขเหล่านี้ไม่มีหลักฐานหลักเกณฑ์ใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงการมอมเมาให้ไพร่ราษฎรหลงผิดงมงายกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม เอาความแค้นของเจ้ากรุงเทพฯและความคลั่งชาติมาเป็นความคิดของตน ยอมไปตายแทนเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองไทย 
คนที่ยังหลงงมงายกับประวัติ ศาสตร์การ “เสียดินแดน” ก็เท่ากับยังหลงเชื่อประวัติศาสตร์แบบที่เจ้ากรุงเทพฯและพวกอำมาตย์ชาตินิยม ต้องการ มีแต่คนที่รับใช้เจ้าจนตัวตายรับใช้เจ้านายห้วปักหัวปำเท่านั้นแหละที่เที่ยวป่าวร้องอยู่ในกรุงเทพฯให้ไพร่ราบทหารเกณฑ์ไปตายแทน
 

ชาตินิยมที่กำลังบ้าคลั่งอยู่ในขณะนี้ก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเรื่อง “เสีย ดินแดน” ปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมอย่างไม่ต้องสงสัย แถมยังมีอีกหลายแห่งรอบชายแดนประเทศไทย ไม่ใช่แค่ชายแดนกัมพูชา ที่ไม่มีทางแก้ตกง่ายๆ หรืออาจคาราคาซังแก้ไม่มีทางหมดสิ้นก็เป็นได้ เพราะรากเหง้าของปัญหามาจากระบบความสัมพันธ์ของรัฐแบบสมัยก่อนไม่ถือดินแดน ที่ชัดเจนตายตัว กับความสัมพันธ์แบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่ถืออธิปไตยเหนือดินแดนที่ชัดเจนตายตัว เป็นเรื่องใหญ่ เข้ากันไม่ได้
 
การวางตัวเป็นเจ้าพ่อใหญ่อย่างที่ ทำมาค่อนศตวรรษและกำลังทำอยู่ในขณะนี้ อย่างเก่งก็ชนะได้ชั่วคราว แล้วก็ต้องรบอีกครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายลงเลยสัก นิด และหากจะใช้วิธีนี้คงต้องรบกับเพื่อนบ้านทุกด้ายตลอดแนวชายแดน เพราะมีปัญหาทั้งนั้น
การป่าวร้องว่าเขตแดนเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม เราจึงต้องไม่ยอมรับแผนที่ฝรั่ง ศาลฝรั่ง เขตแดนแบบฝรั่ง และจึงชอบธรรมที่จะไปเอาดินแดนคืนมา นี่เป็นเหตุผลแบบราชาชาตินิยมวิปลาศแบบสุดๆ คือ ถือว่าไทยยังเป็นเจ้าพ่อที่อ้างความเป็นใหญ่และเป็นเจ้าของดินแดนที่ไม่เคย เป็นของตน นี่ก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตัวพ่อ
คนที่กล่าวหาว่าคนอื่น “โง่” 3-4 ชั้นหลงตามฝรั่งในเรื่องเส้นเขตแดนจนเสียดินแดนให้เขมร คือพวกเกลียดตัวกินไข่ เพราะ ชาติ ชาตินิยม อธิปไตยเหนือดินแดนแบบที่พวกเขาโฆษณาชวนเชื่ออยู่ ล้วนเป็นของที่ไทยรับเอามาจากฝรั่งทั้งนั้น ในเมื่อเราหลีกไม่พ้นที่จะต้องอยู่กับมาตรฐานความสัมพันธ์กันแบบรัฐชาติสมัย ใหม่ที่เริ่มมาจากฝรั่ง เราก็ควรรู้เท่าทัน รู้จักปรับตัว ไม่งมงายไปกับชาตินิยมหรือประวัิติศาสตร์อันตรายอย่างการ “เสียดินแดน” คนพวกนี้เที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่าหลงฝรั่ง แต่กลับเสพติดงมงายกับสิ่งอันตรายที่ฝรั่งยุคอาณานิคมและยุคฟาสซิสต์ทิ้งไว้ ให้สังคมไทย หยุดหลอกลวงประชาราษฎรไปตายแทนลัทธิราชาชาตินิยมเสียที หาทางออกที่มีอารยธรรมกว่าสงครามไม่ดีกว่าหรือ หรือว่าราชาชาตินิยมหมดท่าแล้ว จึงต้องใช้วิถีทางอนารยะบ้าคลั่งอย่างที่พยายามทำกันอยู่

หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ:“เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน (เพราะ “ไทย” ไม่เคยเสียดินแดน)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น