หน้าเว็บ

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิวาทะวิพากษ์ ว่าด้วยข้อเสนอ..นิติราษฎร์ 
ที่มา: มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2554 หน้า11)
 
ผลพวงของการเสนอให้ "ลบล้าง" ผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้ 7 อาจารย์คณะนิติราษฎร์กลายเป็น "ตำบลกระสุนตก"

ถูก สาดสารพัดข้อหาเข้าใส่ ทั้ง "รับงานทักษิณมา" "ทำให้บ้านเมืองแตกแยก" ที่หนักหน่อยก็มาจากขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไล่ให้ถอดหมวก "นักวิชาการ" แล้วไปสวม "เสื้อสีแดง" หรือไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยให้รู้แล้วรู้รอด!

ในทางกลับกัน คนที่ออกมาคัดค้านไม่ว่าด้วยอารมณ์หรือเหตุผล ก็ถูก "จัดหนัก" ศอกกลับหน้าหงายเช่นกัน

สิ่ง ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าคนไทยบางส่วน "ความอดทนต่ำ" ต่อความเห็นต่างและมักด่วนตัดสินอะไรล่วงหน้า จนทำให้เกิดเรื่องเพี้ยนๆ ตามมา ในมหาสมุทรวิวาทะดังกล่าว

1.ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ = สนับสนุนการรัฐประหาร

"เจตนา" ที่เห็นได้ชัดจากข้อเสนอของ 7 อาจารย์นิติราษฎร์ คือต้องการทำให้การรัฐประหาร "ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์" สามารถแตะต้อง ลบล้าง หรือถอนทำลายได้

ด้วยการประกาศให้ "ประกาศ-คำสั่ง" ของ คปค.รวมถึง "คำวินิจฉัย-คำตัดสิน" ที่เป็นผลพวงจากประกาศ-คำสั่งนั้น โดยเฉพาะคดีที่มาจาก คตส.ให้ "เสียเปล่า"

ข้อเสนอนี้ทำให้นักวิชาการชื่อดังหลายคนออกมาคัดค้าน

แต่ ใช่ว่าคนเหล่านั้นจะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร ตามที่คนเสื้อแดง-ส.ส.พท.กล่าวหา เพราะเขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่คิดว่าการลบล้างคำตัดสิน-คำวินิจฉัยเป็นไปไม่ได้ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่น่าสนใจ ถ้าได้ลองเงี่ยหูฟัง

2.โกงเลวกว่ายึดอำนาจ (จึงต้องใช้ทหารปราบคอร์รัปชั่น)

คนที่เอ่ยวาทะนี้คนแรกคือ "สัก กอแสงเรือง" อดีต คตส. ที่ปัจจุบันสวมหมวก "นายกสภาทนายความ" และ ส.ว.สรรหา

ล่า สุด แถลงการณ์ของ 23 คณาจารย์สาขานิติศาสตร์ ก็ยังเขียนสาเหตุที่เห็นต่างจากนิติราษฎร์ว่า "ต้นเหตุความเลวร้ายที่แท้จริง..คือพฤติกรรมนักการเมืองในอดีตก่อนการรัฐ ประหาร เป็นเผด็จการรัฐสภา มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง..ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่ชอบ ธรรมดังกล่าว ด้วยกระบวนการปกติ"

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็พูดไปในทำนองเดียวกันว่า "คดีทุจริต ต้องดูว่าทุจริตหรือไม่..แม้คนรวบรวมพยานหลักฐานจะตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร.. มันก็ยังผิดอยู่ดี!"


แต่ "เกษียร เตชะพีระ" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เคยแย้งว่า การใช้รัฐประหารปราบคอร์รัปชั่น มีต้นทุนที่ต้องจ่ายแพงเกินไป เพราะท้ายสุดทหารต้องดึงให้คนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล เข้ามารองรับการกระทำของตัวเอง

ไม่น่าแปลกที่หลัง 19 กันยายน จะมีการพิจารณาคดีที่ทำให้คนในวงการ "อึ้งกิมกี่" เพราะมีทั้งใช้กฎหมายย้อนหลัง การตีความเกินรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งเปิดพจนานุกรมตัดสิน ฯลฯ

แล้วรัฐประหารจบ "คอร์รัปชั่น" หมดไปจริงหรือ?


3.เอาคนคนเดียวเป็นตัวตั้ง

มี นักวิชาการคนหนึ่งเขียนตอบ "สมคิด เลิศไพฑูรย์"อธิการบดี มธ.ที่ตั้งโจทย์ไว้ในเฟซบุ๊กว่า ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมา แม้กระบวนการสอบสวนอาจไม่ละเอียด ถ้าศาลตัดสินว่าผิด คำตัดสินนั้นจะใช้ได้หรือไม่

เขายกตัวอย่างที่มา "สิทธิ มิแรนด้า" ที่ในศตวรรษ 1960 นายเออร์เนสโต้ มิแรนด้า ได้ลักพาตัวเด็กสาวอายุ 18 ปี ไปข่มขืน แล้วต่อมาศาลรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้มีความผิด

แต่ ศาลสูงสุดสหรัฐได้ยกเลิกคำตัดสินศาลรัฐอริโซนา เพราะนายมิแรนด้าไม่ได้รับการแจ้ง "สิทธิในการเงียบ" หรือ "สิทธิในการมีทนาย" ระหว่างสอบสวน (แม้ท้ายสุดเมื่อเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ นายมิแรนด้าจะถูกตัดสินให้มีความผิดก็ตาม)

"เขา" สรุปว่า ในประเทศที่มีระบบกฎหมายเข้มงวด ควรถือว่า "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" ในการดำเนินคดี สำคัญกว่าตัว "คำตัดสิน" ด้วยซ้ำ เพราะถ้าเรายอมรับ "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" ที่ไม่ชอบมาพากลจะเป็นผลเสียแก่คนอื่นๆ ที่บริสุทธิ์ ที่อาจจะต้องผ่าน "กระบวนการ" แบบนี้ในอนาคต

ถ้าบอกว่า นักวิชาการคนดังกล่าวชื่อ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. คนบางกลุ่มอาจจะไม่ยอมรับแม้แต่พยายามอ่านและตรองดูว่า "สมศักดิ์" เขียนอะไร มีเหตุผลพอรับฟังหรือไม่?

ถามว่า นี่คือการเอา "ตัวบุคคล" เป็นตัวตั้ง มากกว่า "สาระ" ที่เขานำเสนอ ..ใช่หรือไม่ ??

เช่น เดียวกับปฏิกิริยาต่อข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ของคนหลายคน และหลายกลุ่มในห้วงเวลานี้ ไม่ว่าฝ่ายหนุนหรือฝ่ายค้านที่ยังคงดักดาน วนเวียนอยู่กับคนที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น