หน้าเว็บ

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

"ประชาธิปไตย" หากประชาชนต้องการแล้วก็ไม่มีใครขัดขวางได้

โดย สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา


 

สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาจารย์ (พิเศษ) ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เขียนบทความเรื่อง "ร่วมสร้างพลเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย" ขึ้นเพื่อประกอบการเสวนาทางวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา มติชนออนไลน์ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้ 
เคยมีนักศึกษาถามผมว่า การเป็นผู้พิพากษาควรมีคุณสมบัติอย่างไร

คุณสมบัติของผู้พิพากษาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ ต้องเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ใจ ตามที่มาตรา 26(3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการบัญญัติไว้


ระบอบประชาธิปไตย คืออะไร
    

ประการแรก ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายตาม ที่มาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราวที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ร่างขึ้นและทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เพราะฉะนั้น ตราบใดที่อำนาจสูงสุดคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการยังไม่อยู่ในมือราษฎรทั้งหลาย ตราบนั้นประเทศไทยก็ยังไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย    
ประการที่สอง การปกครองระบอบ ประชาธิปไตยบุคคลที่อยู่ภายใต้การปกครองต้องมีเสรีภาพตามประกาศอิสรภาพของ ประเทศอเมริกา ซึ่งร่างโดยท่านโธมัส เจฟเฟอร์สัน เมื่อ ค.ศ.1789 

    

เสรีภาพคืออะไร

เสรีภาพ คือ การที่บุคคลจะพูด จะทำ จะเขียนอย่างไรก็ได้ ถ้าในขณะที่พูด ที่ทำ ที่เขียนนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ฉะนั้น จะออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังให้เป็นโทษแก่บุคคลไม่ได้ไม่ว่าทางใดๆ เพราะถ้าหากทำเช่นนั้นได้บุคคลย่อมไม่มีเสรีภาพ เมื่อบุคคลไม่มีเสรีภาพจะเรียกว่าการปกครองนั้นเป็นการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยไม่ได้    

ประการที่สาม รัฐบาลของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนตามที่ท่านประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอน ได้กล่าวที่เมืองเกตตีสเบิร์ก (Gettysburg) ในสมัยสงครามกลางเมืองของอเมริกา ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย

รัฐบาลที่จะเป็นรัฐบาลของประชาชนโดย ประชาชนก็ต้องเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งเข้ามา แต่มาจากขุนศึกก็ดี ศักดินาก็ดี อำมาตย์ก็ดี ย่อมไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย    

ประการที่สี่ คนในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีความเสมอภาค ข้อความนี้ปรากฎอยู่ที่หน้าศาลสูงสุดของประเทศอเมริกา Equal justice under law ฉะนั้น ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ยังมีสองมาตรฐาน ตราบนั้นก็ยังเรียกว่าประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ 

   

ประเทศจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน

หากประชาชนต้องการแล้วก็ไม่มีใครขัดขวางได้

เพราะเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1324400027&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น