ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: คงอยู่หรือล่มสลาย?
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบจะดับมอดลงอย่างราบคาบ เมื่อระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนความเสมอภาค และความเท่าเทียมกัน หรือที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย ได้เข้ามาแทนที่ แต่กระนั้น ยังมีบางประเทศที่ยังคงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้อยู่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามมากขึ้นทุกวัน จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด เช่นที่ปรากฏในประเทศเนปาล เป็นต้น
บทความของผมฉบับนี้ ต้องการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่นำไปสู่การคงอยู่หรือการล่มสลายของระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย คำถามหลักของผมก็คือ สถาบันกษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมี “ความร่วมสมัย” หรือ relevance กับสภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ และสถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ สถาบันกษัตริย์ถูกกำจัดไปส่วนหนึ่งด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ กาลเวลา และพัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศ นับตั้งแต่พม่า เวียดนามและลาว เป็นต้น ในปัจจุบัน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จากทั้งหมดจำนวน 10 ประเทศ) ยังคงมีสถาบันกษัตริย์หลงเหลืออยู่และมีระดับของความสำคัญทางด้านการเมือง และการครอบงำอำนาจที่ต่างกันไปด้วย จากระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ในกรณีของไทยนั้น สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่คู่สังคมมาช้านาน ในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นับเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด (และยังคงครองราชย์อยู่) ในโลก สถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นศูนย์กลางชีวิตทางการเมือง และเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่บนยอดของโครงสร้างทางการเมืองของไทยที่ได้รับการ ค้ำจุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มราชานิยม และกองทัพ ด้วยดีเสมอมา
สำหรับประเทศบรูไนนั้น สุลต่านฮาสซานาล โบลเกียห์ ยังคงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการคงไว้ซึ่งความชอบธรรมของระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่บรูไนเองเป็นประเทศที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่ เป็นประชาธิปไตย ในส่วนของกัมพูชานั้น พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี มีบทบาทในเชิงพิธี (ceremonial) เท่านั้น แต่ก็นับว่ามีเป็นปัจจัยหนุนทางการเมือง รวมถึงในด้านการเป็นผู้ปกป้องสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของกัมพูชา
(อ่านต่อ)
http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39810
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น