หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

จากปทุมธานี ถึงพรรคเพื่อไทย

จากปทุมธานี ถึงพรรคเพื่อไทย

 

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

 
การพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยทั้งในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 5 ปทุมธานี และการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.) ได้ให้บทเรียนที่สำคัญยิ่ง

สาเหตุเฉพาะหน้าของความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ก็คือ มวลชนคนเสี้อแดงปทุมธานีจำนวนมาก “พร้อมใจกัน” ไม่ไปลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยนั่นเอง เป็นผลให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์แม้จะไม่ได้คะแนนเสียงเพิ่ม แต่ก็สามารถชนะการเลือกตั้งในที่สุด

นัยหนึ่ง คนเสื้อแดงปทุมธานีกำลัง “สั่งสอนบทเรียนสำคัญ” ให้กับพรรคเพื่อไทย

สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาระบบของพรรคเพื่อไทยในการคัดสรรคนเพื่อลงสมัครเป็น ส.ส. ที่ยังเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์และลัทธิพรรคพวก ในแต่ละเขต จะมี “เจ้าของพื้นที่” อยู่เพียงไม่กี่คนที่งุบงิบตัดสินใจกันเองว่า จะเอาญาติ พี่น้อง ลูกเมียใครลงสมัครบ้าง โดยไม่สนใจความคิดความรู้สึกของประชาชนในท้องถิ่น

ผลที่ได้คือ ในหลายพื้นที่ พรรคเพื่อไทยจะได้แต่ประเภท “ส.ส.หลังยาว” ที่เกาะกระแส พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามา โดยแทบไม่ได้หาเสียงด้วยตนเอง ไม่มีผลงานอันใด ไม่ใส่ใจประชาชนในพี้นที่ ไม่เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในยามเดือดร้อน เอาแต่วิ่งเต้นในพรรค คอยเดินตามรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อตำแหน่งต่างๆ ให้ตนเองหรือพรรคพวกญาติพี่น้อง

ในการเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 2554 ประชาชนจำต้องกล้ำกลืนทั้งน้ำตา ยอมลงคะแนนให้ “ส.ส.หลังยาว” พวกนี้เข้าไปเพราะต้องการเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนเผด็จการจารีต นิยม ให้พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยชนะคะแนนเด็ดขาดแล้วได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่ในการเลือกตั้งซ่อมและเลือก ตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นคนละปริบท ประชาชนสามารถตัดสินใจได้กว้างขึ้นโดยรู้ดีว่า จะไม่กระทบภาพใหญ่ระดับประเทศ พวกเขาจึงเลือก ส.ส.ตามลักษณะและคุณภาพอย่างแท้จริง ในกรณีเขต 5 ปทุมธานี ส.ส.ที่ลาออกไป คือพวกหลังยาว ซึ่งประชาชนเอือมระอาเต็มทน ส่วนผู้ที่มาลงแทน ก็ถูกคัดสรรมาจาก “เจ้าของพื้นที่” โดยไม่สนใจความคิดเห็นของประชาชน ดูถูกประชาชนว่า นี่คือพื้นที่สีแดง ต่อให้พวกตนเอา “เสาไฟฟ้า” มาลง คนเสื้อแดงก็ต้องเลือกวันยังค่ำ เพราะถึงอย่างไร มวลชนก็จะไม่หันไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เขาหารู้ไม่ว่า คนเสื้อ แดงเป็นมวลชนที่ตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างสูง ฟันฝ่ากระสุน ระเบิด และกองเลือดเพื่อประชาธิปไตยมาแล้ว มวลชนจึงคิดได้ว่า พวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นพวกเขาต่างหากที่กำหนดชะตากรรมของพรรค

บทเรียนสำคัญคือ พรรคเพื่อไทยจะต้องปฏิรูปกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ลดเลิกระบบอุปถัมภ์และลัทธิพรรคพวก ให้ประชาชนระดับฐานรากเข้ามามีส่วนโดยตรงในการเสนอชื่อและคัดสรรผู้สมัคร สร้างให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง ค่อยๆ ลดความเป็นพรรคเถ้าแก่ใหญ่ แน่นอนว่า สิ่งนี้จะต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ในพรรค แต่นี่คือปัจจัยชี้ขาดข้อเดียวว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองเชิงสถาบันในระยะยาวต่อไปได้หรือไม่เมื่อพ้น ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแล้ว


พรรคเพื่อไทยแม้จะชนะเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในระดับชาติ แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในระดับท้องถิ่น คือพ่ายแพ้การเลือกตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเกือบทุกท้องที่ โดยมี อบจ. ปทุมธานี เป็นกรณีล่าสุด การเมืองระดับชาติกับการเมืองระดับ ท้องถิ่นนั้น มีลักษณะเนื้อหาที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน จะเอาวิธีการของการเลือกตั้งระดับชาติไปใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ คือไม่สามารถชูภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์แล้วชนะเลือกตั้ง

การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องผลประโยชน์โดยตรงของคนพื้นที่และการพัฒนาท้อง ถิ่น ประชาชนจึงต้องการคนพื้นที่ที่ทำงานทุ่มเทให้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้ จริง ไม่ได้ต้องการคนที่เป็น “เพื่อไทย” หรือ “เสื้อแดง” การเมืองระดับชาติแทบไม่มีผล ระบบการคัดสรรคนของพรรคเพื่อไทยจึงใช้ไม่ได้กับการเมืองท้องถิ่นอีกเช่นกัน เพราะไปตัดสินกันที่ความสัมพันธ์โยงใยกับ “เจ้าของพื้นที่” เป็นหลัก โดยมีผลงานและความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่นเป็นประเด็นรอง

บทเรียนจากกรณี อบจ.ปทุมธานีจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อการเมืองท้องถิ่น ซึ่งแบบวิธีคิด วิธีการทำงาน การหาเสียง การจัดตั้งเครือข่ายและสร้างผลงานในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเรียนรู้ หัวใจสำคัญจึงยังคงอยู่ที่ระบบการคัดสรรคนของพรรคเพื่อไทยอีกนั่นเอง

แต่ยังมีเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทำ ให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ปทุมธานี และเป็นเหตุผลที่ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ปฏิเสธเสียงแข็งและไม่ยอมพูดถึง นั่นคือ นโยบายปรองดองของพรรคเพื่อไทยและท่าทีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมุ่งประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมโดยไม่คำนึงถึงหลักการความยุติธรรม  เป็นการ “หย่าศึก” “ลืมอดีตทุกอย่าง” “ยกโทษให้ทุกฝ่ายทุกคน” บนกองเลือดและความเจ็บช้ำของมวลชนคนเสื้อแดง

คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เสียมเรียบ ที่บอกให้ แม่น้องเกด (นางพะเยาว์ อัคฮาค มารดานางสาวกมลเกด อัคฮาค พยาบาลอาสาที่ถูกทหารพลแม่นปืนฆ่าอย่างโหดเหี้ยมขณะปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุม วนาราม) และญาติผู้เสียชีวิตควร “เสียสละ” “เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” นั้น เป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจคนเสื้อแดงอย่างสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับญาติพี่น้องของคนที่ตาย บาดเจ็บ พิการ และติดคุกถึงทุกวันนี้ เป็นนัยว่า เขาเหล่านี้ไม่รู้จัก “เสียสละ” ที่ไม่เห็นด้วยกับ “การปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยอย่าได้คิดว่า “ให้เงินเยียวยาไปคนละหลายแสนหรือหลายล้าน แล้วจบกัน” จะต้องเข้าใจว่า การที่คนเหล่านี้ก้าวออกมาต่อสู้ ฝ่ากระสุน ระเบิด และความตาย เสียชีวิตและอวัยวะ สูญทรัพย์สิน เงินทอง อาชีพการงาน ต่อเนื่องมาหลายปีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน แต่จุดหมายหลักคือ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นผลพลอยได้ เขาเหล่านี้แหละที่ “เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงมาตลอดหลายปี” สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องในวันนี้ไม่ใช่การล้างแค้น พวกเขาต้องการแค่ “ความยุติธรรม” เท่านั้น และก็ไม่มีใครหน้าไหนมีสิทธิ์มาบอกให้พวกเขา “เสียสละ” เพิ่มขึ้นอีก ยิ่งไม่มีสิทธิ์มาบอกพวกเขาว่า “ให้นึกถึงส่วนรวม”

การปฏิเสธความจริงข้อนี้คือ “การทรยศ” ต่อการเสียสละอันใหญ่หลวงของพวกเขา ถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยและแกนนำยังไม่เข้าใจอยู่อีกหรือ?

เรื่อง “การปรองดอง” ที่ไร้หลักการและไม่ยุติธรรมนี้แหละคือความคับแค้นใจอย่างแท้จริงในหัวใจของ คนเสื้อแดงทั่วประเทศ พวกเขารู้สึกว่า “ถูกหักหลัง” นี่จะเป็นเครื่องชี้ชะตากรรมหนึ่งเดียวของพรรคเพื่อไทยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า จะยังคงได้รับการอุ้มชูและคุ้มครองจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่

หากปราศจากมวลชนคนเสื้อแดงแล้ว อย่าว่าแต่จะชนะเลือกตั้งเลย แม้แต่ตัวพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ก็ไม่อาจอยู่รอดได้แม้แต่วันเดียวในกรงเล็บของเผด็จการจารีตนิยม!

(ที่มา)
http://www.prachatai3.info/journal/2012/04/40249

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น