โดย ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักกฎหมายว่า “นักโทษการเมือง” คือใคร และหากว่ากันตามหลักกฎหมายประเทศไทยมีนักโทษการเมืองหรือไม่ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวในเชิงหลักการว่า “ความผิดทางการเมืองไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใด นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดทางการเมืองเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางกฎหมาย” แต่กระนั้นก็เห็นว่าในทางปฏิบัติมีการใช้คำว่านักโทษการเมืองกันอย่างแพร่ หลายและมีบุคคลที่ถูกเรียกว่านักโทษการเมืองอยู่จริง
ในทำนองเดียวกัน อาจารย์คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. กล่าวว่า “ในประเทศไทยไม่มีนักโทษการเมือง มีแต่ผู้กระทำผิดอันสืบเนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมือง” พูดอีกอย่างหนึ่ง นักกฎหมายที่สังกัดสถาบันเหล่านี้เห็นว่าโดยหลักกฎหมายไม่มีนักโทษการเมือง แต่ในทางปฏิบัติมีนักโทษที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาทางการเมือง
อย่างไรก็ดี นักกฎหมายจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค ปฏิเสธการดำรงอยู่ของนักโทษการเมืองอย่างสิ้นเชิง เขากล่าวว่า “นักโทษการเมืองหรือนักโทษคดีการเมืองหมายถึงผู้ที่ถูกฝ่ายที่มีอำนาจบริหาร จับตัวหรือควบคุมตัวไว้เนื่องจากการปฏิวัติรัฐประหาร หรือเพราะความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยผู้นั้นมิได้กระทำความผิดในทางอาญาใดๆ นักโทษหรือบุคคลประเภทนี้กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะควบคุมตัว และผู้ต้องหาหรือนักโทษทุกคนในเรือนจำล้วนมีคำพิพากษาให้จำคุกหรือคุมขัง หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม สรุปคือปัจจุบันเราไม่มีนักโทษการเมือง”
ทว่าในอีกด้าน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์อย่างอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล เสนอว่าประเทศไทยมีนักโทษทางการเมืองจำนวนมากมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขากล่าวว่า “นักโทษการเมืองหมายถึงการกระทำบางอย่างซึ่งถูกกำหนดวามผิด โดยมีเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องที่มีเหตุผลทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น การเคลื่อนไหว การรณรงค์ การแสดงความคิดทางการเมือง สังคมไทยจึงมีนักโทษการเมืองเยอะมาก”
ในทำนองเดียวกัน สราวุฒิ ปทุมราช นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “การจับคนที่วันที่ 19 หลังการสลายการชุมนุมไม่ควรถูกจับ เพราะเขาเป็นนักโทษการเมือง การมาร่วมชุมนุมไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เป็นความผิดทางการเมือง ต้องถือว่า นปช. ทุกคนเป็นนักโทษการเมือง เพราะจุดมุ่งหมายคือการเรียกร้องประชาธิปไตย” เหล่านี้เป็นต้น
(อ่านต่อ)
http://www.prachatai.com/journal/2012/04/39919
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น