"คนดี" ตามนิยามของพลเอกเปรมอ้างอิงคุณค่าทางศีลธรรมอะไร
โดยสุรพศ ทวีศักดิ์
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เริ่มออกเดินสายพูดเรื่อง "คนดี" และ "คุณธรรมจริยธรรม" อีกครั้ง เช่นที่กล่าวทิ้งท้ายในการบรรยายพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาว่า
"ผมเชื่อว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิยึดถือเป็นของตนเองได้ ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นั่นคือความเชื่อของผม ส่วนบุคคลอื่นจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับจริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน" (ดูมติชนออนไลน์)
นอกจากคำพูดซ้ำๆ แบบข้างบนนี้ ยังมีคำอื่นๆ ที่เราคุ้นหู เช่น "เราเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน" "คนดีต้องมีคุณธรรมจริยธรรม" "ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และจงรักภักดี" "ไม่เห่อฝรั่งจนลืมความเป็นไทย" ซึ่งน่าสนใจว่าความหมาย ของ "คนดี" และ "ความดี" ตามทัศนะของพลเอกเปรมอิงอยู่กับคุณค่าทางศีลธรรมแบบไหน
ในทางจริยศาสตร์ (ethics) หรือปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) นั้น ความหมาย หรือ "มโนทัศน์" (concept) เกี่ยวกับ "คนดี" และ "ความดี" ย่อมอ้างอิงอยู่กับ "คุณค่าทางศีลธรรม" (moral value) บางอย่างที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือพึงปรารถนา
เช่น ตามแนวคิดจริยศาสตร์ประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ถือว่า อรรถประโยชน์ที่เป็นความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด หรือประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด ฉะนั้น "ประโยชน์สุขส่วนรวม" จึงเป็นหลักอ้างอิงคุณค่าทางศีลธรรม การทำความดีจึงหมายถึงการกระทำที่ส่งเสริมประโยชน์สุขของส่วนรวม "คนดี" จึงได้แก่คนที่ยึดถือและกระทำตามหลักการส่งเสริมประโยชน์สุขของส่วนรวม
ขณะที่แนวคิดสัมบูรณนิยม (Absolutism) แบบค้านท์ (Imanuel Kant) ถือว่า "ศักดิ์ศรีของมนุษย์" คือหลักอ้างอิงคุณค่าทางศีลธรรม การกระทำความดีจึงหมายถึงการกระทำตามหลักการสากลที่ที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติ ร่วมกันได้ และเป็นหลักการที่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ "คนดี" จึงได้แก่คนที่กระทำตามหลักการสากลที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเท่า เทียมในความเป็นคนในความหมายว่า "ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม" จึงต้องปฏิบัติต่อกันและกันในฐานะที่เราต่างมีจุดหมายในตนเอง ไม่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็น "เครื่องมือ" เพื่อการใดๆ
"ศักดิ์ศรีของมนุษย์" ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน คือ "เหตุผลและเสรีภาพ" การทำความดีก็คือการใช้เหตุผลและเสรีภาพเลือกกฎศีลธรรมที่สามารถใช้อย่าง สากลกับทุกคนได้ หมายความว่า การกระทำที่จะถือได้ว่าเป็น "ความดี" ประเภทใดๆ ก็ตาม ต้องทำให้เป็น "กฎสากล" (universalize) ที่ใช้กับทุกคนได้ เช่น การพูดความจริง การปกป้องสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการนับถือศาสนา การวิจารณ์บุคคลสาธารณะ ฯลฯ หากหลักการเหล่านี้ดีมันย่อมดีอย่างสากลแก่ทุกคน และเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างปราศจากเงื่อนไข
เช่น ถ้าเรายึดถือว่า "การใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการกระทำที่สะท้อนออกมาจาก และ/หรือเป็นการกระทำที่เคารพต่อความมีเหตุผลและเสรีภาพซึ่งเป็นคุณค่าสากล ของมนุษย์ หรือเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์" เราต้องทำให้ "เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเป็นกฎสากล" ที่ใช้กับทุกคนอย่างปราศจากเงื่อนไข
ถ้าอ้างเงื่อนไขใดๆ เพื่อยอมให้มีบุคคลบางคน บางสถานะอยู่เหนือการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบก็เท่ากับเป็นการ ละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ (ละเมิดการใช้เหตุผลและเสรีภาพ) ซึ่งการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ย่อมเท่ากับการทำให้มนุษย์กลายเป็น "เครื่องมือ" รองรับสถานะบางอย่างที่มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือคนทั้งปวง
พูดให้ชัด คือใครก็ตามที่ยอมรับให้มีบุคคลบางคน บางสถานะอยู่เหนือการใช้เสรีภาพและเหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ เขาก็คือคนที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ หรือไม่เคารพ "เหตุผลและเสรีภาพ" ของตนเอง = ยินยอมให้ตนเป็น "เครื่องมือ" ค้ำยันสถานะพิเศษนั้นให้อยู่เหนือความเป็นคนของตนเอง
ส่วนการที่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ยอมให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบฝ่ายตน เอง ก็คือการใช้เพื่อนมนุษย์เป็น "เครื่องมือ" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของฝ่ายตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็น "ความดี" ในทัศนะของค้านท์
(อ่านต่อ)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333798165&grpid=&catid=02&subcatid=0207
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น